xs
xsm
sm
md
lg

มรภ.สงขลา จัดประชุม IMT-GT สานความร่วมมือวัฒนธรรม ไทย อินโดฯ มาเลย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการระดับนานาชาติ IMT-GT ผสานความร่วมมือ 3 ประเทศ ไทย อินโดฯ มาเลย์ ร่วมอนุรักษ์ 6 เมืองเก่า ฟื้นมรดกทางวัฒนธรรม ส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ

ดร.ภวิกา บุณยพิพัฒน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงโครงการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ IMT-GT 2015 International Symposium on Livable Old Town Tourism ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 28-29 พฤษภาคม 2558 ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติฯ มรภ.สงขลา ว่า สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้บรรจุเมืองสงขลาและภูเก็ตเป็นจังหวัดนำร่องในการยกระดับการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ภายใต้กรอบความร่วมมือสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ IMT-GT ของยุทธศาสตร์ Old Town Tourism เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยว แบ่งปันประสบการณ์ และสร้างความร่วมมือระหว่าง 6 เมืองเก่าใน 3 ประเทศ

ได้แก่ 1.เมืองสงขลา และเมืองภูเก็ตของประเทศไทย 2.เมืองปาเลมบัง และเมืองโกตาซาวาลุนโต ของประเทศอินโดนีเซีย 3.เมืองมะละกา และเมืองปีนัง ของประเทศมาเลเซีย โดยการประชุมดังกล่าวเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง มรภ.สงขลา และสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสงขลา องค์กรภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ ในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ ตลอดจนสรรหาผลงานการค้นคว้าทางวิชาการเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองเก่า ทั้งด้านการอนุรักษ์เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยว นำมาปรับใช้ในการพัฒนาเมืองเก่าสงขลา เพื่อยกระดับเมืองเก่าสงขลาไปสู่การเป็นเมืองมรดกแห่งภูมิภาคอาเซียน และเมืองมรดกโลก ร่วมกับเมืองเก่ามะละกา เมืองเก่าปีนัง และเมืองเก่าอื่นๆ ในภูมิภาคนี้

รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ กล่าวว่า การจัดประชุมวิชาการระดับนานาชาติ IMT-GT เป็นการเผยแพร่ความรู้เรื่องเมืองเก่าสงขลา และเมืองเก่าอีก 5 เมือง จาก 3 ประเทศ ช่วยสร้างโลกทัศน์ และความตระหนักในคุณค่าความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมืองที่อาศัยอยู่ กระตุ้นให้ทุกภาคส่วนร่วมกันรักษา และฟื้นฟูมรดกทางวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการพัฒนาการท่องเที่ยวร่วมกันระหว่าง 6 เมืองเก่า เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ จ.สงขลา

โดยจะมีการจัดเวทีเสวนาในหัวข้อ มองไปข้างหน้าสู่ความร่วมมือเมืองเก่าที่น่าเที่ยว และการนำเสนอผลงานวิชาการจากตัวแทนของทั้ง 3 ประเทศ สอดคล้องต่อประกาศคณะรัฐมนตรีเรื่องขอบเขตเมืองเก่าสงขลา พ.ศ.2554 ที่ประกาศให้สงขลาเป็น 1 ใน 10 เมืองเก่า และเป็น 1 ใน 2 เมืองในภาคใต้ ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดี อีกทั้งยังมีหลักฐานของงานศิลปกรรมที่บ่งบอกถึงความเป็นเอกลักษณ์ของอาณาจักรนั้นๆ
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น