ตรัง - แกนนำเกษตรกรยืนยันชาวใต้ยังคงต้องปลูกยางต่อไป เพราะมีสภาพพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุด และความต้องการโลกยังมีสูง แต่รัฐบาลต้องช่วยเข้ามาดูแลอย่างต่อเนื่อง ระบุอย่างต่ำต้องได้กิโลกรัมละ 60 บาท
วันนี้ (2 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายานว่า นายศักร์สฤษฎิ์ ศรีประศาสตร์ แกนนำภาคีชาวสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมันรายย่อย 16 จังหวัดภาคใต้ กล่าวเนื่องในวันยางพาราแห่งชาติ ประจำปี 2558 ว่า ช่วงเวลานับ 100 ปีที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ พี่น้องเกษตรกรสวนยางพารายังมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก และตกเป็นเครื่องมือของนักการเมืองมาทุกยุคทุกสมัย
อีกทั้งคนที่ร่ำรวยจากยางพาราส่วนใหญ่เป็นกลุ่มทุนที่รับใช้นักการเมือง แต่นับเป็นโอกาสดีที่มีรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่จะคาดว่าจะสามารถช่วยเหลือพี่น้องชาวสวนยางพาราให้ลืมตาอ้าปากได้ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยให้ความสำคัญต่อปัญหายางพาราทั้งระบบ เพราะตนเชื่อว่า พลังของชาวสวนยางพาราจะสามารถเปลี่ยนรัฐบาลได้
ส่วนกรณีที่ได้มีการเชิญชวนให้ชาวสวนยางพาราหันไปปลูกพืชชนิดอื่น เช่น ปาล์มน้ำมัน และไร่นาสวนผสมเพื่อทดแทนนั้น ตนมองว่าในความเป็นจริง ยางพาราไม่ใช่ว่าจะปลูกได้ผลดีทั่วโลก และมีเพียงบางภูมิภาคในโซนเอเชียเท่านั้น พร้อมคิดว่า ทั่วโลกยังมีความความต้องการใช้ยางพาราในสัดส่วนที่สูงอยู่ ดังนั้น หากจะให้มีการลดพื้นที่ปลูกยางพาราในภาคใต้ ตนคงไม่เห็นด้วย หรือถ้าจะลดก็ควรไปลดในพื้นที่ภาคอื่นๆ ที่ได้ผลน้อยกว่า เนื่องจากมีสภาพอากาศแตกต่างจากภาคใต้ อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่าชาวภาคใต้ยังคงต้องอยู่กับอาชีพยางพารา และปาล์มน้ำมันต่อไปเพราะสภาพภูมิศาสตร์เหมาะสม
แกนนำภาคีชาวสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมันรายย่อย 16 จังหวัดภาคใต้ กล่าวด้วยว่า ผลพวงจากการเมืองบางช่วงอาจทำให้ยางพารามีการปรับตัวสูงขึ้นมาก และเมื่อมีการเปลี่ยนขั้วก็ตกลงแบบดิ่งเหว โดยเฉพาะในรัฐบาล คสช. ที่มีราคาตกลงเรื่อยๆ ทำให้พี่น้องชาวสวนยางพาราเดือดร้อนจนอยู่ไม่ได้ ขณะที่รัฐบาล คสช.อ้างว่า ราคาเป็นไปตามกลไกของตลาดที่แท้จริง แต่ตนกลับมองว่าราคาจริงๆ ในท้องตลาดเท่าที่มีการศึกษาข้อมูลจากนักวิชาการ จะไม่ได้ตกต่ำขนาดนี้ ขณะเดียวกัน การช่วยเหลือจากรัฐบาลก็ไม่ถึงมือเกษตรกรรายย่อยจริงๆ มีการเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้านายทุน โดยการร่วมมือจากกลไกของรัฐ
ทั้งนี้ ตนก็รู้สึกเห็นใจนายกรัฐมนตรี ที่มีความตั้งใจจริงในการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร จึงอยากให้กำลังใจ และเข้าใจว่าการแก้ไขปัญหาจำเป็นต้องใช้เวลา แต่ก็ไม่ควรปล่อยให้นานเกินไป เพราะพี่น้องเกษตรกรไม่เคยลำบากอย่างหนักเช่นนี้มาก่อน และราคาที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 60 บาท
ส่วนความผิดพลาดของรัฐบาล คสช.ที่ถือว่ารุนแรงที่สุดก็คือ ช่วงที่เข้าบริหารประเทศใหม่ๆ ได้มีการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ จนส่งผลให้ราคาสินค้า และบริการปรับขึ้นไปด้วย อีกทั้งยังไม่มีการปรับลดลง ในขณะที่สินค้าด้านการเกษตรขายได้ราคาถูกลง แต่ค่าครองชีพสูงขึ้น จึงก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำอย่างมากในสังคม ดังนั้น รัฐบาลจะต้องเข้ามาแก้ปัญหาสินค้าอุปโภคบริโภคด้วย จึงจะทำให้เกษตรชาวสวนยางพาราอยู่ได้