xs
xsm
sm
md
lg

“ท่าเรือน้ำลึกปากบารา” พิสูจน์ลมปาก “บิ๊กตู่” ให้ทุนสนตะพายปั้น “ศูนย์กลางพลังงานโลก”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เว็บไซต์รัฐบาลสรุปเนื้อหารายการคืนความสุขให้คนในชาติ 17 เม.ย.2558
 
โดย...ศูนย์ข่าวหาดใหญ่
 
“...ยังมีอีกหลายโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล อันนี้ก็ขอความกรุณาว่าอย่าขัดแย้งกันมากเลย เราพยายามที่จะดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบ เยียวยาให้สบายใจ ถ้าเราไม่สร้างตรงนี้ก็เป็นปัญหาอีก ประตูการค้าฝั่งอันดามันเราจะไม่มี แล้วก็เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าสู่ทวีปยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกาไม่ได้...”
 
ช่วงหนึ่งของคำพูด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และประธาน คสช. ในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เมื่อวันศุกร์ที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา ก่อนจะตอกย้ำเรื่องนี้ด้วยว่า
 
“...โครงการเหล่านี้ทั้งหมดเป็นเสมือน ‘เส้นเลือด’ ที่หล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจของเรา ทั้งภายใน และระหว่างประเทศ รัฐบาลนี้ได้ริเริ่ม เร่งรัดให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในอนาคตอันใกล้ คือ ต้องบอกประชาชนให้ทราบไว้ก่อน ไม่มาบอกทีหลัง ทำอะไรต้องบอกก่อน แล้วก็มั่นใจว่าถ้าทำสำเร็จก็จะเป็นสิ่งที่ดี ถ้ามาบอกทีหลังก็เหมือนเราไปงุบงิบๆ ทำ ไม่ใช่ ผมก็บอกมาตลอด ก็ขอให้เข้าใจด้วย เราจะต้องยกฐานะขีดความสามารถในการแข่งขันของเราให้เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจในภูมิภาค ในเวทีโลกให้ได้…”
 
ภาพจำลองท่าเรือน้ำลึกปากบารา
 
หากจับความระหว่างบรรทัดจากวาทกรรมที่ผ่านเรียวปากบางๆ ของ “บิ๊กตู่” ดังกล่าวนี้ให้ดี ก็จะสามารถแปลความให้เห็นเจตนาของผู้พูดได้ในหลากหลายแง่มุม มิพักต้องกล่าวถึงเรื่องของการเร่งสปีด ติดสปริง และเสริมใยเหล็ก เพื่อให้โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งทะเลอันดามันบนผืนแผ่นดินด้ามขวานแห่งนี้ลุล่วงโดยเร็ว
 
ประการหนึ่ง บิ๊กตู่ มีความเข้าอกเข้าใจเป็นอย่างดีเกี่ยวกับท่าเรือน้ำลึกแห่งนี้ว่า เป็นโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่จะเปิดประตูการค้าไทยออกสู่ฟากมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งจะสามารถเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจสู่นานาประเทศ โดยเฉพาะแถบทวีปยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา อันจะเสริมศักยภาพไทยสู่การแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในด้านการขนส่งสินค้า และพลังงาน แถมให้ความสำคัญถึงขั้นเปรียบเป็นเส้นเลือดที่จะช่วยหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจ
 
ประการหนึ่ง บิ๊กตู่ มีความเข้าอกเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า การพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ไม่ต่างอะไรกับเหรียญที่มี 2 ด้าน ด้านหนึ่งนอกจากจะช่วยให้ตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจและรายได้ต่อหัวประชากรถีบทะยานสูงขึ้นแล้ว ยังสามารถสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนได้อีกมหาศาล แต่ในอีกด้านก็สร้างผลกระทบตามมามายมายด้วยเช่นกัน ทั้งที่มีต่อธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สุขภาพประชาชน วิถีชุมชน รวมถึงโอกาสในการประกอบสัมมาอาชีพ ซึ่งได้ระบุถึงการเยียวยาไว้ชัดเจน
 
ประการหนึ่ง บิ๊กตู่ มีความเข้าอกเข้าใจอย่างไม่ต้องสงสัยเกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากลในการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลชุดก่อนๆ ไม่ว่าจะเรื่องการปกปิดข้อมูล หรือให้ข้อมูลแบบบิดเบี้ยว บิดเบือน หรือเกิดภาวะจำยอมต้องบอกข้อเท็จจริง แต่ก็ทำไปแบบครึ่งๆ กลางๆ เพราะเกรงจะเป็นอุปสรรคต่อการเดินหน้าโครงการ สุดท้ายประชาชนได้ประจักษ์แจ้งความจริงเอาก็เมื่อทำโครงการเสร็จสิ้นแล้ว ไม่อย่างนั้นคงไม่พร่ำบ่นเรื่องการให้ข้อมูลประชาชนไว้ยาวเหยียด 
 
แนวแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล
 
นอกจากนี้แล้ว แม้จะไม่ได้ระบุเป็นคำกล่าวไว้ชัดเจน แต่เมื่อประมวลจากคำพูด และบทบาทที่แสดงออกมาต่อเนื่องหลังเป็นผู้นำยึดอำนาจรัฐจากกลุ่มก๊วนการเมือง แล้วก้าวขึ้นนำการบริหารประเทศมาเกือบปี รวมถึงความรู้ความเข้าใจของคนใน ครม.ชุดนี้ที่ตั้งขึ้นมากับมือ ก็คงยืนยันได้เต็มปากเต็มคำว่า รัฐนาวาของบิ๊กตู่ ไม่ได้มองเห็นโครงการท่าเรือน้ำลึกดังกล่าวผุดพลายขึ้นมาอย่างโดดเดี่ยวเดียวดายแน่นอน
 
แต่สามารถเชื่อมโยงให้เห็นสายใยเกี่ยวร้อยระหว่างโครงการท่าเรือน้ำลึกในภาคใต้แห่งนี้ กับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่อื่นๆ อีกมากมายก่ายกอง ทั้งโครงการที่เกิดขึ้นได้แล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง รวมถึงที่กำลังเร่งทำคลอด ซึ่งก็ล้วนถูกบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
 
ในความเป็นจริง “โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา” ไม่ใช่เพียงถูกสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ภายใต้ความเห็นชอบของรัฐบาลทุกยุคสมัย นำไปบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาภาคใต้เท่านั้น ในแผนพัฒนาระดับประเทศภายใต้ปีกโอบของกลุ่มทุนไทย ก็มีระบุไว้ชัดแจ้ง และในบรรดาทุนโลกบาลที่หากินแบบไร้เขตแดนขวางกั้น ต่างก็นำโครงการนี้ไปใส่ไว้ในแพกเกจที่จะต้องเข้าไปเอี่ยวแบ่งปันผลประโยชน์
 
สำหรับในแผนพัฒนาภาคใต้นั้น ท่าเรือน้ำลึกปากบารา ถูกกำหนดให้เป็น 1 ในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ อันเป็นส่วนของ “สะพานเศรษฐกิจสงขลา-สตูล” หรือที่มักเรียกกันติดปากด้วยภาษาต่างด้าวว่า “แลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล” นั่นเอง
 
ส่วนประกอบหลักที่จะก่อรูปเป็นแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล ประกอบด้วย ท่าเรือหัว-ท้าย 2 ฝั่งทะเล ซึ่งท่าเรือน้ำลึกปากบารา อยู่ในฝั่งทะเลอันดามัน โดยกำหนดให้สร้างขึ้นที่ชายหาดปากบารา ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล แล้วเชื่อมต่อกับฝั่งทะเลอ่าวไทย ได้แก่ “ท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2” ที่ตั้งอยู่ที่บ้านสวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา ด้วยระบบคมนาคมขนส่ง คือ “ถนนมอเตอร์เวย์” กับ“รถไฟขนส่งสินค้าร่างคู่” พร้อมด้วย “ท่อน้ำมันและก๊าซ” 
 
แนวแลนด์บริดจ์ในภาคใต้ของไทย
 
ความจริงแล้ว แลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล ถือเป็นเพียงแค่โครงการพื้นฐาน ซึ่งเตรียมไว้รองรับการพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมในพื้นที่ให้ขยายตัวได้ใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ โดยแผนพัฒนาภาคใต้ได้กำหนดให้แลนด์บริดจ์เป็นส่วนประกอบของการพัฒนาแบบต่อเนื่องด้วยเมกะโปรเจกต์ที่สำคัญที่สุด คือ “โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้” หรือภาษาอังกฤษใช้คำว่า “เซาเทิร์นซีบอร์ด” นั่นไง
 
หากมองให้เห็นเป็นภาพขยายในระดับชาติก็จะพบว่า เมกะโปรเจกต์ที่กำหนดทิศทางการพัฒนาภาคใต้ที่สำคัญที่สุดนี้ กลับเป็นการจำลองรูปแบบการพัฒนามาจากเมกะโปรเจกต์ที่ก่อกำเนิดขึ้นมาก่อนแล้วในตอนกลางประเทศ คือ “โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก” หรือ “อีสเทิร์นซีบอร์ด” นั่นแหละ
 
ในส่วนของอีสเทิร์นซีบอร์ด ก็มีแลนด์บริดจ์เชื่อม 2 ฟากทะเลในลักษณะเดียวกัน แต่ถือเป็นแลนด์บริดจ์ข้ามชาติที่ไทยยอมเอาท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังใน จ.ชลบุรี ไปผูกติดกับท่าเรือน้ำลึกทวาย ในประเทศพม่า แล้วก็มีถนนมอร์เตอร์เวย์ รถไฟรางคู่ใช้ขนส่งสินค้า และระบบท่อก๊าซ-น้ำมันโยงใยเชื่อมต่อ เพียงแต่แตกต่างจากเซาเทิร์นซีบอร์ด ก็ตรงที่แลนด์บริดจ์ในภาคใต้เป็นยุทธศาสตร์ที่ถูกกำหนดให้กินรวบไว้ในประเทศ
 
หากพิจารณาที่มาที่ไป และแก่นแกนของการพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ด จะพบว่า ถือเป็นต้นกำเนิดนำพาประเทศสู่ “ยุคโชติช่วงชัชวาล”หรือการค้นพบพลังงานในอ่าวไทยเป็นครั้งแรก ซึ่งได้จุดประกายความฝันถึงความมั่งคั่ง และรุ่งโรจน์ให้แก่สังคมไทยโดยรวม เหมือนกับเปลวไฟที่ถูกจุดให้ลุกโชนอยู่เหนือแท่นขุดเจาะกลางทะเลในห้วงทศวรรษที่ 2520
 
จากนั้นก็นำไปสู่การตั้งโรงกลั่นน้ำมัน และโรงแยกก๊าซ ตามด้วยนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่มาบตาพุด จ.ระยอง อันเป็นวัตถุดิบป้อนให้เกิดโรงงานอุตสาหกรรมผลิตสินค้านานาชนิดตามมา แล้วกระจัดกระจายกันล้อมรอบเป็นชั้นๆ จากภาคตะวันออก ขยายไปไกลถึงภาคกลาง ซึ่งคนไทยได้เห็นน้ำตานายทุนญี่ปุ่นเมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่ไม่กี่ปีที่ผ่านมาที่หลั่งให้กับโรงงานถูกน้ำท่วมที่ จ.พระนครศรีอยุธยาไปแล้ว
 
อีสเทิร์นซีบอร์ด จึงไม่ต่างอะไรจากการทำหน้าที่ “ศูนย์กลางพลังงาน” พร้อมๆ กับการทำหน้าที่เป็น “ฐานผลิตอุตฯ ปิโตรเคมี” ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ 
 
ปัจจุบัน นิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่มาบตาพุดได้ถูกพัฒนาถึงเฟส 3 และถือว่าเต็มพื้นที่จนไม่สามารถจะขยับขยายได้อีกแล้ว จึงมีความจำเป็นต้องพื้นที่ใหม่รองรับอย่างเร่งด่วน ซึ่งทุกๆ รัฐบาลผ่านมา ต่างเล็งแลเพ่งสายตาไปยังแผ่นดินด้ามขวานไทย อันเป็นยุทธภูมิศาสตร์สำคัญบนแหลมมลายู
 
ถึงขั้นที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สมัยนั่งเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ยังนำคณะลงไปพบปะบรรดาสมาชิกหอการค้า และสภาอุตสาหกรรม รวมถึงนักธุรกิจ และนักลงทุนทั่วภาคใต้ในโรงแรมหรูที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยกล่าวประกาศไว้กลางที่ประชุมชัดถ้อยชัดคำว่า ฐานผลิตอุตฯ ปิโตรเคมีของประเทศไทยนับตั้งแต่เฟส 4 เป็นต้นไป จะต้องลงไปแจ้งเกิดที่ภาคใต้เท่านั้น
 
แนวเส้นทางแลนด์บริดจ์อีสเทิร์นซีบอร์ด
 
ทว่า ถ้ามองภาพขยายให้ใหญ่โตขึ้นไปอีกเป็นในระดับโลก ก็จะพบความจริงที่ยากปฏิเสธได้ว่า ระบอบจักรวรรดินิยมยุคใหม่กำลังเดินหน้าปลุกปั้นประเทศไทยให้กลายเป็น “ศูนย์กลางพลังงานโลก” แห่งใหม่ โดยใช้ผืนแผ่นดินด้ามขวานบนแหลมมลายูเป็นที่ตั้ง “ฐานอุตฯ ปิโตรเคมี” ขนาดใหญ่แหล่งใหม่ของโลกด้วยเช่นกัน 
 
สิ่งที่ยืนยันในเรื่องนี้ได้ดีก็คือ ในซีกโลกฝั่งตะวันออกของทวีปเอเชีย มี 2 ชาติที่ตั้งขนาบอยู่บนชายฝั่งของ “ช่องแคบมะละกา” ได้แก่ ประเทศสิงคโปร์กับรัฐยะโฮร์บาห์รู ของประเทศมาเลเซียนั้น พื้นที่ดังกล่าวถูกทำให้เป็นศูนย์กลางพลังงานโลกมาแล้วหลายทศวรรษ เพียงแต่ชาติเกาะเล็กๆ ปลายแหลมมลายูมีอิทธิพลมากกว่าทั้งในเรื่องของทุน และแนบชิดกับประเทศมหาอำนาจ ทำให้ถูกใช้เป็นชื่อเรียกขานเปรียบเทียบราคาสินค้าพลังงานเป็นตลาดหลักของโลกแห่งหนึ่ง
 
อย่างบริษัทยักษ์ใหญ่ในธุรกิจพลังงานของไทยคือ ปตท. ก็ยังประกาศอิงราคาน้ำมัน ณ “ตลาดสิงคโปร์” หรือเปรียบเทียบราคาซื้อขายหน้าโรงกลั่นที่สิงคโปร์มาโดยตลอด
 
ความที่ช่องแคบมะละกา หรือบางทีก็เรียกขานกันว่า ช่องแคบสิงคโปร์ ถูกใช้เป็นเส้นทางสายหลักในการขนส่งสินค้า และพลังงานข้ามซีกโลกของทวีปเอเชีย จึงไม่เพียงทำให้สิงคโปร์เป็นที่ตั้งของท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ และถือเป็นเส้นทางเดินเรือสายสำคัญมากของโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งที่ตั้งของโรงกลั่นน้ำมันมากมาย ซึ่งแต่ละวันได้นำน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางไปกลั่นแล้วส่งออกเป็นน้ำมันสุก เช่น เบนซิน และดีเซลให้แก่บรรดาชาติดาวรุ่งพุ่งแรงทางเศรษฐกิจในเอเชียมานาน
 
แต่ถึงเวลานี้ ความรุ่งเรืองของช่องแคบมะละกาแทบจะกลายเป็นตำนานไปแล้ว เนื่องจากมีเรือสินค้า และน้ำมันเข้าไปใช้บริการถึงประมาณ 900 ลำต่อวัน หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 50,000 ลำต่อปี ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบแล้วมีปริมาณเรือใช้บริการข้ามผ่านซีกโลกตะวันตกกับตะวันออกแบบเดียวกันกับคลองสุเอซ มากถึงกว่า 2 เท่า และคลองปานามา มากถึงกว่า 3 เท่า
 
จึงไม่แปลกที่เวลานี้ช่องแคบมะละกาถึงกับบอบช้ำอย่างแสนสาหัสสากรรจ์ ไม่ว่าจะเป็นการจราจรทางเรือที่แทบจะกลายเป็นการจลาจลไปแล้ว ความเสื่อมโทรมในด้านธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม หรือแม้กระทั่งการปล้นชิงสินค้า และน้ำมันของบรรดาสลัดมะละกาที่ขึ้นชื่อลือชาและเคยเป็นเกรียวกราวอยู่บ่อยครั้ง เป็นต้น
 
ทำให้ช่วงหลายสิบปีมานี้ ชาติมหาอำนาจในโลก บรรษัทข้ามชาติ รวมถึงกลุ่มทุนสิงคโปร์เองด้วย จึงต้องมีการคิดแผนพัฒนาเมกะโปรเจกต์ระดับโลกขึ้นมามากมาย ทั้งนี้ก็วาดหวังให้ช่วยแบ่งเบาภารกิจอันหนักอึ้งของของช่องแคบมะละกาดังกล่าว
 
หนึ่งในโครงการที่ต้องถือว่าเป็นอภิมหาโปรเจกต์ระดับโลก ได้แก่ “การขุดคอคอดกระ” หรือ “คลองกระ” หรือในระยะหลังๆ มานี้เปลี่ยนมาเรียกชื่อใหม่ว่า “คลองไทย” ซึ่งก็เป็นแนวคิดเดียวกับการขุดคลองสุเอซ ที่ประเทศอียิปต์ เมื่อเกือบ 150 ปีมาแล้ว บนรอยเชื่อมแผ่นดินยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา เพื่อที่จะไม่ต้องเดินเรือไปอ้อมแหลมกู๊ดโฮปแบบเกือบครึ่งค่อนโลก หรือการขุดคลองปานามา ที่ประเทศปานามา ตอนกลางแผ่นดินเรียวก้างของอเมริกาเหนือ-ใต้ เมื่อกว่า 100 ปีเศษมานี้ เพื่อจะได้ไม่ต้องไปอ้อมแหลมฮอร์น แบบครึ่งค่อนโลกเช่นกัน
 
สำหรับโครงการขุดคลองไทยบนแผ่นดินด้ามขวานนั้น แม้จะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงต่อเนื่องนับร้อยปีเช่นกัน โดยถูกนำไปโหมหนักเอาก็ช่วงประมาณ 20 ปีมานี้ แต่ที่ไม่ได้ลงมือทำจนเดี๋ยวนี้ก็เพราะผืนแผ่นดินฝั่งเอเชียไม่ได้ติดต่อกันยาวเป็นพืดแบบติ่งอเมริกาเหนือ-ใต้ หรือติ่งของยุโรป ตะวันออกกลางและแอฟริกา โดยที่ปลายแหลมมลายูมีถึง 3 ช่องแคบให้เรือข้ามผ่านได้แก่ มะลากา ลอบบอก และซุนดา กระทั่งในเวลานี้เรื่องการลงทุน และปัญหาสิ่งแวดล้อมยิ่งไม่จูงใจให้ลงมือทำอีกด้วย
 
แนวคิดการพัฒนาแลนด์บริดจ์ในภาคใต้ของไทยเชื่อมนานาชาติ
 
เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมีอีกโครงการที่สามารถจะนำมาใช้ทดแทนได้ แม้จะไม่ใช่อภิมหาเมกะโปรเจกต์แบบการขุดคลองเป็นระยะทางนับร้อยกิโลเมตร แต่ก็ตั้งอยู่บนฐานคิดเดียวกัน นั่นก็คือ การให้กำเนิดโครงการก่อสร้างแลนด์บริดจ์ขึ้นบนคาบสมุทรมลายู หรือสร้างสะพานเศรษฐกิจบนแผ่นดินด้ามขวานไทย 
 
ที่ผ่านมา แลนด์บริดจ์ภาคใต้ของไทยเคยถูกคิดไว้ให้ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน โดยเอาชุมพรไปเชื่อมกับระนอง ต่อมาเลื่อนลงสู่ภาคใต้ตอนกลาง เอานครศรีธรรมราชไปเชื่อมกระบี่ หรือไม่ก็พังงา แลนบริดจ์เส้นนี้ถึงขั้นควักเงินนับหมื่นล้านบาทเวนคืนที่ดินชาวบ้าน ลงทุนทำมอเตอร์เวย์ที่เรียกว่า “ถนนเซาเทิร์นฯ” และเว้นเส้นทางรถไปกับท่อน้ำมันและก๊าซไว้ด้วยช่องกลางระหว่างเลนกว่า 120 เมตรไปแล้วนับสิบปี แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถแจ้งเกิดได้
 
สุดท้ายจึงมาลงตัวเอาที่แลนด์บริดจ์ในภาคใต้ตอนล่าง โดยให้เชื่อมสะพานเศรษฐกิจระหว่างสงขลากับสตูล หรือ “แลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล” นั่นเอง
 
เมื่อพิจารณาอย่างจากยุทธศาสตร์การพัฒนาจากที่กำหนดโดยกลุ่มทุนโลกบาล ภายใต้ปีกโอบของชาติมหาอำนาจจักรวรรดินิยมยุคใหม่ ลงมาอย่างเชื่อมร้อยสู่ยุทธศาสตร์การพัฒนาในระดับชาติของไทยเอง ยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาภาคใต้ รวมถึงยุทธศาสตร์การพัฒนาระดับกลุ่มจังหวัด และระดับแต่ละจังหวัดของสงขลาและสตูล จึงไม่สามารถที่จะหลุดพ้นภาพของการปลุกปั้นดินแดนประเทศไทยให้เป็น “ศูนย์กลางพลังงานโลก” โดยใช้ภาคใต้เป็นฐานผลิตพลังงาน และนำไปสู่การเป็นที่ตั้งของ “ฐานอุตฯ ปิโตรเคมี” ขนาดใหญ่แห่งใหม่ของโลก
 
การที่แก่นแกนผู้กุมบังเหียนอำนาจรัฐเวลานี้ได้ออกมาพูดถึง “ท่าเรือนำลึกปากบารา” ซึ่งก็เป็นโครงสร้างพื้นฐานส่วนประกอบสำคัญของ “แลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล” อันเป็นทิศทางการพัฒนาส่วนหนึ่งที่ถูกบรรจุอยู่ใน “เซาเทิร์นซีบอร์ด” ที่เป็นหัวใจหลักให้แก่ “แผนพัฒนาภาคใต้” และเป็นทิศทางสำคัญที่ถูกบรรจุไว้ใน “แผนพัฒนาประเทศไทย” อีกชั้นหนึ่งนั้น
 
หากจะว่าบิ๊กตู่พูดไปเรื่อยแบบไม่เข้าใจความเชื่อมโยงถึงในระดับโลก ซึ่งเรื่องราวแบบนี้ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้?!
 
มีสิ่งที่สามารถการันตีความเข้าอกเข้าใจในเรื่องนี้ของรัฐนาวาบิ๊กตู่ได้เป็นอย่างดีก็คือ เพียงช่วงเวลานำ ครม.เข้าบริหารประเทศได้ไม่ถึงสัปดาห์ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะรองประธาน คสช.ฝ่ายเศรษฐกิจที่กำกับดูแลเรื่องพลังงาน ได้ให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับความจำเป็นที่ประเทศชาติต้องการเดินหน้าโครงการแลนด์บริดจ์ในภาคใต้ไว้ด้วย
 
โดยถึงกับใช้คำเรียกขานอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า “เอนเนอร์ยี แลนด์บริดจ์”!!
 
แนวคิดการพัฒนาแลนด์บริดจ์ในภาคใต้ของไทยเชื่อมนานาชาติ
 
ดังนี้แล้ว การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และประธาน คสช. ออกมาเรียกร้องด้วยสำเนียงดุๆ แบบห้วนๆ ตามสไตล์ส่วนตัวในท่วงทำนองให้พี่น้องประชาชนช่วยกันผลักดันโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา หรืออย่างน้อยก็อย่าสร้างความขัดแย้งกันขึ้นมาอีกเลย
 
จึงต้องนับว่าคนที่มีอำนาจะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในเวลานี้ เขายอมที่จะออกมากล่าวต่อสังคมไทยอย่างเป็นทางการในครั้งนี้ น่าจะเป็นปรากฏการณ์ที่มากนัยไม่น้อยทีเดียว
 
หรือว่าท่านผู้นำยินยอมที่จะเดินไปบนพรมที่ถูกโรยไว้ด้วยกุหลาบจากฝีมือกลุ่มทุนทั้งไทย และเทศ ซึ่งถ้าโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราบรรลุผล นั่นย่อมหมายถึงแผนปลุกปั้นไทยเป็น “ศูนย์กลางพลังงานโลก” แห่งใหม่ พร้อมๆ กับการตั้ง “ฐานอุตฯ ปิโตรเคมี” ขนาดใหญ่แหล่งใหม่ของโลกก็น่าจะเป็นจริงได้อย่างไม่ยากนัก 
 
หากเป็นเช่นนี้แล้ว การต่อสู้เรื่องการปฏิรูปพลังงานของพี่น้องประชาชนคนไทยในเวลานี้ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร การเรียกร้องให้ทรัพยากรพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน และก๊าซกลับมาเป็นของปวงชนชาวไทยจะเป็นไปได้ไหม การเอา ปตท.กลับคืนสู่อ้อมแขนประชาชน หรืออย่างน้อยดึงเอาผลประโยชน์ที่คนไทยทุกคนควรจะได้รับกลับมานั้น สุดท้ายแล้วอาจจะเป็นได้แค่ฝัน
 
ท้ายที่สุดแล้ว ถ้าประเทศไทยได้ถูกทำให้กลายเป็น “ศูนย์กลางพลังงานโลก” แห่งใหม่ โดยภาคใต้ได้เป็น “ฐานอุตฯ ปิโตรเคมี” ขนาดใหญ่แห่งใหม่ของโลก “ปตท.” มีหรือจะไม่ให้โตมโหฬารอ้วนพีมากขึ้นกว่าความยิ่งใหญ่ที่เป็นอยู่อย่างทุกวันนี้?!?!
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น