ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดสงขลา ประสบความสำเร็จทดลองเลี้ยงปลากะพงขาวในระบบปิดน้ำหมุนเวียน หวังออกเผยแพร่ให้เกษตรกรนำไปเลี้ยง เนื่องจากสามารถเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน ร่นระยะเวลา และไม่ต้องเสี่ยงเหมือนกับการเลี้ยงในกระชัง
วันนี้ (11 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายยงยุทธ ปรีดาลัมพะบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า หลังจากที่ทางสถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดสงขลา ได้มีการศึกษาวิจัย และพัฒนาการเลี้ยงปลาทะเลระบบน้ำหมุนเวียนที่ระดับความหนาแน่นสูงจนประสบความสำเร็จ จึงได้ทำการทดลองเลี้ยงปลากะพงขาวในบ่อระบบปิดน้ำหมุนเวียนขนาดบ่อ 35 ลูกบาศก์เมตร และเป็นบ่อกลมเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 เมตร จำนวน 8 บ่อ เพื่อนำร่องให้เกษตรกรได้นำไปใช้ในการเลี้ยงปลากะพงขาวในพื้นที่ โดยไม่ต้องเลี้ยงในบ่อดินอีกต่อไป
จากนั้นได้ทำการปล่อยลูกปลากะพงขาวขนาด 6 นิ้ว ลงเลี้ยงบ่อละ 2 พันตัว ใช้เวลาเลี้ยง 6 เดือน ปรากฏว่า ปลาโตขนาด 800 กรัม-1 กิโลกรัม โดยเลี้ยงด้วยอาหารเม็ด อัตราการรอดตายกว่า 90% ซึ่งการเลี้ยงบ่อระบบปิดน้ำหมุนเวียน ทำให้ปลาโตเร็วขึ้นกว่าการเลี้ยงปลาในกระชัง ร่นเวลาการเลี้ยงให้สั้นลง ต้นทุนเรื่องอาหารต่ำลง รวมทั้งอัตราการแลกเนื้อก็ต่ำลงด้วย
นายยงยุทธ ยังกล่าวอีกว่า สำหรับการทดลองของการเลี้ยงปลากะพงขาวในระบบปิดน้ำหมุนเวียน เป็นการเอาน้ำไปฟอก ฟอกเสร็จแล้วจึงนำกลับมาใช้ใหม่ มีการเพิ่ม และควบคุมออกซิเจน ซึ่งจากการทดลองเลี้ยงปลากะพงขาว 6 เดือน ปรากฏว่า ปลากะพงขาวขนาด 1 ขีด โตขึ้นประมาณ 7-8 ขีด ในบ่อขนาด 35 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งปล่อยปลาลงไปเลี้ยงประมาณ 2 พันตัว ปลาที่จับได้ประมาณ 90% รวมน้ำหนักประมาณ 1,300-14,00 กิโลกรัมต่อ 1 บ่อ ซึ่งเทคโนโลยีการเลี้ยงปลากะพงขาวระบบปิดนี้ จะนำไปถ่ายทอดให้เกษตรกรใช้เลี้ยงได้จริงไม่ต้องเสี่ยงเหมือนกับการเลี้ยงในแหล่งน้ำธรรมชาติ