xs
xsm
sm
md
lg

“สุเมศ บินระหีม” เจ้าทฤษฎีทำนาขวางสนามกอล์ฟบนเกาะงามกลางทะเลอันดามันที่กระบี่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สุเมศ บินระหีม
 
โดย...ถนอม ขุนเพ็ชร์
 
ก่อนเครื่องลงจอดสนามบินกระบี่ ระยะทางภาคพื้นดินราว 15 กิโลเมตร หากใครเคยนั่งมองจากเครื่องบินลงมาบริเวณริมฝั่งทะเลอันดามัน บริเวณบ้านคลองหมาก หมู่ที่ 3 ตำบลคลองขนาน อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ ก็จะเห็นภาพมุมสูงของเกาะสวยงามขนาด 1,500 ไร่แห่งหนึ่ง
 
“เรียกว่าเกาะท่าไร่ นานมาแล้วชาวบ้านใช้ทำนา แต่ลำบากเพราะต้องนั่งเรือ หรือรอน้ำแห้งเพื่อลุยโคลนข้ามไป ตอนเหยียบโคลนหอยจะแทงเท้า ต่อมาคนก็เลยไม่อยากมาทำนาที่นี่”
 
สุเมศ บินระหีม แกนนำโครงการปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองตามแนวชีววิถี บ้านคลองหมาก หมู่ 3 ตำบลคลองขนาน อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ ภายใต้การสนับสนุนของโครงการร่วมสร้างชุมชนและท้องถิ่นให้น่าอยู่ สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส. เขาบอกเล่าให้เราฟังขณะพาคณะไปถึงสถานที่จริง ซึ่งต้องนั่งแพแบบชักลากด้วยมือข้ามคลอง ใช้พละกำลังปีนขึ้นสะพานไม้แผ่นเดียวที่ทอดผ่านป่าโกงกาง หลายนาทีกว่าจะไปถึง
 
ทุ่งท่าไร่เหลืองอร่ามในฤดูเก็บเกี่ยว ฉากหลังเป็นภูเขาหินปูนสวยงามพอจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นดี ยิ่งเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวหรูระดับโลกของจังหวัดกระบี่ บรรดานายทุนจับจ้องมองตาเป็นมันหมายกว้านซื้อเพื่อทำสนามกอล์ฟ
 
ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้คนที่รักถิ่นฐานบ้านเกิดไม่อาจอยู่เฉย สุเมศ เป็นตัวตั้งตัวตีในเรื่องนี้ เขาเป็นเขยบ้านคลองหมาก หมู่บ้านอยู่อีกฝั่งคลองของเกาะท่าไร่ กล่าวได้ว่า คนบ้านคลองหมากเป็นเจ้าของที่ดิน น.ส.3 บนเกาะนั่นเอง เพียงครึ่งศตวรรษที่แล้วพวกเขาซึ่งเป็นชุมชนมุสลิมได้อพยพขึ้นมาทำสวนอยู่บนฝั่ง ละทิ้งวิถีการทำนาบนเกาะ
 
“ชาวบ้านละทิ้งนา เพราะทำแล้วไม่คุ้ม เริ่มจะมีการออกไปหางานทำกันข้างนอก ไม่มีเวลาให้ครอบครัว เกิดช่องว่างระหว่างคนในครอบครัว” สุเมศ เล่าถึงปัญหาตามมาที่พบมากในชุมชนด้วยว่าคือ ปัญหายาเสพติด การท้องก่อนวัย การไม่เข้าเรียนหนังสือ
 
“เราก็มาคิดกับแกนนำ 7 คน ทำการเกษตรปลอดสารพิษ ทำปุ๋ยหมักชีวภาพใช้เอง พบว่ายังไม่ประหยัดเท่าที่ควร เลยมาคิดต่อว่า อย่างนั้นกลับมาทำนากันดีกว่า จึงนึกถึงที่นาที่เกาะท่าไร่”
 
การบุกเบิกที่นาดั้งเดิมของชุมชนกลับมาอีกครั้งตั้งแต่ปี 2549 ได้ที่นากลับมาราว 50 กว่าไร่ ปัญหาการเข้ามาทำนาบนเกาะ ซึ่งยากลำบากแสนสาหัสในการขนเครื่องมือ อุปกรณ์ทำนา กระทั่งนำผลผลิตกลับไป จึงเอางบ สสส.มาให้ชาวบ้านช่วยกันลงแรงทำสะพานไม้แบบง่ายๆ แบบไม่กระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมไปกับการการสำรวจธรรมชาติ ต้นไม้ สัตว์ป่า ปลูกป่าทดแทนที่เสียหาย ปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์
 

 
ในปี 2556 เมื่อชาวบ้านรู้สึกร่วมทำ ร่วมช่วยกันดูแล ก็มีความผูกพัน ทำให้มีสมาชิกทำนา 36 ครัวเรือนได้พื้นที่นา 200 ไร่ เน้นการทำนาอินทรีย์ ใช้พันธุ์ข้าวพื้นเมือง เช่น สังข์หยด ลูมูส หอมไชยา เม็ดแตง และกำลังทำงานร่วมกับศูนย์วิจัยข้าวเพื่อให้ได้พันธุ์ข้าวกระบี่ เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่น
 
ว่ากันว่าที่นี่เป็นทุ่งนาผืนสุดท้ายของจังหวัดกระบี่ ที่มีเอกลักษณ์ ทุ่งนาที่ไม่มีสิ่งก่อสร้าง ไม่มีบ้านคนอยู่ในบริเวณที่นา และสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ไม่เหมือนที่ใดของที่นาบนเกาะ
 
ตอนลงมาทำนามีท่าเรือยอชต์เข้ามาตั้งใกล้เกาะ มีกระแสข่าวจากนายทุนว่า เกาะท่าไร่เหมาะสำหรับการตั้งสนามกอล์ฟ ทำรีสอร์ตเชิงเกษตร ก็เลยมีนายทุนพยายามจะกว้านซื้อทุ่งนาสภาพภูมิประเทศสวยงามนี้ ทุ่งนาที่ไม่มีบ้านคน สงบเงียบ เกาะที่มีสภาพของการที่สามารถรักษาความปลอดภัยง่าย มีท่าเรือยอชต์ และอยู่ไม่ไกลจากแหล่งท่องเที่ยวในทะเลอันดามัน ชนิดนั่งเรือเร็วไม่นานก็ถึงแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งอื่น ทำให้นายทุนชอบใจทำเลตรงนี้
 
สุเมศ พยายามบอกแก่ชาวบ้านว่า ถ้านายทุนขึ้นมาบนเกาะนี้ได้ ชาวบ้านก็หมดสิทธิที่จะเข้าไปในเกาะอีกต่อไป เพราะอาจกลายเป็นเกาะส่วนตัว ยิ่งที่นาของหมู่บ้านก็ไม่มีอีกแล้ว ที่บนฝั่งถูกทำเป็นสวนยาง สวนปาล์ม หากวันข้างหน้าข้าวแพงจะทำนากันที่ไหน กินข้าวที่ไหน ข้าวจะมีราคาเหมือนทองคำขาว 
 
“ชาวบ้านเถียงว่าไม่รู้ข้าวจะแพงเมื่อไร” เขาเล่าและว่า การที่เกาะท่าไร่เป็นนาร้างมายาวนาน โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร ชาวบ้านจึงคิดจะขายลูกเดียว
 
“พูดให้ตายเขาก็ไม่ฟัง เพราะพวกกว้านซื้อที่ดินมีวิธีการแยบยล จนซื้อไปได้ช่วงหนึ่ง โดยเริ่มมีการลงมากว้านซื้อเก็บเอกสารกันแล้ว”
 
สุเมศ มีที่ดินมรดกจากพ่อตาอยู่กลางเกาะ 20 ไร่ เมื่อเห็นว่าไม่สามารถจะต้านกระแสที่ชาวบ้านจะขายที่ให้นายทุนได้ เขาเลยวิ่งหาเงินมาก้อนหนึ่งเพื่อซื้อที่นาเพิ่ม เพื่อต้องการขวางแนวทางการก่อสร้างสนามกอล์ฟ โดยที่ดินเขาเป็นพื้นที่ยาวจากชายป่าด้านหนึ่งไปจดแนวภูเขาด้านหลัง เพื่อจะให้ผืนดินที่เขาซื้อมาแบ่งเกาะออกเป็น 2 ส่วน
 
“ผมมองว่าถ้านายทุนมาซื้อไปได้หมดจริง เขาจะซื้อได้เฉพาะ 2 ด้านเท่านั้น แต่ตรงกลางที่เป็นที่ดินผมซื้อเอาไว้ทำนานี่ นายทุนจะไม่สามารถเอาไปทำอะไรได้ เพราะไม่สามารถรวมเป็นแปลงใหญ่ตามที่เขาวางแผนเอาไว้” สุเมศ กล่าวก่อนจะเสริมว่า
 
“คุณจะซื้อที่ทำสนามกอล์ฟก็ได้นะ จะตีกอล์ฟก็ได้ แต่คุณอย่าตีผ่านที่ดินของผมละกัน ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้แล้วนายทุนที่ไหนจะซื้อ นอกจากว่ามาฆ่าผม หรือยอมจ่ายซื้อที่ดินผมในราคาแพงมาก แต่ผมจะไม่มีวันขายที่ดินแปลงนี้แน่ เพราะที่นี่คือตู้เย็นตู้สุดท้ายของคนคลองหมาก
 
เขาคิดว่าหากนายทุนมาซื้อได้ก็ซื้อไป แต่นอกจากที่ของเขาแล้ว ยังมีที่อีกหลายแปลงที่ขวางเกาะอยู่ด้วย และเจ้าของที่คงไม่ยอมขาย เขาอาจจะซื้อของคนอื่นๆ ได้ แต่จะซื้อของเขา และอีกเจ้าหนึ่งไม่ได้แน่ พอซื้อไม่ได้แบบเป็นผืนใหญ่นายทุนก็คงไม่รู้จะซื้อไปทำอะไร เพราะไม่ได้พื้นที่แบบทั้งหมด นายทุนคงไม่ต้องการให้ชาวบ้านเข้าไปวุ่นวายกับธุรกิจเข้า เขาจึงไม่สามารถทำเกาะส่วนตัวได้
 
“คนขี่เรือยอชต์ลำละ 100 ล้านบาท เขาคงไม่อยากต้องมายุ่ง หรือมาวุ่นวายกับชาวบ้านหรอก”
 
การลุกขึ้นมายืนต้านตรงนี้ เขายอมรับว่าถูกข่มขู่คุกคาม จนถือว่าอยู่ในโซนอันตรายช่วงหนึ่ง เพราะนายหน้าไม่พอใจ เขาคิดว่าอะไรจะเกิดต้องเกิด พยายามเข็มแข็งเอาไว้ให้พอ
 

 
สุเมศ ยังมาคิดต่อว่าทำอย่างไรให้ชาวบ้านมีรายได้จากที่นาตรงนี้ โดยไม่ต้องไปทำมาหากินข้างนอก ต้องทำให้ชาวบ้านหากินจากตรงนี้ให้ยาวนานให้ได้ เพราะถ้าไม่อย่างนั้นเขาจะขายธรรมชาติกิน จึงคิดพัฒนาตรงนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เชิงเกษตร ที่ชาวบ้านได้รับผลประโยชน์ด้วย
 
“ถ้าเราดึงคนให้อยู่กับชุมชน สร้างหมู่บ้านให้เป็นหมู่บ้านการท่องเที่ยวได้ ผมเชื่อว่าชุมชนจะดีกว่านี้มาก เราต้องการจะให้ชุมชนเป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ แต่ไม่ต้องการให้การท่องเที่ยวเข้ามาทำลายสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ เราต้องสามารถสกรีนนักท่องเที่ยวได้ด้วย ชาวบ้านในชุมชนจะต้องได้ประโยชน์ด้วยเช่นกัน”
 
ขณะนี้จึงเริ่มมีการทำนา ไปพร้อมๆ กับการต่อยอดด้านการท่องเที่ยว โดยให้นักท่องเที่ยวที่สนใจมาดูการทำนา มาใช้ชีวิตร่วมกับชาวนาน เรียนรู้วิถีชีวิต มานั่งกินข้าวที่ปลูก มาเปิบข้าวกับชาวนาที่ในนาเลย ขณะที่ทุกวันนี้ชาวบ้านเกาะหมากได้เอาเกาะท่าไร่เป็นพื้นที่ความสุขคืนมา มีธรรมชาติ ปลา นก อาหารปลอดสารพิษ บนแนวคิดที่ว่า...
 
“ตกเบ็ด ชักว่าว เกี่ยวข้าวท่าไร่”
 
หากสามารถสร้างการท่องเที่ยวในชุมชนขึ้นมาได้ เราก็จะดึงพวกวัยรุ่นกลับมาอยู่กับหมู่บ้าน เน้นสร้างชุมชนการท่องเที่ยวแห่งใหม่ อันไม่ต้องการให้เกิดที่พัก โรงแรม หรือรีสอร์ตต่างๆ
 
“ถ้านักท่องเที่ยวมากางเต็นท์นอนกลางทุ่งนา นี่พอที่จะเป็นไปได้ เราไม่ต้องการให้มีสิ่งปลูกสร้างอันแปลกปลอมขึ้นบนเกาะ”
 
สุเมศ เล่าว่า แม้จะเป็นเพียงเขยแห่งบ้านคลองหมาก แต่เวลานี้นับว่าเขาได้ถูกยอมรับจากพี่น้องชาวบ้านแล้ว ก่อนนี้เขาเป็นประธานสหกรณ์ออมทรัพย์อิสลามปันตียะของชุมชน จนกระทั่งมาทำโครงการทำนา เขาจึงขอลดบทบาทมาเป็นรองประธาน เพื่อหันมาส่งเสริมการทำนา โดยรับเป็นประธานกลุ่มคลองขนานวิถีไท
 
นอกจากนี้แล้ว เขายังมีบทบาทที่กว้างขึ้นอีกด้วย โดยเป็นประธานเครือข่ายคนทำนาจังหวัดกระบี่ และเป็นเครือข่ายคนทำนาจังหวัดภาคใต้ตอนบนด้วย พร้อมกับเป็นวิทยากรทางด้านการเพาะข้าว การโยนข้าวในที่หลายแห่งทั่วภาคใต้ 
 
อย่างไรก็ตาม เวลานี้เขากำลังทำโรงเรียนชาวนา โดยต้องสอนเด็กนักเรียนที่อยู่รอบชุมชนประมาณ 6 ชุมชนให้เพาะข้าว ทำนาโยนให้เป็น อีกทั้งยังต้องเดินสายสอนกลุ่มปลูกข้าวต่างๆ ในภาคใต้ตอนบนด้วยเช่นกัน
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น