xs
xsm
sm
md
lg

ความตายของ “ปัญญาชนไทย” / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากอินเทอร์เน็ต
 
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
 
 
เมื่อพูดถึงปัญญาชนคนในสังคมไทย มักหมายถึงคนที่ผ่านระบบการศึกษาในระดับอุดมศึกษา หรือมหาวิทยาลัย หรือหมายถึงบัณฑิต และคณาจารย์ผู้ผลิตบัณฑิตเป็นสำคัญ ตรงกับความหมายของปัญญาชน หรือบัณฑิตในพจนานุกรมไทย และเทศว่า  “ปัญญาชน  หมายถึง  คนที่มีความรู้ หรือความฉลาดอันเกิดแต่การเรียนมามาก  หรือ  นักปราชญ์  หรือบัณฑิต”  ในความหมายโดยรวม   หมายถึง  คนที่มีสติปัญญา  มีความคิด และการใช้เหตุผล  มีความรอบรู้ หรือเป็นผู้รอบรู้
 
เมื่อประมาณ  3  ทศวรรษกว่ามาแล้ว  ในวันที่ข้าพเจ้าเป็นนิสิตนักศึกษาอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยบ้านนอกแถบเชิงเขารูปช้าง  จังหวัดสงขลา  แม้ครูบาอาจารย์ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยสนับสนุนให้พวกเราทำกิจกรรมทางสังคมมากไปกว่าการจัดงานบอลล์  งานแข่งขันกีฬาคณะ  กีฬาวิชาเอก  แต่พวกเราส่วนหนึ่งก็ดิ้นรนจัดงานหาทุนเพื่อไปออกค่ายอาสาพัฒนา สร้างอาคารเรียนให้แก่โรงเรียนในชนบทในช่วงปิดเทอมปลาย
 
กลุ่มกิจกรรม หรือชมรมที่มีบทบาทสำคัญในการทำกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาชนบท คือ  ชมรมอาสาพัฒนาชนบท  และชมรมบำเพ็ญประโยชน์ของกิจกรรมนิสิต  ทั้ง  2  ชมรมนี้เป็นที่ “สุมหัว” ของนักกิจกรรมนิสิตทุกคนตั้งแต่หัวหน้ากลุ่มพรรคนิสิต  นายกองค์การนิสิต  ประธานสภา  และสมาชิกสภานิสิตและกรรมการองค์การนิสิต
 
ในมหาวิทยาลัย และในค่ายอาสาพัฒนาชนบท  กิจกรรมหลักของสมาชิกค่ายอาสาพัฒนาคือ  การพัฒนาความคิด  ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในฐานะนักกิจกรรมที่จะเป็นผู้นำในการพัฒนาสังคม  โดยการใช้ชีวิตรวมหมู่ตามแนวปฏิบัติของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย  ใช้แนวคิดจากบทเพลงเพื่อชีวิตของวงดนตรีเพื่อชีวิตต่างๆ ที่มีบทบาททางความคิดอยู่ในช่วงนั้น  ได้แก่  วงฟ้าสาง  วงเคียวเกี่ยวดาว  วงคา
ราวาน  วงเปลวเทียน  วงคุรุชน  วงกรรมาชน  ฯลฯ
 
นอกจากนั้น พวกเรายังอ่านวรรณกรรมเพื่อชีวิตทั้งของนักเขียนไทย  และวรรณกรรมแปลของนักเขียนต่างประเทศ  เช่น  งานของจิตร  ภูมิศักดิ์  ศรีบูรพา  กลุ่มพระจันทร์เสี้ยว  คมสัน  พงษ์สุธรรม  บรรจง  บรรเจอดศิลป์  เสนีย์  เสาวพงศ์  แมกซิม  กอร์กี  มุลราช  อานันท์  ฯลฯ
 
งานที่พวกเราไม่ค่อยถนัดคือ  งานเลี้ยงเต้นรำ  ที่เรียกว่างานบอลล์ของหนุ่มสาวสมัยใหม่ในยุคนั้น  เรามีความรู้สึกขยะแขยงกิจกรรมของกลุ่ม  ชมรมที่มีกิจกรรมทำนองนั้น  ด้วยความรู้สึก และเห็นว่ามันเป็นการกระทำที่ไม่สมภาคภูมิของความเป็นนิสิตนักศึกษา  หรือปัญญาชนว่าที่บัณฑิตในมหาวิทยาลัย  แต่อาจารย์ส่วนใหญ่กลับสนับสนุนกิจกรรมเหล่านั้นมากกว่ากิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาของพวกเรา
 
บางครั้งอดีตรองอธิการบดีในสมัยนั้นแกล้งอนุมัติให้รถบัสมหาวิทยาลัยที่มีอยู่เพียง  2  คัน  พานิสิตกลุ่มนั้นไปเที่ยวต่างจังหวัด  ในช่วงที่พวกเราขออนุมัติให้รถบัสไปส่งชาวค่ายอาสาที่ต่างอำเภอ  จนต้องเช่าเหมารถโพธิ์ทองไปส่งชาวค่าย  หลังจากอดีตนายกองค์การนิสิต (ประมวล  มณีโรจน์)  และอดีตอุปนายกภายนอกองค์การนิสิต (จรูญ  หยูทอง) ขึ้นไปถกเถียงกับอดีตรองอธิการบดีถึงในห้องทำงาน
 
ปัจจุบัน  อดีตนักกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยสมัยนั้น  ต่างมีบทบาทสำคัญในสังคมเกือบทุกวงการ  และในยามที่บ้านเมืองมีปัญหา  อดีตนักกิจกรรมเหล่านั้นก็ออกมามีบทบาทสำคัญเกือบทุกครั้ง  ขณะที่เราไม่ค่อยเห็นคนที่ได้เกียรตินิยมทุกอันดับ และดาวเต้นในงานสังสรรค์ของมหาวิทยาลัยออกมามีบทบาททางสังคมแม้แต่คนเดียว
 
หลังจากพวกเราจบจากมหาวิทยาลัยมา  พร้อมกับองค์การนักศึกษาและขบวนการนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ เริ่มเงียบหายไปก่อนเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม  2535  จนถึงปัจจุบัน  กิจกรรมในมหาวิทยาลัย หรือสถาบันอุดมศึกษาที่เกี่ยวกับค่ายอาสาพัฒนาชนบท  และกิจกรรมการอ่านการเขียนการฟังเพลงเพื่อชีวิต  เพื่อกล่อมเกลาชีวิต และจิตวิญญาณให้มีจิตสำนึกสาธารณะก็เริ่มหมดไป  นานๆ จะได้เห็นการเคลื่อนไหวทางสังคมของนิสิตนักศึกษา  และมักจะตามมาด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่านักศึกษากลุ่มนั้นกลุ่มนี้ “ขายตัว” เคลื่อนไหวตามใบสั่งของอาจารย์ และกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง  และกลายเป็น “ตัวตลก” ของสังคมไม่เหมือน “หัวหอกและสะพานเชื่อม” ในสมัยที่ คุณสมศักดิ์  เจียมธีรสกุล  เป็นแกนนำคนสำคัญในยุคโน้น
 
ปัจจุบัน  ปัญญาชน หรือชนชั้นกลางเริ่มถูกสบประมาทว่า “ไม่มีน้ำยา” ไม่มีความคิด  ไม่มีจิตสาธารณะ  ทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ของตนและพวกพ้องเป็นที่ตั้ง  ไม่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อประชาชน  มหาวิทยาลัย หรือสถาบันอุดมศึกษาส่วนใหญ่ไม่มีพื้นที่ให้สำหรับประชาชนผู้เสียเปรียบ  อาจารย์  นักวิชาการในมหาวิทยาลัยส่วนหนึ่งทำตัวเป็นสมุนลิ่วล้อของนักการเมือง และนักธุรกิจการเมืองที่เอารัดเอาเปรียบประชาชน  เรามีปัญญาชนระดับหัวกะทิในทุกสาขาวิชาการ  แต่ไม่มีใครสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจ  สังคม  วัฒนธรรม และการเมืองได้  ปล่อยให้ทุกอย่างเดินไปสู่หุบเหวแห่งความหายนะ  ส่วนใหญ่เอาแต่คอยก่นด่าคนอื่นที่พยายามไม่อยู่เฉยๆ แบบพวกเขา  แม้แต่คนที่ประกาศว่า “รักชาติ” ก็ถูกปัญญาชนก่นด่าเหน็บแนมเย้ยหยัน  ทั้งๆ ที่พวกเขาเหล่านั้นไม่เคยมีความคิด และการกระทำใดๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อ “คนอื่น” แม้แต่น้อย
 
เมื่อเป็นเช่นนี้  ข้าพเจ้าจึงรู้สึกเสียดายที่เรามีมหาวิทยาลัย  หรือสถาบันอุดมศึกษามากมายทั่วแผ่นดิน  และมีปัญญาชนจบการศึกษาปีละนับหมื่นนับแสน  แต่บ้านเมืองกลับนับถอยหลังสู่หายนะ และล่มจมอย่างไม่น่าเชื่อว่าเรามี “ปัญญาชน” มากมายกับเขาเหมือนกัน
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น