ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - มรภ.สงขลา จับมือ 14 ภาคีเครือข่าย เตรียมจัดประชุมวิชาการระดับชาติ ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ครั้งที่ 3 ชูแนวคิดพัฒนาคุณชีวิตตามโจทย์ปัญหาชุมชน กระตุ้นอาจารย์ นักวิจัย นิสิตนักศึกษา และประชาชนทั่วไปร่วมเผยแพร่องค์ความรู้ใหม่
วันนี้ (2 มี.ค.) นายบรรจง ทองสร้าง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงโครงการประชุมวิชาการระดับชาติ ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 28-29 พฤษภาคม 2558 ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติฯ มรภ.สงขลา ว่าเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สื่อสารกับสังคม และขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ เพื่อสร้างพลังพลเมือง พลังชุมชนท้องถิ่นลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา นำไปสู่การขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่นการจัดการตนเอง รวมทั้งการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาได้อย่างยั่งยืน
กิจกรรมในการประชุมดังกล่าวประกอบด้วย เวทีสมัชชา เวทีประชุมวิชาการนำเสนอผลงานในรูปแบบบทความ และโปสเตอร์ นิทรรศการตลาดนัดความรู้บทเรียนความสำเร็จของชุมชนท้องถิ่น การแข่งขันประกวดภาพถ่าย และโลโก้ของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และท่องเที่ยวศึกษาวิถีชีวิตลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ซึ่งการบริหารจัดการลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาอย่างบูรณาการ ต้องอาศัยการทำงานจากทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมร่วมกัน ให้สอดคล้องต่อบริบทของชุมชนท้องถิ่น โดยใช้กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการมีส่วนร่วมของชุมชน
นายบรรจง กล่าวว่า พื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางกายภาพ ชีวภาพ และวัฒนธรรม ซึ่งในฐานะที่ มรภ.สงขลา เป็นแกนนำองค์กรทางสถาบันการศึกษา ต้องการที่จะสนับสนุนการสร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเสริมพลังชุมชนอย่างต่อเนื่อง จึงได้ร่วมกับองค์กรภาคีอื่นๆ อีก 14 แห่ง ได้แก่ มรภ.สงขลา มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช วิทยาลัยชุมชนสงขลา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น) มูลนิธิทักษิณคดีศึกษา สภาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา มูลนิธิรากแก้ว การท่องเที่ยวและกีฬา ภาคีคนรักสงขลา สถาบันศานติธรรม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ร่วมกันจัดประชุมวิชาการระดับชาติลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นการประชุมต่อเนื่องมาจากปี พ.ศ.2557 ที่สถาบันการศึกษาขั้นสูงของรัฐในพื้นที่ลุ่มน้ำได้ร่วมกันจัดทำแผนแม่บทลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาระหว่างปี พ.ศ.2556-2559 เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา และพัฒนาคุณชีวิตของประชาชนตามโจทย์ปัญหาของชุมชน โดยสร้างแรงกระตุ้นให้อาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการ นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไปได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเผยแพร่องค์ความรู้ใหม่ๆ ให้แก่ชุมชน พร้อมทั้งรับรู้ถึงสภาพปัญหาที่แท้จริงจากชาวบ้านในชุมชน เพื่อจะได้ช่วยหาทางแก้ไขต่อไป