xs
xsm
sm
md
lg

“ละเมิดสิทธิมนุษยชน” สิ่งที่ “สื่อมวลชน” พึงระวัง!! / ณัฐกร ธรรมใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากอินเตอร์เน็ต
โดย...ณัฐกร ธรรมใจ

เนื่องด้วยสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการส่งเสริมความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนแก่สื่อมวลชนในทุกภูมิภาค ไล่เลียงตั้งแต่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสิ้นสุดที่ภาคใต้ สำหรับในพื้นที่ภาคใต้ ได้จัดการอบรมสัมมนาที่โรงแรมทวิน โลตัส อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ 27-29 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา

การจัดสัมมนาดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการสุ่มเสี่ยงในการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน อันอาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนพึงได้รับ โดยในการสัมมนาดังกล่าว มีผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิทธิมนุษยชน และสื่อมวลชนอาวุโสเข้าร่วมอภิปลาย แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนในลักษณะต่างฝ่ายต่างเป็นครูซึ่งกันและกัน

“สื่อมวลชน” ถือเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ทำหน้าที่เป็นผู้นำเสนอเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ จุดในจุดหนึ่ง หรือสถานที่ใดสถานที่หนึ่งที่รับรู้กันอยู่เพียง “วงแคบ” ให้สังคมทั่วไปได้รับรู้ใน “วงกว้าง” เปรียบเสมือน “พระอาทิตย์” ที่ส่องสว่างให้สังคมได้รับรู้ความจริงมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าวในบางครั้งย่อมมีความสุ่มเสี่ยงมากเป็นพิเศษที่จะก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจก็ตามแต่

กล่าวคือ สื่อมวลชนจึงควรมีความรู้ความเข้าใจเป็นประการแรกในเบื้องต้นว่า การนำเสนอข่าวในลักษณะใดมีความสุ่มเสียงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน จะมีเทคนิค หรือวิธีการอย่างใดในการนำเสนอข่าวเพื่อมิให้ละเมิดต่อสิทธิมนุษยชน หรือแม้กระทั่งจะทำอย่างไรที่จะเปลี่ยนแปลง เพิ่มเติม ตัดทอนเนื้อหาของข่าวที่เดิมเป็นข่าวที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อนำเสนอแล้วมิให้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ในการสัมมนาในครั้งนี้ มีประเด็นหนึ่งซึ่งได้รับการถกเถียงอย่างมากคือ “การเขียนข่าวอย่างไรถึงไม่ให้กระทบต่อสิทธิมนุษยชนของผู้ถูกตกเป็นข่าว” หรือแม้กระทั่งส่วนที่สำคัญที่สุดของข่าว อันเป็นองค์ประกอบของข่าวที่ขาดไม่ได้คือ “การพาดหัวข่าว” ซึ่งถือว่าเป็นส่วนของข่าวที่สุ่มเสี่ยงมากที่สุดในอันที่จะละเมิดต่อสิทธิมนุษยชน เนื่องจากหลักคิดของการพาดหัวคือ จะต้องมุ่งใช้ถ้อยคำภาษาในลักษณะกระตุ้นให้เกิดความตื่นเต้น อุปมาอุปไมยการพาดหัวข่าวก็คือ “Frist impression” ของข่าวนั่นเอง
ภาพจาก facebook : Amnesty International Thailand
ประเด็นที่มีการพูดถึงในการเสวนาในส่วนของการ “พาดหัวข่าว” คือ สื่อมวลชนส่วนใหญ่มักจะพาดหัวไปในทำนองลักษณะ “เหมาโหล” เช่น มักจะหยิบยกในส่วนของเชื้อชาติ ศาสนา สีผิว หรือคุณลักษณะเฉพาะตัวของผู้ตกเป็นข่าวที่มีลักษณะโดดเด่น หรือคาดว่าจะเป็นที่น่าสนใจของผู้เสพข่าวนำไปเป็นประเด็นหลักในการพาดหัวข่าว

ดังเช่นข่าวที่เนื้อหาว่า ผู้ก่อเหตุร้ายนับถือศาสนาอิสลาม สื่อก็อาจจะพาดหัวข่าวชี้นำว่า “โจรมุสลิม” เป็นต้น จริงอยู่เมื่อบุคคลผู้เป็นโจรตามข่าวนับถือศาสนาอิสลาม การพาดหัวข่าวโดยใช้คำว่า “โจรมุสลิม” ก็ไม่ถือว่าเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง หรือเป็นการบิดเบือนความจริงของข่าว ทำให้ผู้อ่านแปลความหมายผิดไป

แต่การพาดหัวโดยใช้คำว่า “โจรมุสลิม” ในทางความรู้สึกย่อมส่งผลกระทบในแง่ลบถึงประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลามทั้งหมดทั่วทั้งประเทศก็ว่าได้ กล่าวคือ ทำให้ผู้เสพข่าวมองผู้นับถือศาสนาอิสลามในแง่ร้ายในลักษณะ “เหมารวม” ทั้งความจริงแล้วชาวมุสลิมที่เป็นคนดีก็มีมาก

การพาดหัวในลักษณะเช่นนี้ย่อมถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และย่อมกระทบต่อความรู้สึกของสังคมในวงกว้าง อันอาจก่อให้เกิดการตั้งคำถามขึ้นได้ว่า เพราะเหตุใดนักข่าวจึงพาดหัวข่าวในลักษณะดังกล่าว มีอคติอย่างใดต่อศาสนาอิสลามหรือไม่ อีกทั้งยังเปรียบเสมือนเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนพี่น้องชาวมุสลิมแบบเหมารวมทั้งหมด จนบางครั้งอาจกลายเป็น “น้ำผึ้งหยดเดียว” ลุกลามกลายเป็นปัญหาใหญ่จนยากต่อการยุติ ดั่งเช่น กรณีโศกนาถกรรม “ชาร์ลี เอ็บโด” ก็เป็นได้

หรือแม้กระทั่งการพาดหัวข่าวในลักษณะเหยียดหยามดูถูก “สภาพทางเพศ” กล่าวคือ เป็นการพาดหัวในลักษณะดูหมิ่นเหยียดหยาม “เพศที่สาม” ซึ่งเป็นเพศที่มิใช่ชายจริงหญิงแท้ บุคคลเหล่าในสังคมมักจะถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจากคนรอบข้าง หรือสังคม เช่น การไม่รับเข้าทำงานในบางตำแหน่ง การไม่รับบริจาคเลือดจากบุคคลซึ่งมีเพศสภาพเหล่านี้ เนื่องจากสังคมส่วนใหญ่มักมองว่ามีความหมกมุ่นทางเพศ ติดเซ็กซ์ เป็นต้น
ภาพจาก facebook : Amnesty International Thailand
ยกตัวอย่างเช่นการใช้คำดังต่อไปนี้คือว่า “อีตุ๊ด” “กะเทยควาย” “ถั่วดำ” เป็นต้น ซึ่งการใช้คำในลักษณะเช่นนี้เปรียบเสมือนกันการดูหมิ่นเหยียดหยามสภาพทางเพศของกลุ่มบุคคลดังกล่าว อาจเป็นเพราะในอดีตทางการแพทย์เคยเชื่อกันว่า “กลุ่มเพศที่สาม” ถือเป็นความผิดปกติ เป็นความเบี่ยงเบนทางเพศ หรือบางท่านที่เป็นนักการศาสนาอาจให้เหตุผลว่า เป็นเพราะกฎแห่งกรรม หรือผลแห่งวิบากกรรมที่ทำมาแต่ชาติปางก่อน

แต่ในปัจจุบัน ทางการแพทย์ และจิตแพทย์ทั่วโลกยอมรับแล้วว่า “การเป็นเพศที่สาม” ไม่ได้ถือว่าเป็นความผิดปกติแต่อย่างใด ไม่ได้เป็นโรคจิต ไม่ได้เป็นโรคประสาท และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำการรักษาแต่อย่างใด แต่ในสังคมไทยส่วนใหญ่มักจะเรียกขานบุคคลกลุ่มเหล่านี้เสมือนมิใช่คนปกติธรรมดา ซึ่งหากสื่อมวลชนพาดหัวข่าว หรือเขียนข่าวให้ออกมาในลักษณะเหยียดหยามบุคคลที่เป็น “เพศที่สาม” ก็อาจเป็นการนำเสนอข่าวที่ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้เช่นเดียวกัน

ประเด็นต่อมาที่มีการอภิปลายนอกเหนือจากเรื่องการพาดหัวข่าวแล้ว อีกหนึ่งองค์ประกอบของข่าวที่มีความสำคัญไม่แพ้กันคือส่วน “เนื้อข่าว” อันเป็นส่วนที่บรรยายถึงรายละเอียดของข่าวทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไร เป็นต้น

ในบางครั้งเนื่องด้วยในยุคสมัยปัจจุบันการทำสื่อออนไลน์ได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ในการทำข่าวจึงต้องเน้นความรวดเร็วในการนำเสนอเป็นหลัก จึงทำให้ขาดความรอบคอบ ขาดการตรวจทานอย่างละเอียดจากกองบรรณาธิการ หรือแม้กระทั่งขาดการตรวจสอบจากฝ่ายกฎหมาย จึงส่งผลให้เนื้อข่าวบางส่วนละเมิดสิทธิมนุษยชนของบุคคลอย่างรุนแรง ทำให้บุคคลที่ตกเป็นข่าวได้รับความเดือดร้อน

ยกตัวอย่างเช่น การนำเสนอข่าวเด็กวัย 14 ปี ถูกข่มขืน ถึงแม้จะใช้นามสมมติ ไม่ได้เปิดเผยชื่อจริงของเด็ก แต่หากบริบทการนำเสนอข่าวสามารถทำให้ผู้อ่านข่าวสืบหา หรือตามหาเด็กคนดังกล่าวได้ไม่ยาก เช่น การระบุชื่อยายของเด็ก, การถ่ายภาพบริเวณบ้านของเด็กอย่างชัดเจน, การใส่ชื่อผู้ต้องหาที่ข่มขืนเด็ก, การระบุตำแหน่งของเด็กในลักษณะที่บ่งบอกถึงความเฉพาะเจาะจง เช่น การระบุว่าเด็กเป็นประธานนักเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่ง ซึ่งตำแหน่ง “ประธานนักเรียน” เราย่อมจะสืบหาได้ไม่ยากว่าใครเป็นประธานนักเรียนโรงเรียนดังกล่าว เนื่องจากในโรงเรียนย่อมมีประธานนักเรียนเพียงคนเดียวเท่านั้น

ดังนั้น เนื้อหาข่าวในลักษณะบ่งชี้ให้สามารถสืบหาตัวเด็กคนดังกล่าวได้เช่นนี้ ย่อมมีความสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนในการนำเสนอข่าว
ภาพจากอินเตอร์เน็ต
แม้กระทั่งนักวิชาการในวงเสวนาบางท่านถึงกับให้ข้อสังเกตว่า ในการทำข่าวที่ผู้ได้รับความเดือดร้อนทุพพลภาพทางด้านร่างกาย พิการ สติไม่สมประกอบ เช่น อวัยวะเพศใหญ่กว่าปกติทำให้ร่างการทุกข์ทรมาน หรือหน้าอกโตก่อนวัยอันควร โดยบุคคลดังกล่าวเต็มใจเปิดเผยชื่อ ที่อยู่ รวมถึงยินยอมให้ถ่ายรูปทั้งหมด เพื่อร้องขอความช่วยเหลือจากผู้มีจิตศรัทธา ก็ยังอาจเป็นการนำเสนอข่าวที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในปัจจุบันนี้การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนในหลายๆ ข่าว หลายๆ บทความจะมีส่วนที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่เป็นจำนวนหนึ่ง แต่อัตราส่วนการฟ้องร้องของผู้เสียหายต่อสื่อมวลชนนั้นในปัจจุบันถือว่าน้อยมาก อาจจะเป็นเพราะเนื่องมาจากสื่อมวลชนในสังคมไทยถูกยกให้เปรียบเสมือนเป็น “ฐานันดรที่ 4” และส่วนใหญ่ผู้เสียหายที่ถูกสื่อมวลชนละเมิดสิทธิล้วนแล้วแต่ไม่มีปากมีเสียง ไม่ต้องการค้าความ ไม่ต้องการมีปัญหากับสื่อมวลชน จึงทำให้มีกรณีที่ผู้เสียหายที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนฟ้องสื่อมวลชนน้อยมาก

แต่การที่ผู้เสียหายที่ถูกละเมิดสิทธิฟ้องสื่อมวลชนอยู่น้อยในปัจจุบัน ก็มิได้หมายความว่าจะน้อยตลอดไป เนื่องจากในขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างมาก จึงเป็นที่น่าเชื่อได้ว่า ในอนาคตอันใกล้นี้จำนวนของทนายความที่รับทำคดีด้านสิทธิมนุษยชนจะเพิ่มขึ้นมากตามลำดับ ซึ่งหากผู้เสียหายที่ถูกสื่อมวลชนละเมิดสิทธิมนุษยชนได้รับความรู้ และมีโอกาสได้พบปะพูดคุยกับทนายความที่ทำคดีด้านสิทธิมนุษยชนแล้วล่ะก็ การฟ้องสื่อมวลชนของผู้เสียหายที่ถูกละเมิดสิทธิย่อมมีมากขึ้นเป็นเงาตามตัวอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งที่จะเป็นเครื่องป้องกัน หรือเกราะกำบังชั้นดีในการสู้คดีด้านมนุษยชนของสื่อมวลชนก็คือ คำว่า “ประโยชน์สาธารณะ” กล่าวคือ หากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนนั้นยืนตั้งอยู่บนประโยชน์สูงสุดของสังคม มีเจตนาที่นำเสนอข่าวเพื่อ “ประโยชน์สาธารณะ” อย่างแท้จริงแล้ว แม้จะมีบางส่วนที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยไม่ได้ตั้งใจ สื่อมวลชนย่อมได้รับความคุ้มครองในการนำเสนอข่าวเช่นเดียวกัน
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น