โดย...ศูนย์ข่าวหาดใหญ่
การพบสุสานฝั่งศพชาวโรฮิงญาบนเทือกเขาแก้ว บ้านตะโล๊ะ ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา พื้นที่ติดชายแดนประเทศมาเลเซีย โดยขุดขึ้นมาได้แล้ว 30 ศพ ถือเป็นข่าวที่ช็อกความรู้สึกสังคมอย่างมาก เพราะแม้จะรู้กันมานานว่า แนวชายแดนด้านนี้คือมี “ค่ายกักกัน” ชาวโรฮิงญาไม่ต่ำกว่า 5 แห่ง ก่อนที่จะส่งออกไปยังประเทศที่สาม แต่ในรอบ 10 ปี ที่มีขบวนการค้ามนุษย์เกิดขึ้นอย่างจริงจัง โดยมีชาวโรฮิงญาเป็น “สินค้าส่งออก” ก็ยังไม่เคยพบว่า มีการตายของเหยื่อมากมายถึงขนาดต้องสร้างสุสานบนภูเขาสูงอย่างที่พบเห็น
เช่นเดียวกับที่ข่าวการพบสุสานชาวโรฮิงญากว่า 30 ศพ ย่อมไม่เป็นมงคลต่อทั้งรัฐบาล และ ประเทศชาติ เพราะขณะนี้ไทยกำลังดิ้นรนให้พ้นข้อกล่าวหาการเป็นดินแดนที่มีการ “ค้ามนุษย์” หรือจนถูกสหภาพยุโรปจัดให้อยู่ในบัญชี “เทียร์ 3” ที่ต้องเร่งแก้ปัญหา “แรงงานทาส” ในกิจการประมงให้เสร็จภายใน 6 เดือน เพื่อปกป้องผู้ประกอบให้อยู่รอด และเป็นการปกป้องวงจรธุรกิจการค้าสัตว์น้ำที่เป็นสินค้าส่งออกสำคัญมิให้ซวนทรุด
ดังนั้น ข่าวการตายของโรฮิงญากว่า 30 กว่าศพ จึงถูกเชื่อมโยงให้เห็นถึง “ขบวนการค้ามนุษย์” ที่เกิดขึ้นในไทย จึงเท่ากับเป็นการขมวดปมของการอยู่ในบัญชีเทียร์ 3 ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น?!
จึงไม่ต้องแปลกใจต่อคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ที่สั่งการ ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบล่าตัว “หัวโจก” ขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญามาลงโทษให้ได้ พร้อมประกาศลั่น “คนชั่วต้องไม่มีที่ยืน”
โดยข้อเท็จจริง การส่งออกชาวโรฮิงญาจากรัฐยะไข่ของพม่าเพื่อไปยังประเทศที่ 3 โดยผ่านทางชายแดนไทยเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งไม่ว่าเส้นทางจากรัฐยะไข่ มายังไทยจะทาง จ.ระนอง ในภาคใต้ หรือทาง จ.เชียงราย ในภาคเหนือ แต่จุดสุดท้ายที่เป็นสถานที่หลบซ่อนที่ภาษาฝรั่งเรียกว่า “ค่ายกักกัน” ก่อนส่งข้ามพรมแดนไปยังประเทศที่ 3 มีเพียง 2 แห่งเท่านั้น
แห่งที่ 1 คือ แนวชายแดนไทย-มาเลเซีย ที่ ต.สำนักขาม และ ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา และแห่งที่ 2 คือ แนวชายแดนไทย-มาเลเซีย ที่ ต.ปาเสมัส อ.สุไหงโก-ลก จ. นราธิวาส
การนำชาวโรฮิงญาจากรัฐยะไข่ในพม่าต้องรอนแรมมาทางเรือ ก่อนที่จะขึ้นบกใช้เส้นทางรถยนต์นำไปชายแดน อ.สะเดา ต้องผ่านด่านตรวจของเจ้าหน้าที่กว่า 100 แห่ง ที่ผ่านมา มีทั้งผ่านได้อย่างปลอดภัย และถูกจับกุม และหลายครั้งที่พบว่า โรฮิงญาต้องกลายเป็นศพตายหมู่เพราะขาดอากาศหายใจระหว่างที่ถูกซุกซ่อนไว้ในยานพาหนะ แต่โรฮิงญาทุกคนก็ยอมที่จะเสี่ยงตายเพียงเพื่อต้องการหลุดพ้นจากขุมนรกในบ้านเกิดของตนเอง
โรฮิงญาที่รอดตาย และรอดจากการถูกจับกุมระหว่างทางหลบหนีในไทย เมื่อมาถึง อ.สะเดา กลับต้องถูกขบวนการค้ามนุษย์ที่เป็นการ“ร่วมหุ้น” ระหว่าง “นายทุนชาวพม่า-ไทย-มาเลย์” นำพาไปหลบซ่อน หรือกักบริเวณในเพิงพักโรงเรือนที่ทำขึ้นอย่างหยาบๆ ในสวนยางตามป่าแนวตะเข็บชายแดนไทย-มาเลเซีย เพื่อหลบสายของผู้คน และเจ้าหน้าที่ โดยต้องอาศัยกันอยู่อย่างแออัดยัดเยียด และที่สำคัญคือ ต้องอยู่อย่างอดยากยากแค้น เพราะอาหารการกินที่ไม่พอเพียง และยังต้องผจญต่อโรคภัยไข้เจ็บที่ไม่มีทั้งยา และหมอดูแล
หากใครหลบหนีโทษที่ได้รับคือ “ตาย” สถานเดียว และหลายครั้งที่โรฮิงญาที่ถูกควบคุมตัวในค่ายกักกันต้องใช้เวลานานเป็นเดือนๆ กว่าจะถึงโอกาสในการข้ามพรมแดนไปยังประเทศที่สาม นั่นคือ วันเวลาที่เหมือนกับการ “ตกนรกทั้งเป็น” ในค่ายกักกันแต่ละแห่ง
ขบวนการค้ามนุษย์ที่ อ.สะเดา มีอยู่ด้วยกัน 3-4 กลุ่ม ส่วนมากเป็นกลุ่มที่เป็น “คนพื้นที่” ซึ่งมีอิทธิพลของคนมีสี อิทธิพลท้องถิ่น และท้องที่อยู่เบื้องหลัง โดยมีคนในเครื่องแบบจากหลายหน่วยงานคอยอำนวยความสะดวกให้ หรืออย่างน้อยก็ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นในสิ่งที่เกิดขึ้น หากมีการจับกุมเกิดขึ้น กระบวนการสืบสวนสอบสวนจึงมักสาวไปไม่ถึง “คนตัวใหญ่” ที่เป็นหัวขบวน แต่จะจบลงที่ “คนตัวเล็ก” หรือไม่ก็ “แพะ” เพื่อปิดคดี
ถ้ายังจำกันได้เมื่อปี 2556 เจ้าหน้าที่ชุดปราบปรามภัยแทรกซ้อน “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ได้บุกเข้าทำลายค่ายกักกันชาวโรฮิงญาในสวนยางแห่งหนึ่งของ ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา สามารถควบคุมตัวชาวโรฮิงญาได้กว่า 200 คน และมีการขยายผลจับกุมได้ในที่ต่างๆ ในหลายจังหวัดภาคใต้อีกเกือบ 1,000 คน ซึ่งล้วนเป็นสถานที่ที่นายทุนพาชาวโรฮิงญาไปหลบซ่อนไว้
ซึ่งในครั้งนั้นถือเป็นการกวาดล้างขบวนการค้ามนุษย์ที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 10 ปี?!
แต่สุดท้ายแล้วผลการสอบสวนครั้งนั้นไม่สามารถสาวถึง “ตัวการใหญ่” โดยเฉพาะไม่มีนายทุน และผู้ร่วมงานในพื้นที่แม้แต่คนเดียวติดร่างแหไปด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น ขณะที่ข่าวการกวาดล้างใหญ่ยังไม่ทันจางหาย ขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาก็ได้ดำเนินต่อไป แต่ย้ายสถานที่สร้างค่ายกักกันไปยังตะเข็บชายแดนเพื่อมิให้เป็นที่ประเจิดประเจ้อ และเป็นการปกป้องเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่มีผลประโยชน์ร่วมให้พ้นผิดไปในตัว
ในอดีตขบวนการค้ามนุษย์ได้รายได้จาก “ค่าหัว” ในการนำโรฮิงญาจากต้นทางไปส่งถึงปลายทางคือ ประเทศที่ 3 ในราคาหัวละ 2-5 แสนบาท แต่ในปัจจุบัน ขบวนการค้าโรฮิงญามีวิธีการหารายได้มากกว่าการเรียกค่าหัว รายได้ที่เสริมเข้ามาเกเดจากการเรียก “ค่าไถ่”สำหรับโรฮิงยาที่มีฐานะ โดยการข่มขู่ให้ญาติพี่น้องส่งเงินมาไถ่ตัว หากไม่มีการจ่ายเหยื่อค่าไถ่ก็จะถูกฆ่า
จึงกลายเป็นว่าวันนี้ชะตากรรมของโรฮิงญายิ่งยาวนาน ยิ่งเลวร้ายมากขึ้น!!
อย่างไรก็ตาม 30 ศพของชาวโรฮิงญาที่เสียชีวิตครั้งนี้ อาจจะมีสาเหตุจากความอดยาก การถูกกักขัง และเจ็บป่วยโดยไม่ได้ถูกทำร้าย หรือฆาตกรรม และในทางคดีเจ้าหน้าที่อาจจะ “ปิดสำนวน” โดยการกล่าวโทษต่อ “อานัว” ชาวพม่าที่ถูกตำรวจ สภ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช จับกุมได้เมื่อหลายเดือนก่อน ซึ่งมีชาวโรฮิงญาให้การซัดทอดไว้ว่าเขาเป็นเพียง “นายหน้า” รับเงินค่าจ้างพาชาวโรฮิงญาไปส่งยังประเทศที่สาม
โดยอาจจะไม่มีการสาวถึงกลุ่มขบวนการค้ามนุษย์ในพื้นที่ อ.สะเดา ทั้งที่ในบวนการการค้าชาวโรฮิงญาผู้ที่สำคัญที่สุดคือ กลุ่มทุน กลุ่มอิทธิพลในท้องที่ และเจ้าหน้าที่รัฐจากหลากหลายหน่วยงาน และหลากหลายสีที่ร่วมรับผลประโยชน์จากการค้ามนุษย์เหล่านี้
ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นแม้ต้นเหตุจะอยู่ที่พม่า ส่วนไทยเป็นเพียงปลายเหตุ แต่ถ้ารัฐบาลต้องการที่จะให้ปัญหาการค้ามนุษย์ที่ถูกสหภาพยุโรปกล่าวหา และตั้งแง่ไทย รวมทั้งจัดอันดับให้ไทยอยู่ในบัญชีเทียร์ 3 หลุดพ้นไปได้ นอกจากรัฐบาลจะต้องเร่งแก้ปัญหาแรงงานทาสบนเรือประมงแล้ว เรื่องการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาก็เป็นสิ่งที่จำเป็น และเร่งด่วนไม่แพ้กัน
โดยในการตรวจสอบต้องหาคนผิด โดยเฉพาะต้องจับกุมขบวนการค้ามนุษย์มาลงโทษให้ได้ รวมทั้งต้องจัดการต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่ร่วมรับผลประโยชน์อย่างเฉียบขาด อย่าปล่อยให้แนวตะเข็บชายแดน อ.สะเดา ถูกมองว่าเป็นที่ตั้งค่ายกักกันเพื่อการค้ามนุษย์ ซึ่งจะส่งผลเสียหายอย่างร้ายแรงทั้งในด้านของศีลธรรม และเศรษฐกิจของประเทศ
คำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ครั้งนี้จะศักดิ์สิทธิ์ถึงขั้นทำให้ “ตำรวจ” รวมถึงเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานอื่นๆ ในพื้นที่เลิกใส่เกียร์ว่างและหยุดการรับผลประโยชน์ได้หรือไม่ และที่สำคัญที่สุดจะเกิดการล้างบางขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาให้หมดสิ้นไปจากชายแดนภาคใต้ได้หรือไม่ ก็ต้องจับตาดูกันต่อไป