รายงานโดย...ศูนย์ข่าวหาดใหญ่
“ชุมนุมไม่ได้ ตอนนี้ได้สั่ง คสช.ให้ไปดูแล้วว่าเป็นอย่างไรกันแน่ มีปัญหาตรงไหน ซึ่งก่อนหน้านี้ราคายางแผ่นกิโลกรัมละไม่ถึง 80 บาท ก็จะขอให้ได้ 80 บาท ตอนนี้ทำให้ยางแผ่นได้ที่ 60 บาท ก็จะขอให้ขึ้นราคาน้ำยางเป็น 80 บาท มันได้หรือไม่ขอแบบนี้ ขอต่อไปเรื่อยอย่างนี้ไม่ได้...”
บางถ้อยคำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่กล่าวอย่างมีอารมณ์พลุ่งพล่านเมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา ถึงกรณีเครือข่ายชาวสวนยางภาคใต้ เตรียมนัดชุมนุมใหญ่วันที่ 30 ม.ค.2558 เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนจากราคายางตกต่ำ
“เขาคุยกันมาทุกคณะ ทั้งรัฐมนตรี และรองนายกฯ หมดแล้ว เกษตรกรชาวสวนยางต้องไปรวมกลุ่มกันมาพูดคุย ถ้า 10 คนมาฟัง แล้วอีก 1 กลุ่มไปพูดกับสื่อ มันได้หรือไม่ รู้หรือไม่ว่าวันนี้มีเกษตรกรสวนยางกี่กลุ่ม และกลุ่มไหนมาบ้าง และไม่มาบ้าง อย่างนี้จะแก้ไขปัญหาได้หรือไม่...”
น้ำเสียงดุดันที่ถูกเปล่งผ่านริมฝีปากเรียวบางของ พล.อ.ประยุทธ์ ประกอบกับท่าทีที่สามารถมองผ่านภาพเคลื่อนไหวได้จากหลายๆ ช่องทางที่เข้าถึงประชาชนได้อย่างรวดเร็ว และครอบคลุม เชื่อว่าผู้ที่ติดข่าวสารบ้านเมืองนับล้านๆ คนรับรู้ และเข้าใจความรู้สึกห้วงเวลานี้ของท่านผู้นำประเทศไทยได้ดี
ช่วงหนึ่งผู้สื่อข่าวถามว่า ห่วงหรือไม่ว่าเกษตรกรชาวสวนยางราว 5,000 คน จะออกมาชุมนุม พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่ห่วง เพราะเขาเข้าใจ สื่ออย่าไปปั่นให้เขาออกมา ถ้าออกมาก็เพราะสื่อต้องไปอธิบายว่า รัฐบาลกำลังทำแบบนี้ กำลังแก้ไขปัญหา ขอให้ทุกคนอยู่ในความสงบเรียบร้อยเพราะต้องใช้เวลา และทำไมไม่นึกถึงอาชีพอื่นบ้าง เขาลำบากเดือดร้อนกันหรือไม่ ทำไมไม่ขอรัฐบาลมาอย่างนั้น ก็ขอรัฐบาลมาให้หมดเลยแล้วกัน ทั้งมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ค้าขาย รัฐบาล เงินไม่มีแล้ว เดี๋ยวออกเป็นบัตรอะไรสักอย่าง
ผู้สื่อข่าวถามว่า วันนี้นายกฯ เป็นความหวังของคนทั้งประเทศ เกษตรกรจึงขอความช่วยเหลือ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ที่ทำให้ทุกวันนี้ เพราะรู้ว่าเป็นความหวังไง แล้วไม่เห็นใจตนบ้างหรือ
“เมื่อมองว่าผมเป็นความหวังเดียวก็อย่ามาทำลายกัน และจะใจเย็นไม่ได้ ถ้าแก้ปัญหาให้ประชาชนไม่ได้”
จากถ้อยคำของท่านผู้นำนี้ ส่งผลให้ในวันที่ 28 ม.ค.เดียวกัน แกนนำเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางพารารายย่อยภาคใต้ 16 จังหวัด ได้ออกมาประกาศจะไม่มีการรวมตัวชุมนุมปิดถนนบริเวณปั๊มน้ำมันบางจาก ต.กะลาเส อ.สิเกา จ.ตรัง แต่แกนนำประมาณ 30 คน จะเดินทางมาร่วมประชุมที่โรงแรมวัฒนาพาร์ค จ.ตรังแทน เพื่อหารือปัญหาที่เกิดขึ้น และกำหนดทิศทางเคลื่อนไหวต่อไป
เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้แกนนำชาวสวนยางจะประกาศเหตุผลไม่ได้มาจากท่าทีของท่านผู้นำ มาตรการที่จะจัดการขัดเด็ดขาดของรัฐบาล และ คสช. รวมถึงไม่ได้รู้สึกอะไรต่อการยังคงไว้ซึ่งกฎอัยการศึก และยืนยันว่า หากถึงเวลาก็พร้อมจะออกมาเคลื่อนไหวใหญ่ในลักษณะสมรภูมิควนหนองหงส์ ที่ จ.นครศรีธรรมราชเหมือนเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่การลดบทบาทการเคลื่อนไหวแบบหักมุมจบก็เป็นเรื่องที่สังคมเข้าใจได้
สำหรับยางพาราถือเป็นพืชที่มีความสำคัญมาก ทั้งทางเศรษฐกิจ และการเมือง ไม่ต่างอะไรจากพืชชนิดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าว มันสำปะหลัง อ้อย หรือกระทั่งปาล์มน้ำมัน เมื่อเกิดวิกฤตราคาดิ่งเหวก็จะเห็นความเคลื่อนไหวรุกไล่จากฟากเกษตรกร ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลก็จะควักทั้งมาตรการที่เป็นไม้อ่อน และไม้แข็งออกมาใช้จัดการแก้ปัญหา ซึ่งวิกฤตราคายางตกต่ำระลอกนี้เป็นปรากฏการณ์ที่ต่อเนื่องยาวนานมาหลายปี แล้วถูกส่งทอดมาแล้วหลายรัฐบาลเช่นกัน
ปัญหาราคายางตกต่ำมีผลกระทบต่อค่าครองชีพ และการดำรงชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยาง รวมถึงอีกหลากหลายอาชีพที่เกี่ยวเนื่องอย่างยากหลีกเลี่ยง การออกมาเคลื่อนไหวด้วยการชุมนุม ประกาศข่มขู่ หรือประชดประชันด้วยนานารูปแบบมีให้เห็นต่อเนื่อง หลายพื้นที่ของภาคใต้เริ่มสำแดงการโค่นต้นยางขายเพื่อหันไปปลูกพืชชนิดใหม่ก็มีให้เห็นแล้ว ขณะที่ก็มีชาวสวนยางถึงขั้นตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยการฆ่าคนในครอบครัว และกระทำอัตวินิบาตกรรมตามกันไปก็มีแล้ว ซึ่งก็เพิ่งเป็นข่าวครึกโครมไปหมาดๆ ไม่ต่างจากเรื่องข้าว หรือพืชเศรษฐกิจการเมืองอื่นๆ
ก่อนหน้าที่วิกฤตราคายางตกต่ำจะทำให้ท่านผู้นำโกรธถึงขั้นออกอาการพลุ่งพล่านต่อหน้าสื่อครั้งนี้ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็พยายามเดินหน้าหาทางแก้ปัญหาให้มาต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบการจัดสรรงบประมาณอุดหนุนไปแล้วหลายหมื่นล้านบาท หรือกระทั่งเดินเกมการเมืองทั้งใน ครม.และเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงผ่านหลายๆ ฝ่ายที่เป็นพันธมิตรการเมืองที่มีอยู่มากมาย
และที่สังคมกำลังเป็นที่จับตามองใกล้ชิดก็เห็นจะเป็นการใช้บริการทีมงานหลวงลุงกำนันน้ำมันปาล์ม และอดีตแกนนำ กปปส. ซึ่งถึงวันนี้พระสุเทพ ปภากโร และคณะก็ยังคงเดินสายทัวร์ตามวัดต่างๆ ในภาคใต้ เพื่อขอร้องให้ชาวสวนยางหยุดเคลื่อนไหวต่อต้านรับบาลยังไม่เสร็จสิ้น รวมถึงก่อนหน้าก็เคยส่งเกี้ยวเชิญ นายอำนวย ปติเส ที่เชื่อว่าเข้าใจปัญหาราคายางตกต่ำดีมาช่วยรัฐบาล ด้วยการแต่งตั้งให้นั่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น
ทว่า ที่เป็นที่จับตามอง และเป็นข่าวโครมครามไปแล้วคือ เมื่อวันที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้นั่งหัวโต๊ะประชุมร่วมกับพ่อค้ายางรายใหญ่ในประเทศ โดยเฉพาะมีเครือข่ายครอบคลุมทั่วภาคใต้ที่รู้จักกันในนาม 5 เสือวงการยางไทย ก่อนจะออกมาแถลงเสียงดังฟังชัดว่า...
ในอีก 1 เดือนข้างหน้า ราคายางจะถีบตัวขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 80 บาท เพราะผู้ค้ายางรายใหญ่รับปากแล้วว่า จะทำการลุยซื้อยาง โดยรัฐบาลจะเป็นผู้ใช้เงินกู้เพื่อใช้ในการชี้นำตลาดให้ราคายางสูงขึ้น
หากการที่ พล.อ.ประวิตร เพียงแค่นั่งเจรจากับบรรดาพ่อค้ายางแล้วสามารถทำตามประกาศได้จริง เรื่องนี้ถือว่าจะช่วยแก้หน้ารัฐบาลได้อย่างมาก เพราะเป็นเวลา 2-3 เดือนมาแล้ว ที่นายอำนวย พยายามปล้ำผีลุก ปลุกผีนั่งต่อการแก้ปัญหาราคายางให้เกษตรกรขายได้กิโลกรัมละ 60 บาท แต่ที่ผ่านมา ก็ยังไม่เคยเป็นผลสัมฤทธิ์
เกษตรกรทั้งเจ้าของสวน และลูกจ้างตัดยางยังคงถูกยึดบ้านบ้าง รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์บ้าง หรือถูกไล่บี้เรื่องหนี้สิน โดยเฉพาะเกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้ต้องทนอยู่กันอย่างเสดสาต่อเนื่องกันมานานนับเดือนนับปีแล้ว
อย่างไรก็ตาม หากจับความจากคำพูดที่มากด้วยอารมณ์เรื่องการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำครั้งล่าสุดของ พล.อ.ประยุทธ์ ข้างต้นที่ระบุว่า ก่อนหน้านี้ราคายางแผ่นกิโลกรัมละไม่ถึง 80 บาท ก็จะขอให้ได้ 80 บาท ตอนนี้ทำให้ยางแผ่นได้ที่ 60 บาท ก็จะขอให้ขึ้นราคาน้ำยางเป็น 80 บาท มันได้หรือไม่ขอแบบนี้ ขอต่อไปเรื่อยอย่างนี้ไม่ได้
ทั้งนี้ จึงดูเหมือนต้องการชี้ว่า รัฐบาลทำราคาให้ขึ้นมาถึงกิโลกรัมละ 60 บาท ตามมาตรการที่นายอำนวย รับปากไว้แล้ว ยังจะมาขอให้ขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 80 บาทอีกหรือ??
จากคำพูดทำให้ดูเหมือนบรรดาเกษตรกรชาวสวนยางที่ออกมาเคลื่อนไหว ที่ออกมารวมตัวกันเรียกร้องต่อรัฐบาล ล้วนมีพฤติกรรมไม่ต่างจาก “ลูกอีช่างขอ” หรืออะไรทำนองนั้นหรือไม่!!
เกี่ยวกับเรื่องราคาตามคำกล่าวของท่านผู้นำนั้น มีสิ่งที่ของทำความเข้าใจเกี่ยวกับที่มา-ที่ไปของ “ตัวเลขราคายาง” รวมถึงการทำความเข้าใจ “วิถีชีวิต” ของเกษตรกรชาวสวนยาง และคนตัดยางอีกด้วยว่า พวกเขาเหล่านั้นขายยางได้ราคาตามที่กล่าวอ้างไว้หรือไม อย่างไร?!
เบื้องแรกต้องเข้าใจว่า ชาวสวนยางประกอบด้วยคน 2 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกคือ เจ้าของสวนยาง ซึ่งมี 2 ประเภทคือ เจ้าของสวนรายเล็กที่ทำหน้าที่ตัดยางเอง กับเจ้าของสวนรายใหญ่ ที่จ้างลูกจ้างเป็นผู้ตัดยางแล้วแบ่งผลประโยชน์กัน
เจ้าของสวนทั้งรายเล็ก และรายใหญ่นั้น ส่วนใหญ่นำน้ำยางที่กรีดมาได้ไปทำ “ยางแผ่นดิบ” หรือไม่ก็ขายเป็น “น้ำยางสด” พวกเขาไม่ได้ทำเป็น “ยางแผ่นรมควัน” เจ้าของสวนเหล่านี้ไม่รู้จัก “ตลาดกลางยาง” และไม่สามารถนำยางแผ่นดิบ และน้ำยางสด หรือแม้กระทั่ง “ขี้ยาง” เข้าไปขายในตลาดกลางยางได้ กล่าวคือ ใครอยู่ที่หมู่บ้านไหน ตำบลไหน อำเภอไหน พวกเขาก็ขายให้กับร้านรับซื้อยาง หรือจุดรับซื้อน้ำยางสดที่นั่น
ขณะที่การแก้ปัญหาของรัฐบาลจะเน้นย้ำใน “ราคาที่ตลาดกลางยาง” ซึ่งเป็นรับซื้อเฉพาะยางแผ่นรมควันชั้น 1 ชั้น 2 และชั้น 3 โดยตลาดกลางยาง 3 แห่งในภาคใต้ ทั้งที่หาดใหญ่ สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ต่างก็เป็นตลาดของ “นายทุนเจ้าของโรงรมยาง” ผู้ซึ่งซื้อยางแผ่นดิบจากชาวสวนเพื่อนำไปแปรสภาพเป็นยางแผ่นรมควัน และเป็นตลาดของ “สหกรณ์” ต่างๆ ที่รับซื้อน้ำยางสดจากเกษตรกรมาผลิตเป็นยางแผ่นรมควัน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และส่งขายที่ตลาดกลางยางอีกทอดหนึ่ง
โดยที่ตลาดกลางยาง ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนๆ สิ่งที่ผู้คนเห็นกันจนชินตาคือ จะมีรถบรรทุกยางแผ่นที่ผ่านการรมควันแล้ววิ่งเข้าไปขาย ไม่ว่าจะเป็นรถบรรทุก 10 ล้อ 6 ล้อ หรือแม้แต่รถกระบะ 4 ล้อ แต่ไม่เคยเห็นมอเตอร์ไซค์ของคนตัดยางนำผางแผ่นดิบไปขายที่ตลาดกลางแต่อย่างใด
เมื่อสังคมดูข่าวทางสื่อต่างๆ ซึ่งได้เห็นความอึกทึกที่ตลาดกลางยางแต่ละแห่งแล้วทึกทักเอาว่า พวกที่นำยางไปขายในตลาดกลางยางนั้นๆ คือ บรรดาเกษตรกร คนตัดยาง หรือเจ้าของสวนยาง โดยพวกเขานำยางไปขายได้ในราคากิโลกรัมละ 60 บาทอย่างที่เป็นข่าว เรื่องนี้จึงไม่เป็นความจริง
ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงคือ ในขณะที่ราคายางแผ่นรมควันในตลาดกลางยางขายได้ราคากิโลกรัมละประมาณ 60 บาท ชาวสวนยางที่เป็นคนตัดยางตัวจริง เสียงจริง ยังก้มหน้าก้มตาขายยางให้แก่ร้านรับซื้อยางในหมู่บ้าน ในตำบล หรืออำเภอกิโลกรัมละประมาณ 46 บาท และล่าสุด ราคาน้ำยางสดขายได้เพียงกิโลกรัมละ 38 บาทเท่านั้น นี่คือข้อเท็จจริงที่ชาวสวนยางได้รับ
จึงเป็นที่เรื่องที่ต้องทำความเข้าใจความคิดของบรรดาเสนาบดี และเหล่าผู้นำชาวสวนยางที่บางคนตัดยางไม่เป็น และบางคนไม่มีสวนยางแม้แต่ต้นเดียว แต่มีผลประโยชน์อื่นๆ ในการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อชาวสวนยางที่ออกมากล่าวถึงการแก้ปัญหาของรัฐบาลที่ทำให้ราคายางสูงขึ้นด้วยการให้ซื้อยางในตลาดกลางยาง เพื่อเป็นการชี้นำตลาด โดยหวังดึงให้ราคายางแผ่นดิบ และน้ำยางสดมีราคาแพงขึ้น
แม้ที่ผ่านมา มีการซื้อยางในราคาสูงขึ้นโดยใช้กลไกตลาดกลางยางและสหกรณ์เพื่อชี้นำราคา แต่ก็ยังพบว่า ราคายางแผ่นดิบและน้ำยางสดที่ชาวสวนยางขายได้ กลับไม่ได้กระเตื้องขึ้นตามราคารับซื้อที่ตลาดกลางยาง และที่สหกรณ์แต่อย่างใด ขณะที่กลุ่มทุนเจ้าของโรงรมต่างได้รับอานิสงส์จากการทุ่มเงินเป็นหมื่นๆ ล้านบาทตามนโยบายมูลภัณฑ์กันชน และนโยบายอื่นๆ อีกหลายรูปแบบชนิดรวยกันจนพุงปลิ้น
ในประการต่อมา นอกจากเจ้าของสวนยาง และลูกจ้างตัดยางจะไม่ได้อานิสงส์อะไรเลยจากราคายางกิโลกรัมละ 80 บาท ในอีก 1 เดือนข้างหน้าตามคำประกาศิตของ พล.อ.ประวิตร แล้ว เวลานี้ฤดูกาลก็กำลังย่างกรายเข้าสู่หน้าแล้ง หรือฤดูยางผลัดใบ ซึ่งจะเริ่มราวเดือนมีนาคม 2558 เมื่อถึงเวลานั้นชาวสวน และคนตัดยางกลับมีแต่จะต้องขาดรายได้กันจำนวนมากและถ้วนหน้า เนื่องเพราะไม่สามารถที่จะตัดยางได้ในหน้าแล้ง
แต่สำหรับกลุ่มนายทุน หรือเจ้าของโรงรมยางแล้ว เวลานี้หากพวกเขาไล่ซื้อยางแผ่นดิบกิโลกรัมละ 46 บาท และน้ำยางสดกิโลกรัมละ 38 บาท จากชาวสวนยางตุนไว้ เมื่ออีก 1 เดือนราคาทะยานไปที่กิโลกรัมละ 80 บาท ตามการการันตีของ พล.อ.ประวิตร ส่วนต่างของกำไรมีจึงแต่จะทบเท่าทวีคูณเพิ่มพูนขึ้น
ดังนี้แล้ว นโยบายในการแก้ปัญหาราคายางทั้งหมดทั้งปวงที่รัฐบาลชุดนี้ได้พยายามทำมาตลอด ซึ่งสังคมต่างเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้ทำอย่างจริงใจแล้วนั้น แต่สุดท้ายแล้วเป็นการทำเพื่อชาวสวนยาง หรือคนตัดยางตัวจริง หรือทำเพื่อนายทุนที่ยึดกุมกลไกของการตลาดไว้ในมือกันแน่
หรือว่าชาวสวนยาง และลูกจ้างตัดยางยังต้องกลายเป็น “เหยื่อ” ของระบบกลไกการแก้ปัญหาราคายางต่อเนื่องไป เป็น “บ่อเงินทอง” กลุ่มทุนได้มีโอกาสควักล้วงเองผลประโยชน์ เป็น “บันได” นักแสวงหาตำแหน่งได้เหยียบก้าวไต่ขึ้นไปสู่ที่สูงยิ่งๆ ขึ้น และจะเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกนานเท่านาน