xs
xsm
sm
md
lg

คาดโรงไฟฟ้ากระบี่ผลิตและจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2562

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กระบี่ - รองผู้ว่าการฯ ยืนยัน กฟผ. ยังไม่สร้างโครงการพัฒนาขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้ากระบี่ รอ ครม. อนุมัติโครงการก่อน พร้อมปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดใช้เวลาก่อสร้าง 46 เดือน สามารถจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ภายใน ธ.ค.62

นายรัตนชัย นามวงศ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ชี้แจงขั้นตอนการดำเนินโครงการพัฒนาขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้ากระบี่ ว่า ปัจจุบัน กฟผ. ได้เริ่มดำเนินการด้านการประกวดราคางานจัดซื้อ และจ้างก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่ ควบคู่กับการขอความเห็นประกอบการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โครงการพัฒนาขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้ากระบี่ พร้อมกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว จากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.)

ในขณะเดียวกัน กฟผ. ได้นำรายงานการศึกษาความเหมาะสมโครงการพัฒนาขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้ากระบี่ และโครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว เข้าเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อรอการพิจารณาอนุมัติโครงการ โดย กฟผ. จะออกเอกสารสนองรับราคา (Letter Of Intent- LOI) เมื่อโครงการพัฒนาขยายโรงไฟฟ้ากระบี่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี และปฏิบัติตามเงื่อนไขจากหน่วยงานผู้ให้ความเห็น และผู้อนุญาตครบถ้วนถูกต้องแล้วเท่านั้น

รองผู้ว่าการ กฟผ. เปิดเผยอีกว่า ในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ กฟผ. ต้องจัดทำรายงาน EHIA หรือ EIA (แล้วแต่กรณี) เสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คณะกรรมการผู้ชำนาญการ องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อขอความเห็นประกอบสำหรับการขออนุมัติคณะรัฐมนตรี ด้วยเหตุดังกล่าว กฟผ. จึงระบุเงื่อนไขการสงวนสิทธิยกเลิกการประกวดราคา หากคณะรัฐมนตรีพิจารณาไม่อนุมัติโครงการ

ทั้งนี้ กฟผ. คาดว่าโครงการพัฒนาขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้ากระบี่ จะได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีประมาณปี 2559 จากนั้น กฟผ. จะใช้เวลาพัฒนาโครงการประมาณ 46 เดือน เพื่อให้สามารถจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date - COD) ได้ภายในเดือนธันวาคม 2562 โครงการพัฒนาขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้ากระบี่ เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อน กำลังผลิตสุทธิไม่ต่ำกว่า 780 เมกะวัตต์ นำเข้าถ่านหินคุณภาพดีจากต่างประเทศเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า โดยใช้เทคโนโลยีการเผาไหม้แบบ Pulverlized-coal Combustion Technology (PC) ระดับ Ultra-supercritical Boiler ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูง

นอกจากนี้ กฟผ. ยังติดตั้งเทคโนโลยีในการกำจัดโลหะหนัก และสารปรอทได้กว่าร้อยละ 90 ได้แก่ เทคโนโลยีการฉีดวัสดุดูดซับ (Sorbent Injection) โดยการฉีด Powdered Activated Carbon (PAC) เข้าไปในก๊าซร้อนหลังการเผาไหม้เพื่อดูดซับไอปรอท โครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว ตั้งอยู่บริเวณคลังน้ำมันบ้านคลองรั้ว รับขนถ่ายถ่านหินจากเรือบรรทุกถ่านหิน และขนส่งถ่านหินด้วยระบบสายพานลำเลียงแบบปิดไปยังอาคารเก็บถ่านหินหลักแบบปิดในพื้นที่โรงไฟฟ้ากระบี่

เมื่อโครงการพัฒนาขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้ากระบี่ และโครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้วแล้วเสร็จ และเริ่มดำเนินการ จะสามารถเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าภาคใต้ ตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังเพิ่มความสมดุลในสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงเพื่อการผลิตไฟฟ้าอีกด้วย
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น