ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สถาบันวิจัยเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง จ.สงขลา เผยผลิตพ่อแม่พันธุ์กุ้งแวนนาไม ปลอดโรคตายด่วน หรือโรค EMS สำเร็จแล้ว 1 รุ่น เตรียมผลิตรุ่น 2 พร้อมแจกจ่ายไปยังศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง และฟาร์มของเกษตรกร เพื่อนำไปเลี้ยงเชิงพาณิชย์
วันนี้ (20 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายยงยุทธ ปรีดาลัมพะบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง จ.สงขลา เปิดเผยว่า สถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง จ.สงขลา ประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์พ่อแม่พันธุ์กุ้งขาวปลอดโรค EMS หรือโรคตายด่วน ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้กุ้งตายภายใน 1 เดือน และส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง และอุตสาหกรรมกุ้งไทย
โดยใช้วิธีการเพาะเลี้ยงระบบปิดด้วยบ่อผ้าใบใช้ระบบน้ำหมุนเวียน ที่มีบ่อบำบัดน้ำหมุนเวียนกลับเข้าไปยังบ่อเลี้ยงเป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งเป็นบ่อระบบเดียวกันกับที่ใช้เลี้ยงปลาทะเลได้ประสบความสำเร็จมาแล้ว โดยจะใช้พ่อแม่พันธ์กุ้งขาวพันธุ์ดีสั่งตรงมาจากต่างประเทศมาทำการเพาะพันธุ์
ในระยะแรกได้เพาะพันธุ์กุ้งขาวแวนนาไมที่มีคุณภาพดี อัตราการเจริญเติบโตดี ไม่มีเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรค EMS ไปแล้ว 1 รุ่น จำนวน 25,000 ตัว และแจกจ่ายไปยังศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งต่างๆ รวมทั้งฟาร์มของเกษตรกรเพื่อนำไปเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ และกำลังผลิตในรุ่นที่ 2 อีกประมาณ 30,000 ตัว คาดว่าอีก 2-3 เดือน ก็จะสามารถแจกจ่ายได้
สำหรับพ่อแม่พันธุ์กุ้งขาวแวนนาไมที่ผลิตได้ สามารถนำไปทดแทนพ่อแม่พันธุ์กุ้งขาวที่มาจากบ่อดิน ซึ่งอาจมีเชื้อไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของเชื้อ EMS เมื่อนำมาเพาะพันธุ์เชื้อก็จะติดมาถึงลูกกุ้ง และเมื่อเกษตรกรนำไปเลี้ยงในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดีจะทำให้กุ้งตายภายใน 1 เดือน และที่ผ่านมา กลายเป็นปัญหาสำคัญในการเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไมของไทย