คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
การก่อวินาศกรรมด้วยระเบิดแสวงเครื่อง ทั้งในรูปแบบคาร์บอมบ์ จักรยานยนต์บอมบ์ และบอมบ์แบบอื่นๆ ห่างหายจากพื้นที่เทศบาลนครยะลา อ.เมือง จ.ยะลา ไปนานแล้วกว่า 1 ปี โดยมีการก่อเหตุด้วยระเบิดป่วนเมืองครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 6 เม.ย.2557 ซึ่งมีทั้งผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และทรัพย์สินของประชาชนได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก
หลังการก่อเหตุครั้งนั้นจึงมีมาตรการต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ทั้งในเรื่องของการกำหนดพื้นที่ “เซฟตี้โซน” การตั้งจุดตรวจ และจุดสกัดเส้นทางเข้า-ออก การฝึกฝนมวลชนให้เป็นหูเป็นตาของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองเพื่อป้องกันเหตุร้าย เป็นต้น
แต่ระเบิดกว่า 30 จุด รวมประมาณ 50 ลูก ตั้งแต่เมื่อช่วงหัวค่ำวันที่ 14 พ.ค. ต่อด้วยรุ่งอรุณของวันที่ 15 พ.ค. และตลอดวันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา แม้ไม่มีผู้เสียชีวิต โดยมีเพียงผู้บาดเจ็บจำนวนหนึ่ง และทรัพย์สินได้รับความเสียหายพอประมาณ
ปฏิบัติการของกลุ่มก่อการร้ายเที่ยวนี้แม้เสียหายไม่มากเหมือนหลายครั้งที่ผ่านๆ มา แต่ย่อมไม่ใช่ประเด็นหลักที่หน่วยงานที่มีหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองควรจะดีใจ หรือมองว่าปฏิบัติการของกลุ่มคนร้ายครั้งนี้เป็นเรื่องเล็กๆ ซึ่งเกิดขึ้นจนเป็นเรื่องปกติและธรรมดาสำหรับบ้านเมืองใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ 11 ปีของการปะทุคุโชนระลอกใหม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นแทบจะทุกวัน จนคนในพื้นที่ชาชิน และรู้สึกเฉยๆ ต่อเสียงระเบิด และเสียงปืนไปแล้ว
สิ่งที่ควรตระหนักเป็นสิ่งแรกคือ ระบบการป้องกันการก่อการร้ายที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นของตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง ล้วนยังไม่ดีพอ ยังมี “ช่องว่าง” ให้คนร้ายปฏิบัติการป่วนเมืองอย่างได้ผล
แม้ว่าจะไม่มีคนตาย มีเพียงภาพไฟไหม้บ้านเรือนให้ปรากฏเหมือนกับปฏิบัติการหลายครั้งในเขตเทศบาลนครยะลา แต่การที่คนร้ายสามารถปฏิบัติการวางระเบิดกว่า 30 จุดได้สำเร็จ นั่นคือ ความสำเร็จของกลุ่มคนร้าย ซึ่งมีเป้าหมายเพียงต้องการก่อการร้าย แต่ไม่ต้องการเอาชีวิตของผู้คน ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเป็นปฏิบัติการเป็นพื้นที่ที่มีชาว “มุสลิม” อาศัยอยู่หนาตา
หรือเพราะระเบิดแสวงเครื่องที่คนร้ายใช้ในครั้งนี้มีอานุภาพไม่รุนแรง และไม่มีการใส่สะเก็ดระเบิดเอาไว้ สิ่งที่คนร้ายต้องการจึงเพียงบอกให้เจ้าหน้าที่ได้รับรู้ว่า “แนวร่วม” ของขบวนการก่อการร้ายยังมีขีดความสามารถในการก่อการร้ายได้ในทุกพื้นที่ หากพวกเขาต้องการที่จะกระทำ และอีกนัยหนึ่งคือ บอกให้ประชาชนได้รับรู้ว่า เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถที่จะป้องกันชีวิต และทรัพย์สินของเขาให้อยู่อย่างปลอดภัยได้นั่นเอง
ระเบิดแสวงเครื่องในเขตเทศบาลนครยะลาครั้งนี้คือ การทำ “สงครามจิตวิทยา” โดยทางหนึ่งเป็นการเยาะเย้ยมาตรการป้องกันเมือง ซึ่งมีการสั่งการไว้ว่า 7 หัวเมืองเศรษฐกิจในชายแดนใต้จะต้องปลอดภัยจากการก่อการร้าย ทางหนึ่งเป็นการสร้างขวัญ และกำลังใจให้แก่คนในขบวนการก่อการร้าย ซึ่งมีการสูญเสียจากการปฏิบัติการของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า
ระเบิดป่วนเมืองยะลาครั้งนี้ถ้าให้ตั้งข้อสังเกตก็จะพบว่า “ยุทธวิธี” ของกลุ่มคนร้ายที่ปฏิบัติการทางทหารเปลี่ยนไป ซึ่งอาจจะเป็นการปรับเปลี่ยนจากก่อเหตุด้วยคาร์บอมบ์ และ จยย.บอมบ์ในเขตเมืองที่ทำได้ยากขึ้น เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐมีการบล็อกเส้นทางเข้า-ออก มีการตรวจตรายานพาหนะเข้มงวด คนร้ายจึงหันไปใช้วิธีการ “ระเบิดเร่งด่วน” แบบมาเร็ว เคลมเร็ว ด้วยการประกอบระเบิดขนาดเล็กอย่าง “ไปป์บอมบ์” ที่ประกอบเสร็จก็นำไปวางได้ และตั้งเวลาให้ระเบิดได้ในทันที โดยไม่ได้มีเป้าหมายว่าจะต้องเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือเป็นใคร
สำหรับการใช้ยุทธวิธีดังกล่าวจะทำให้เจ้าหน้าที่ป้องกันได้ยากขึ้น เพราะการประกอบระเบิดขนาดเล็กประกอบง่าย และซุกซ่อนง่าย สามารถที่จะประกอบได้ในตัวเมือง และเมื่อประกอบเสร็จก็นำมาวางได้ในทันที รวมทั้งหากมีการนำระเบิดที่ประกอบจากนอกเมืองเข้ามาก็สามารถนำผ่านจุดตรวจได้อย่างไม่ยากนัก
เนื่องจากจุดตรวจไม่ว่าจะเป็นของตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง หรือแม้กระทั่งจุดตรวจผสม โดยทั้งหมดเน้นในการตรวจรถยนต์ และรถจักรยายนต์เป็นหลัก แต่ไม่ได้ตรวจตัวบุคคล ซึ่งหากมีการซุกซ่อนระเบิดแสวงเครื่องขนาดเล็กอยู่ในร่างกายก็สามารถที่จะผ่านด่านตรวจเข้าไปเพื่อก่อการร้ายในเขตเมืองได้
ระเบิดป่วนเมืองยะลาครั้งนี้อาจจะเป็นไปได้ที่กลุ่มผู้ลงมือปฏิบัติการจะมีการประสานงานกันระหว่าง “แนวร่วมรอบนอก” กับ “แนวร่วมรอบใน” ที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาลนครยะลา แล้วแบ่งพื้นที่กันปฏิบัติงาน เพราะสังเกตได้จากที่มีการวางระเบิดจุดต่างๆ ในตัวเมืองแล้ว ยังมีการวางระเบิดในจุดยุทธศาสตร์นอกตัวเมืองด้วย อันเป็นยุทธวิธีที่ผสมผสานกันอย่างลงตัวแบบที่มีการวางแผนไว้เป็นอย่างดี
โดยเชื่อว่า เป็นการปฏิบัติการของ “แนวร่วมรุ่นใหม่” กับ “แนวร่วมรุ่นเก่า” ที่ประสานงานอย่างกลมกลืน เพราะก่อนหน้านี้มีการสังเกตพบความผิดปกติของการเข้า-ออกของกลุ่มคนแปลกหน้าในเขตเทศบาลนครยะลา โดยเฉพาะในย่านตลาดเก่ามาแล้วประมาณ 2 วัน เพียงแต่เจ้าหน้าที่ไม่เฉลียวใจ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเมืองยะลาห่างหายจากเสียงระเบิดมานานแล้วกว่า 1 ปีนั่นเอง
มีข่าวในเชิงลึกแจ้งว่า ปฏิบัติการครั้งนี้ไม่ใช่ต้องการเพียงแค่เสียงระเบิดในเขตนครยะลาเพียงอย่างเดียว แต่แนวร่วมต้องการที่จะโค่นเสาไฟฟ้าให้ไฟดับทั้งเมือง เพื่อที่จะเข้าโจมตีเป้าหมายที่เป็นฐานปฏิบัติการของทหาร และตำรวจ แต่ทำไม่สำเร็จ เพราะระเบิดแสวงเครื่องขนาดใหญ่ที่วางไว้รอบนอก และที่เสาไฟฟ้าไม่สามารถทำให้ไฟฟ้าดับทั้งเมืองอย่างที่ต้องการ แผน 2 ที่คนร้ายเตรียมไว้จึงปฏิบัติการไม่ได้
การใช้แนวร่วมรุ่นใหม่ประสานการปฏิบัติงานกับแนวร่วมรุ่นเก่า จึงเป็นเรื่องที่ท้าทาย “นโยบายพาคนกลับบ้าน” ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าเป็นอย่างยิ่ง
ความล้มเหลวของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า คือ การที่ “การข่าว” รู้ข่าวความเคลื่อนไหวของแนวร่วมก่อนที่จะเกิดเหตุถึง 2 วัน แต่กลับไม่มีแผนป้องกันที่ชัดเจน ซึ่งถือเป็นความผิดพลาดที่ไม่ควรเกิดขึ้น
เพราะวันนี้มีสิ่งที่ทางการรับทราบแต่เพียงอย่างเดียวคือ ตัวเลขของคนที่กลับบ้าน แต่ตัวเลขคนที่ถูกนำเข้าไปเข้าสู่ขบวนการเกิดขึ้นวันละ เดือนละ หรือปีละเท่าไหร่ ทางการกลับยังไม่สามารถที่จะรับรู้ได้เลย และที่สำคัญแผนการในการสกัดกั้นมิให้คนรุ่นใหม่เข้าสู่ขบวนการยังไม่ประสบความสำเร็จเลยแม้แต่น้อย
จุดอ่อนของการป้องกันเมืองยะลาวันนี้คือ ในย่านตลาดเก่ามีหอพัก และบ้านเช่ากว่า 1,000 แห่ง ซึ่งมีผู้คนจากทุกสารทิศเข้าไปอาศัยอยู่ ในขณะที่การควบคุมดูแลของเจ้าหน้าที่ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ และทำได้เพียงหลังมีเหตุร้ายก็จะมีการตรวจค้นเป้าหมายที่ต้องสงสัย ซึ่งคงจะไม่มีคนร้ายคนไหนที่จะอยู่เพื่อรอให้เจ้าหน้าที่จับกุม
วันนี้ ในพื้นที่รอบนอก พล.ท.ปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ทำได้ผลในเรื่องการป้องกันการเจาะถนนเพื่อฝังระเบิดแสวงเครื่องแบบถังดับเพลิงได้แล้ว ด้วยการจัดชุดลาดตระเวนในเวลาค่ำคืน จนทำให้การเจาะถนน และฝังระเบิดทำได้ยากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าทำไม่ได้
อีกทั้งในด้านของมวลชน พล.ท.ปราการ ชลยุทธ ก็สามารถที่นำมวลชนออกมาร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐในการร่วมกันป้องกันหมู่บ้านของตนเองวันละ 25,000 คน ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนของการต่อสู่ระหว่างกลุ่มผู้ก่อการร้ายกับเจ้าหน้าที่รัฐ
แต่สิ่งที่ต้องไม่ลืมคือ ขบวนการก่อการร้ายในชายแดนใต้ไม่ใช่ “ตะเกียงขาดน้ำมัน” เพราะขบวนการเหล่านี้มีการพัฒนา และมีการปรับเปลี่ยนยุทธวิธีเพื่อเอาชนะเจ้าหน้าที่รัฐตลอดเวลา จะเห็นว่าถ้าเจ้าหน้าที่ประมาท หรือล้าหลังเพียงนิดเดียวก็จะต้องเพลี่ยงพล้ำ และเกิดความสูญเสียในทันที
วันนี้ยุทธวิธีของกลุ่มก่อการร้ายคือ ก่อการน้อยลงเพื่อเลี่ยงการปะทะกับเจ้าหน้าที่ เพื่อป้องกันความสูญเสียฝ่ายเขา แต่ก่อการทุกครั้งจะใหญ่ขึ้น เช่น คาร์บอมบ์ ที่เกาะสมุย และปฏิบัติการป่วนเมืองที่นครยะลา ซึ่งแม้จะมีการสูญเสียน้อย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ “ข่าวใหญ่” ที่ดังไปทั่วโลก จนเหมือนกับการที่เด็กเลวไล่ตบหน้าผู้ใหญ่ แม้จะไม่เจ็บ แต่ก็อับอายอย่างยิ่ง
รวมทั้งการฉวยโอกาสก่อการร้ายในห้วงของการเปิดภาคเรียนใหม่ ยิ่งทำให้เพิ่มความกดดันให้แก่เจ้าหน้าที่ และบุคลากรของสถานศึกษา รวมถึงนักเรียน เพราะไม่มั่นใจในความปลอดภัยที่ “ครู” อาจจะตกเป็นเหยื่อเพื่อที่จะขยายความรุนแรงให้มากยิ่งขึ้น
ปฏิบัติการป่วนเมืองยะลาครั้งนี้ จึงเป็น “บทเรียน” อีกบทหนึ่งของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่จะต้องหาบทสรุปเพื่อ “ถอดบทเรียน” ในการป้องกันอีก 6 หัวเมืองเศรษฐกิจหลักอื่นๆ ให้พ้นจากการก่อการร้ายอย่างที่เกิดขึ้นในเขตนครยะลามาแล้ว
หรือโดยเฉพาะกับ “เมืองหาดใหญ่” ที่ก็ร้างราเสียงระเบิดมานานแล้วพอสมควรเช่นกัน?!