xs
xsm
sm
md
lg

ประกาศิต “ประวิตร” ดันราคายาง 80 บ./กก. ใครได้ประโยชน์? / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอกสารการขายยางของชาวสวนและคนตัดยางในพื้นที่ อ.สะเดา จ.สงขลา ซึ่งจะมีราคาที่ขายได้จริงกำกับไว้ในแต่ละวันที่นำยางไปขายให้กับพ่อค้าในพื้นที่ จากวันที่ 29/12/2557 ราคาที่ขายได้อยู่ที่ 26.28 บาท/กก. เป็นในวันที่ 07/01/58 อยู่ที่ 34.68 บาท/กก.
 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์  มณีพิลึก
 
การแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำของรัฐบาล ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่มีผลกระทบต่อค่าครองชีพและการดำรงชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยางนั้น ล่าสุด ที่เห็นและเป็นข่าวทางสื่อต่างๆ คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่นั่งหัวโต๊ะประชุมร่วมกับพ่อค้ายางรายใหญ่ในประเทศ โดยเฉพาะในภาคใต้ที่รู้จักกันในชื่อ “5 เสือ” วงการยางไทย
 
หลังการประชุมได้มีการแถลงข่าวจาก พล.อ.ประวิตร ว่า ปัญหาราคายางตกต่ำเป็นเรื่อง “กล้วยๆ” และในอีก 1 เดือนข้างหน้าราคายางจะถีบตัวขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 80 บาท เพราะผู้ค้ายางรายใหญ่รับปากแล้วว่า จะทำการลุยซื้อยาง โดยรัฐบาลจะเป็นผู้ใช้เงินกู้เพื่อใช้ในการชี้นำตลาดให้ราคายางสูงขึ้น
 
ในฐานะลูกชาวสวนยางที่เติบโตมาจากการ “ตัดยาง” เพื่อส่งตัวเองให้เรียนหนังสือจนจบ และมีงานทำอย่างในทุกวันนี้ และในฐานะของ “คนใต้” ที่รู้ดีว่าเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชีวิตของคนใต้ และเศรษฐกิจโดยรวมของภาคใต้อยู่ได้เพราะ “ราคายาง” จึงรู้สึกดีใจเป็นอย่างมากที่ทราบว่าในอีก 1 เดือนข้างหน้า ราคายางจะทะยานถึงกิโลกรัมละ 80 บาท
 
และที่ดีใจยิ่งกว่าคือ เพิ่งรู้ว่าเรื่องของการทำให้ยางขึ้นราคาเป็นเรื่อง “กล้วยๆ” ไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยากอย่างที่ นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ซึ่งรัฐบาลส่งเกี้ยวไปเชิญมารับตำแหน่งเพื่อให้แก้ปัญหาราคายางโดยเฉพาะเขาว่าไว้
 
เสียดายเวลาตั้ง 2-3 เดือนมาแล้วที่นายอำนวย พยายาม “ปล้ำผีลุก ปลุกผีนั่ง” ต่อการแก้ปัญหาราคายาง เพื่อให้เกษตรกรขายได้ในราคากิโลกรัมละ 60 บาท นี่ถ้า พล.อ.ประวิตร เรียก “5 เสือ” พ่อค้ายางในภาคใต้ไป ทำความเข้าใจตั้งแต่เกิดปัญหาราคายางตกต่ำ ปานนี้เกษตรกรทั้งเจ้าของสวน และลูกจ้างตัดยางก็ไม่ต้องถูกยึดรถยนต์ ไม่ต้องถูกผัดผ่อนหนี้สิน หรือไม่ต้องอยู่อย่าง “เสดสา” อย่างที่เป็นอยู่เวลานี้
 
ที่เขียนถึงเรื่องนี้ไม่ใช่ไม่เชื่อว่าพี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์อย่าง พล.อ.ประวิตร จะทำในสิ่งที่พูดไม่ได้ เพียงแต่มีสิ่งที่ของทำความเข้าใจต่อผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการแก้ปัญหาราคายางให้เข้าใจถึงวิถีชีวิตของชาวสวนยาง ให้เห็นถึง “แก่นแท้” เพื่อที่จะได้เห็น “ของจริง” และจะได้แก้ปัญหาได้ถูกต้อง
 
ประเด็นแรกชาวสวนยางประกอบด้วยคน 2 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกคือ เจ้าของสวนยาง ซึ่งมี 2 ประเภทคือ เจ้าของสวนรายเล็กที่ทำหน้าที่ตัดยางเอง กับเจ้าของสวนรายใหญ่ที่จ้างลูกจ้างเป็นผู้ตัดยาง
 
เจ้าของสวนทั้งรายเล็ก และรายใหญ่นั้นส่วนใหญ่นำน้ำยางที่กรีดมาได้ไปทำ “ยางแผ่นดิบ” หรือไม่ก็ขายเป็น “น้ำยางสด” ไม่ได้ทำ “ยางแผ่นรมควัน” เจ้าของสวนเหล่านี้ไม่รู้จัก “ตลาดกลางยาง” และไม่สามารถนำยางแผ่นดิบ และน้ำยางสด หรือแม้กระทั่ง “ขี้ยาง” เข้าไปขายในตลาดกลางยางได้ กล่าวคือ ใครอยู่ที่หมู่บ้านไหน ตำบลไหน อำเภอไหน พวกเขาก็ขายให้แก่ร้านรับซื้อยาง หรือจุดรับซื้อน้ำยางสดที่นั่น
 
ในขณะที่การแก้ปัญหาของรัฐบาล หรือของกระทรวงเกษตรฯ จะเน้นย้ำใน “ราคาที่ตลาดกลางยาง” ซึ่งเป็นรับซื้อยางแผ่นรมควันชั้น 1 ชั้น 2 และชั้น 3 โดยตลาดกลางทั้งที่หาดใหญ่ สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ต่างก็เป็นตลาดของ “นายทุนเจ้าของโรงรมยาง” ผู้ซึ่งซื้อยางแผ่นดิบจากชาวสวนยางในราคากิโลกรัมละประมาณ 40 บาท เพื่อนำไปแปรสภาพเป็นยางแผ่นรมควัน และเป็นตลาดของ “สหกรณ์” ต่างๆ ที่รับซื้อน้ำยางสดจากเกษตรกรมาผลิตเป็นยางแผ่นรมควัน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และส่งขายที่ตลาดกลางยางอีกทอดหนึ่ง
 
ทั้งนี้ ที่ตลาดกลางยางไม่ว่าจะเป็นที่ไหนๆ สิ่งที่เราเห็นกันจนชินตาคือ จะมีรถบรรทุกยางแผ่นที่ผ่านการรมควันแล้ววิ่งเข้าไปขาย ไม่ว่าจะเป็นรถบรรทุก 10 ล้อ 6 ล้อ หรือแม้แต่รถกระบะ 4 ล้อ เราไม่เคยเห็นมอเตอร์ไซค์ของคนตัดยางนำผางแผ่นดิบไปขายที่ตลาดกลางแต่อย่างใด
 
ดังนั้น จึงอยากจะทำความเข้าต่อผู้ที่เห็นข่าว หรือดูข่าวทางสื่อต่างๆ ที่เห็นความอึกทึกที่ตลาดกลางยางต่างๆ แล้วทึกทักเอาว่า พวกที่นำยางไปขายนั่นคือ เกษตรกร คนตัดยาง เจ้าของสวนยาง โดยพวกเขานำยางไปขายได้ในราคากิโลกรัมละ 60 บาทอย่างที่เป็นข่าว
 
มันจึงเป็นเรื่องที่เราต้องยอมรับความจริงตามที่ นายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรฯ ที่เคยประกาศว่า ในเดือนมกราคม 2558 จะได้เห็นราคายางกิโลกรัมละ 60 บาท ซึ่งเป็นความจริงตามที่ได้ประกาศ เพราะขณะนี้ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ในตลาดกลางยางขายได้ในราคากิโลกรัมละกว่า 60 นิดๆ ตามที่ได้การันตีเอาไว้ ซึ่งก็เป็นมาตั้งเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2557 ที่ผ่านมาแล้ว
 
แต่ในข้อเท็จจริงในขณะที่ราคายางแผ่นรมควันในตลาดกลางยางขายได้ราคากิโลกรัมละ 60 บาท ชาวสวนยางที่เป็นคนตัดยางตัวจริงเสียงจริงยังก้มหน้าก้มตาขายยางให้แก่ร้านรับซื้อยางในหมู่บ้าน ในตำบล หรืออำเภอกิโลกรัมละประมาณ 46 บาท และล่าสุด ราคาน้ำยางสดขายได้เพียงกิโลกรัมละ 38 บาทเท่านั้น นี่คือข้อเท็จจริงที่ชาวสวนยางได้รับ
 
จึงเป็นที่เรื่องที่ต้องทำความเข้าใจต่อ “ศัพท์แสง” ของเสนาบดีหลายๆ ท่าน และเหล่าผู้นำชาวสวนยางที่บางคนตัดยางไม่เป็น และบางคนไม่มีสวนยางแม้แต่ต้นเดียว แต่มีผลประโยชน์อื่นๆ ในการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อชาวสวนยางที่ออกมากล่าวถึงการแก้ปัญหา เพื่อทำให้ราคายางสูงขึ้นด้วยการให้ซื้อยางในราคาที่สูงขึ้นในตลาดกลางยาง เพื่อเป็นการ “ชี้นำตลาด” เพื่อดึงให้ราคายางแผ่นดิบ และน้ำยางสดมีราคาแพงขึ้น
 
แต่ที่ผ่านมา มีการซื้อยางในราคาสูงโดยใช้กลไกตลาดกลางยาง และสหกรณ์เพื่อชี้นำราคา เท่าที่เห็นด้วยการลงพื้นที่และขอดู “ใบเสร็จ” การขายยางของคนตัดยาง หรือของเจ้าของสวนยางพบว่า ราคายางแผ่นดิบและน้ำยางสดไม่ได้ “กระเตื้องขึ้น” ตามราคารับซื้อที่ตลาดกลางยาง และที่สหกรณ์แต่อย่างใด
 
ในขณะที่ “กลุ่มทุน” เจ้าของโรงรมต่างได้รับอานิสงส์จากการทุ่มเงินเป็นหมื่นๆ ล้านบาทตามนโยบาย “มูลภัณฑ์กันชน” และอื่นๆ อีกหลายรูปแบบ เพื่อชี้นำตลาดด้วยการซื้อยางแผ่นดิบ และน้ำยางสดในราคาถูก แล้วนำมาแปรรูปเป็นยางแผ่นรมควัน ก่อนจะนำไปขายที่ตลาดกลางยางทำให้ได้ส่วนต่างจน “พุงปลิ้น” ส่วนเจ้าของสวนยาง หรือคนรับจ้างตัดยางก็ต้อง “จำนน” เพราะไม่สามารถนำน้ำยางไปทำยางแผ่นรมควัน เพื่อที่จะได้ขายในราคาที่แพงๆ ในตลาดกลางยางอย่างที่เป็นอยู่
 
และอีกประเด็นหนึ่งที่ขอแสดงความเสียใจต่อเจ้าของสวนยาง และลูกจ้างตัดยาง ซึ่งจะไม่ได้อานิสงส์อะไรเลยจากราคายางกิโลกรัมละ 80 บาทในอีก 1 เดือนข้างหน้า ตามคำประกาศิตของ พล.อ.ประวิตร เพราะเวลานี้กำลังเข้าสู่หน้าแล้ง หรือเข้าสุ๋ฤดูยางผลัดใบในเดือนมีนาคม 2558 ที่จะถึงนี้
 
ดังนั้น ถ้าในเดือนมีนาคมราคายางทะยานไปสู่กิโลกรัมละ 80 บาท ผู้ที่ได้รับผลบุญครั้งใหญ่จึงคือ “กลุ่มนายทุน” หรือ “เจ้าของโรงรมยาง” ที่ไล่ซื้อยางแผ่นดิบ และน้ำยางสดในราคากิโลกรัมละ 38-46 บาท ซึ่งในขณะนี้ได้กว้านไปตุนไว้เพื่อที่จะนำไปทำเป็นยางแผ่นรมควัน และขายให้ตลาดกลางใน “ราคาชี้นำ” ตามนโยบายของรัฐบาลแล้ว
 
คำถามคือ “นโยบายในการแก้ปัญหาราคายาง” ทั้งหมดทั้งปวงที่รัฐบาลชุดนี้ได้พยายามทำมาโดยตลอดนับตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศ และเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ได้ทำอย่างจริงจัง และจริงใจ สุดท้ายเป็นการทำเพื่อ “ชาวสวนยาง” ตัวจริง หรือทำเพื่อ “นายทุน” ที่ยึดกุมกลไกของการตลาดไว้ในมือกันแน่
 
หรือชาวสวนยางรายย่อยที่เป็นเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศ และลูกจ้างตัดยางที่เป็นรากหญ้าอย่างแท้จริง พวกเขายังต้องกลายเป็น “เหยื่อ” ของระบบทุน และเป็น “บันได” เพื่อให้กลุ่มผู้หาผลประโยชน์ และแสวงหาตำแหน่งของการเป็นผู้นำเหยียบก้าวขึ้นไปสู่สิ่งที่ต้องการอย่างที่เกิดขึ้นแล้วในห้วงเวลานี้
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น