xs
xsm
sm
md
lg

“เครือข่ายผู้หญิง 4 จชต.” ยื่น 4 ข้อเรียกร้องต่อรัฐ และผู้ก่อไฟใต้ในวันครบรอบ 11 ปีเหตุการณ์กรือเซะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ปัตตานี - เครือข่ายกลุ่มผู้หญิง 4 จังหวัดใต้ อ่านแถลงการณ์เสนอข้อห่วงใยของผู้หญิงต่อวงจรความรุนแรง พร้อมยื่น 4 ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล และผู้สร้างความรุนแรงในพื้นที่ เผยเป็นการรวมตัวเนื่องในโอกาสครบ 11 ปี “เหตุการณ์กรือเซะ” 28 เม.ย.นี้
 

 
เช้าวันนี้ (28 เม.ย.) ที่โรงแรมปาร์ควิว อ.เมือง จ.ปัตตานี คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มผู้หญิงทั้งชาวพุทธ และมุสลิมที่ทำงานด้านการพัฒนาศักยภาพ การช่วยเหลือเยียวยา การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การสื่อสารและกระบวนการสร้างสันติภาพในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 21 องค์กร ได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์เรื่องข้อห่วงใยของผู้หญิงต่อวงจรความรุนแรงชายแดนใต้
 
ทั้งนี้ คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ได้แถลงว่า เมื่อมีการใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะเริ่มโดยฝ่ายใดก็ตาม จะเกิดการตอบโต้จนกลายเป็นวงจรความรุนแรงเสมอมา ทำให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิต และทรัพย์สินของพลเรือน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็กและผู้หญิง ดังกรณีการวิสามัญฆาตกรรมเยาวชน 4 ศพ โดยเจ้าหน้าที่รัฐที่บ้านโต๊ะชูด อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 25 มี.ค.2558 ได้ทำให้เกิดความรุนแรงตามมาอย่างต่อเนื่อง
 

 
กล่าวคือ ในระยะเวลาเพียงหนึ่งเดือนมีการวางระเบิดแล้ว 7ครั้ง ในพื้นที่ จ.ปัตตานี จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส รวมถึงการลอบยิงราษฎร และเหตุการณ์ความรุนแรงอื่นๆ รวมทั้งสิ้นประมาณ 30 เหตุการณ์ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 13 คน โดยในจำนวนนี้เป็นเด็กและผู้หญิง คน อีกทั้งบาดเจ็บรวมอีกทั้งหมด 20 คน 
 
และเนื่องในวาระครบรอบ 11 ปี เหตุการณ์ 28 เม.ย.2547 อันนับเป็นเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งของวงจรความรุนแรงในพื้นที่ คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ จึงมีข้อเรียกร้องเพื่อยุติวงจรความรุนแรงดังกล่าว และสนับสนุนกระบวนการสร้างสันติภาพ ดังนี้
 

 
1. ผู้ใช้กำลังอาวุธทุกฝ่ายต้องยุติการใช้ความรุนแรงต่อพลเรือน โดยเฉพาะเด็ก และผู้หญิง และยุติการก่อเหตุความรุนแรงในพื้นที่สาธารณะ เช่น ตลาด โรงเรียน โรงพยาบาล ศาสนสถาน เป็นต้น
 
2. รัฐต้องรับผิดชอบในการค้นหา และนำเสนอความจริงต่อสาธารณะโดยเร็ว ในกรณีเกิดเหตุสะเทือนขวัญ ได้แก่ การเสียชีวิตของเด็ก และผู้หญิง การเสียชีวิตของนักต่อสู้เพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การฆ่าด้วยวิธีการทารุณโหดร้าย การฆ่าล้างครอบครัว การเสียชีวิตที่เชื่อว่าเจ้าหน้าที่รัฐกระทำเกินกว่าเหตุ เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดจนลุกลามเป็นวงจรความรุนแรงต่อไป
 
3. รัฐต้องมุ่งมั่นที่จะขจัดวัฒนธรรมคนทำผิดลอยนวล (impunity) โดยคุ้มครองทั้งสิทธิของผู้เสียหาย และผู้ถูกกล่าวหาอย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงให้การดูแลเยียวยาโดยไม่เลือกปฏิบัติต่อบุคคลด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติ ศาสนา หรือสถานะทางสังคม
 
4. พี่น้องประชาชนทุกศาสนิกต้องมีความอดทนอดกลั้นต่อแรงยั่วยุจากการก่อเหตุความรุนแรง ไม่ว่าจะเกิดจากการกระทำของฝ่ายใดก็ตาม เพื่อไม่ให้วงจรความรุนแรงขยายตัว ทั้งนี้ การแก้ปัญหาความขัดแย้งทุกรูปแบบต้องเป็นไปโดยยึดหลักสันติวิธี เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และใช้การพูดคุยเพื่อแสวงหาทางออกร่วมกัน
 
หลังจากที่มีการแถลงการณ์เสร็จ ทางคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ ได้มีการรณรงค์แสดงเชิงสัญลักษณ์ในที่สาธารณะ เพื่อเรียกร้องให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและสตรี เช่น ที่มัสยิดกรือเซะ โรงเรียนเทศบาล โรงพยาบาลปัตตานี วัดตานีสโมสร ตลาดนัดและมัสยิดกลางปัตตานี เป็นต้น
 
สำหรับคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ ซึ่งมีองค์กรในเครือข่ายประกอบด้วย กลุ่มเครือข่ายสตรีเสื้อเขียวชายแดนใต้ กลุ่มเซากูน่า กลุ่มด้วยใจ กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดปัตตานี เครือข่ายการช่วยเหลือเด็กกำพร้า เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ เครือข่ายชุมชนศรัทธา เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ เครือข่ายวิทยุชุมชนจังหวัดปัตตานี เครือข่ายสตรีชายแดนใต้เพื่อสันติภาพ ชมรมข้าราชการมุสลีมะห์นราธิวาส ชมรมผู้นำมุสลีมะห์นราธิวาส มูลนิธิเพื่อการศึกษาและเยียวยาเด็กกำพร้า ศูนย์ฟ้าใสเครือข่ายเยาวชนจังหวัดยะลา ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ สภาประชาสังคมชายแดนใต้ สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ (WePeace) สมาคมลุ่มน้ำสายบุรี และสมาคมสวัสดิการมุสลีมะฮ์จังหวัดยะลา
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น