xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเวทีให้ความรู้ปกป้องทะเลไทยแหล่งอาหารที่ยั่งยืน หลังกรมเจ้าเตรียมสร้างท่าเรือน้ำลึกชุมพร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ชุมพร - เดินหน้าให้ความรู้ชาวบ้านปกป้องทะเลอ่าวไทย ครัวไทยครัวโลก แหล่งอาหารที่ยั่งยืน หลังกรมเจ้าท่าเตรียมสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ชุมพร

วันนี้ (29 เม.ย.) ที่ห้องโสตทัศนศึกษา โรงเรียนปะทิววิทยา อ.ปะทิว จ.ชุมพร คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ เครือข่ายรักษ์ชุมพร สมาคมเพื่อนสิ่งแวดล้อมชุมพร ได้จัด “เวทีภูมิปัญญาคนชุมพรกับการปกป้องพื้นที่ผลิตอาหารเพื่อการปฏิรูป” มีผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย รศ.ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ สมาชิกสภาปฏิรูป ดร.สมนึก จงมีวศิน เครือข่ายเพื่อนตะวันออก นายณัติกาญจน์ สูติพันธ์วิหาร นายสุวัฒน์ ไกรมาก นักวิชาการอิสระ โดยมีชาวบ้าน นักอนุรักษ์ ผู้นำชุมชน ผู้สนใจทั่วไปเข้าร่วมฟัง และแสดงความคิดเห็นกว่า 200 คน

ทั้งนี้ การเสวนามุ่งเน้นเกี่ยวกับปัญหากรณีที่กรมเจ้าท่าได้เข้ามาดำเนินการสร้างท่าเรือน้ำลึก โดยมีเป้าหมายในพื้นที่แหลมคอกวาง ตำบลนาทุ่ง และแหลมเขาพระตำหนัก ตำบลหาดทรายรี อ.เมือง จ.ชุมพร และพื้นที่อ่าวบางสน อ.ปะทิว จ.ชุมพร อันจะส่งผลต่อแหล่งอาหารทางทะเลที่ยั่งยืน เนื่องจาก จ.ชุมพร เป็นแหล่งวางไข่เพาะพันธุ์ของปลาทูที่ใหญ่ที่ในประเทศไทย จึงถือเป็นครัวไทยครัวโลก เป็นแหล่งสัตว์น้ำที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจปีละนับแสนล้านบาท พร้อมกับถอดบทเรียนการพัฒนาฝั่งทะเลตะวันออก กรณีศึกษานิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และอ่าวอุดม ซึ่งปัญหาทั้งหมดมาจากการเติบโตทางภาคอุตสาหกรรมจนทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายวิถีชีวิตชุมชน และที่สำคัญได้ทำลายแหล่งผลิตอาหารที่ยั่งยืนของชาวบ้าน

น.ส.ชิดสุภางค์ ชำนาญ เลขานุการสมาคมเพื่อนสิ่งแวดล้อม จ.ชุมพร กล่าวหลังเข้าร่วมเสวนาว่า ปัญหาหลักๆ ในการจัดเสวนาครั้งนี้เป็นการระดมนักวิชาการ ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญจากสถาบันการศึกษา จากองค์กรต่างๆ มาให้ความรู้แก่ชาวบ้าน เพื่อร่วมกันปกป้องแหล่งอาหารทางทะเลที่ยั่งยืนของพวกเรา เนื่องจากขณะนี้กรมเจ้าท่า ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเข้ามาศึกษาสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ไม่โปร่งใส ปิดบังข้อมูล โดยเฉพาะการทำประชาพิจารณ์การมีส่วนร่วมของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นครั้งที่ 1 หรือ ค.1 ที่ผ่านมานั้น ทางบริษัทที่ปรึกษาได้ทำเป็นเอกสารข้อมูลมาแจกจ่ายให้แก่ประชาชนเพียง 40 หน้าเท่านั้น ซึ่งมีรายละเอียดที่ไม่ครบถ้วนครอบคลุม ซึ่งขณะนี้ประชาชนได้รวมตัวกันในนามเครือข่าย “รักษ์ชุมพร” และได้ยื่นคัดค้านการประทำประชาพิจารณ์ดังกล่าวแล้ว พร้อมกับจะร่วมกันออกรณรงค์ให้ความรู้แก่ชาวบ้านต่อไป


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น