สุราษฎร์ธานี - ขนส่งจังหวัดสุราษฎร์ธานี ร่วม บริษัท วิริยะประกันภัย จัดโครงการ อบรมส่งเสริมให้ความรู้แก่ผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถยนต์รับ AEC หวังให้ผู้ขับขี่ได้เรียนรู้เข้าใจในกฎข้อบังคับและกฎหมายจราจร เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนที่นับวันมีอุบัติเหตุเกิดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ ( 23 พ.ค.) ที่โรงแรม เค ปาร์ค อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี นายสมศักดิ์ อัพภาสกิจ นักวิชาการขนส่งชำนาญการพิเศษขนส่งจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายสุกันต์ เดชเจริญ ผช.ผจก.ฝ่ายปฎิบัติการภาค 5 บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด ( มหาชน ) ได้ร่วมกันเปิดโครงการ อบรมเสริมความรู้ให้แก่ผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนภูมิภาค รุ่นที่ 137 จำนวน 120 คน ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-24 พฤษภาคม 2558 เพื่อหวังให้ผู้ขับขี่ได้รับการเรียนรู้เข้าใจในกฎข้อบังคับและกฎหมายจราจร เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ที่นับวันมีอุบัติเหตุเกิดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นายสุกันต์ เดชเจริญ ผู้ช่วย ผจก.ฝ่ายปฎิบัติการภาค 5 บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด ( มหาชน ) กล่าวว่า จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก เมื่อเดือนมีนาคม 2556 ที่ผ่านมา ระบุว่าประเทศไทยมีสถิติอุบัติเหตุคร่าชีวิตคนไทยติดอันดับ 3 ของโลก โดยสถิติอยู่ที่ 38.1 คน/ประชากร 1 แสนคน และกระทรวงสาธารณสุขของไทย คาดว่า ในปี 2558 ที่กำลังเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC น่าจะมีอุบัติเหตุเพิ่มสูงขึ้น และจากการรายงานของสำนักงานของสำนักอำนวยการปลอดภัย กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม พบว่าสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ มากถึงร้อยละ 96.76 คือความบกพร่องของผู้ขับขี่ได้แก่ การไม่เคารพกฎจราจร ขาดจิตสำนึกในการใช้ถนนร่วมกัน ซึ่งการเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้ง ได้สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน อีกทั้งยังสูญเสียด้านจิตใจและสังคม รวมไปถึงการสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจที่หลายๆคนไม่คาดถึงอีกด้วย
บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด ( มหาชน ) ได้จัดกิจกรรมโครงการ อบรมเสริมความรู้ให้แก่ผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถยนต์ ตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมา มีทั้งในส่วนกลางและในส่วนภูมิภาค เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านกฎหมายจราจร มารยาทในการขับขี่อย่างปลอดภัย การดูแลรักษารถยนต์ ตลอดจนสร้างจิตสำนึกในการขับขี่รถที่ถูกต้องตามกฎจราจรเพื่อเป็นการป้องกันและลดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้รถใช้ถนนของผู้ขับรถ
สำหรับปี 2558 ทางบริษัทได้ตั้งเป้าหมายให้กานสนับสนุนโครงการดังกล่าวจำนวน 6 รุ่น คือในพื้นที่ส่วนกลาง ( กทม.) จำนวน 3 รุ่น และในส่วนภูมิภาคจำนวน 3 รุ่น ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดปราจีนบุรี