ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เกษตรกรใน ต.เกาะยอ อ.เมืองสงขลา หันมาเลี้ยงปลาขี้ตัง หรือปลาตะกรับในกระชัง เป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ ควบคู่ไปกับการเลี้ยงปลากะพงขาว เนื่องจากเลี้ยงง่าย ปลอดโรค กินอาหารเม็ด ใช้เวลาเลี้ยง 6 เดือน จับขายได้ราคาดี แต่ขณะนี้ประสบปัญหาขาดแคลนลูกปลา
กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังในทะเลสาบสงขลา รอบ ต.เกาะยอ อ.เมือง จ.สงขลา เริ่มหันมาทดลองเลี้ยงปลาขี้ตัง หรือปลาตะกรับในกระชัง ซึ่งเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจตัวใหม่ที่ตลาดมีความต้องการสูง ควบคู่ไปกับการเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชังเพื่อเพิ่มช่องทางสร้างรายได้
เช่น นายวิเชียร แก้วมณี อายุ 55 ปี หนึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงขาวในกระชัง หมู่ 1 ต.เกาะยอ ได้ทดลองเลี้ยงปลาขี้ตังในกระชังเป็นรุ่นแรก โดยสั่งพันธุ์ปลาขี้ตังมาจากสถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง จ.สงขลา เป็นลูกปลาอายุ 1 เดือน จำนวน 4 พันตัว และเลี้ยงมาประมาณ 3 เดือน และพบว่า ขั้นตอนการเลี้ยงปลาขี้ตังไม่ยุ่งยากเหมือนเลี้ยงปลากะพงขาว โดยเลี้ยงในกระชังเล็กๆ เปิดก้นลอยอยู่ในกระชังใหญ่ ใช้อาหารเม็ดเหมือนกับที่ใช้เลี้ยงปลาดุก และมีอาหารเสริมอยู่ในกระชัง คือ ตะไคร่น้ำที่ขอบกระชัง ปลาขี้ตังกินได้หมด ซึ่งขณะนี้เริ่มเห็นผลปลาขี้ตังเติบโตดี เลี้ยงง่าย ปลอดโรค ใช้เวลาเลี้ยง 6 เดือน ก็สามารถจับขายได้ และราคาดีกิโลกรัมละ 300 บาท เนื่องจากเป็นที่นิยมของผู้บริโภค โดยเฉพาะร้านอาหารต่างๆ ที่ต่างมีเมนูเด็ดแกงส้มปลาขี้ตัง
แต่ขณะนี้เกษตรกรกลุ่มผู้เลี้ยงปลาในพื้นที่เกาะยอเกือบ 30 ราย มีความสนใจที่จะเลี้ยงปลาขี้ตัง แต่ยังติดปัญหาขาดแคลนพันธุ์ปลาขี้ตัง เนื่องจากทางสถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง จ.สงขลา ผลิตลูกปลาให้ไม่ทัน เนื่องจากต้องเพาะพันธุ์ด้วยการผสมเทียมไม่ทัน ทำให้เกษตรกรบางรายต้องหันไปสั่งซื้อปลาจากธรรมชาติมารวบรวมเลี้ยงไว้ในกระชังแทน เนื่องจากปลาขี้ตังเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรใน ต.เกาะยอ นอกเหนือการเลี้ยงปลากะพงขาวที่เป็นอาชีพหลัก