โดย..ณขจร จันทวงศ์
ทุกเช้าวันอาทิตย์หากใครต้องการเปลี่ยนบรรยากาศการพักผ่อนช่วงวันหยุด ลองขับรถไปเที่ยว ‘หลาดนัดใต้โหนด’ ที่ จ.พัทลุง ดูสักครั้ง
จาก อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา หากขับรถมุ่งหน้าไปทางทิศเหนือตามถนนเพชรเกษมฝั่งขาขึ้นกรุงเทพฯ เลยตัวเมืองพัทลุง ไปไม่ถึง 15 นาที จะเข้าสู่ อ.ควนขนุน และพบสี่แยกโพธิ์ทอง (ก่อนหน้านี้มีการปิดช่องจราจรไปบางส่วน จึงเรียกว่าสามแยก) เมื่อเลี้ยวซ้ายไปตามถนนสายอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ประมาณ 10 นาที จะถึงบ้านจันนา ต.ดอนทราย อ.ควนขนุน จ.พัทลุง อันเป็นที่ตั้งของ ‘หลาดนัดใต้โหนด’
ที่นาผืนเก่าเนื้อที่มากกว่า 6 ไร่แปลงนี้ มีต้นตาลโตนดยืนต้นอยู่ทั่วพื้นที่ ภูมิลักษณะเช่นนี้พบเห็นได้ทั่วไปในย่านเกษตรกรรมบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา อู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญของปักษ์ใต้บ้านเรา
‘กนกพงศ์ สงสมพันธุ์’ นักเขียนรางวัลซีไรต์ปี 2539 เขาเกิดและเติบโตที่นี่ หลังจากนักเขียนหนุ่มตลอดกาลผู้นี้จากไป พี่น้องครอบครัว ‘สงสมพันธุ์’ และญาติสนิทมิตรสหายโดยสายเลือด และสายน้ำหมึกได้ช่วยกันพลิกฟื้นนาร้างผืนนี้เป็น ‘บ้านนักเขียน’ สถานที่อบรมบ่มเพาะฝึกนิสัยรักการอ่านการเขียนให้แก่เยาวชน ปีนี้เพิ่งจัดผ่านไปเมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา มี ‘เจน สงสมพันธุ์’ พี่ใหญ่ อดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และญาตินักเขียน ‘กลุ่มนาคร’ ร่วมกันผลักดันกิจกรรมดีๆนี้ทุกปี ในวันรำลึกการจากไปของ ‘กนกพงศ์ สงสมพันธุ์’ นักเขียนหนุ่มตลอดกาล ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 9 แล้ว
ไม่เพียงเท่านั้น นาร้างผืนนี้ยังเป็นเวทีการแสดงดนตรี และศิลปวัฒนธรรมรวมทั้งเป็นสถานที่สร้างสรรค์ผลงานของศิลปินเพลงเพื่อชีวิตภาคใต้ เป็นฐานที่มั่นของคณะใต้สวรรค์บันเทิงศิลป์ มี ‘นิยุติ สงสมพันธุ์’ เป็นนายคณะ วงดนตรีวงนี้เคยทำหน้าที่เป็นทูตวัฒนธรรมเดินทางไปแสดงให้เพื่อนบ้านอาเซียนรับชมมาแล้วหลายประเทศ
ศิลปินเพลงหลายคนซึ่งเดินทางไกลกันไม่หยุดหย่อน พวกเขาเรียกที่นี่ว่า ‘บ้านใต้โหนด’ ในฐานะที่ซุกหัวนอนอันอบอุ่นเหมือนบ้านตัวเอง และสำหรับศิลปินนักเพอร์ฟอมานซ์ ที่นี่จัดเทศกาลให้จอมยุทธ์ทั้งมือสมัครเล่น และมืออาชีพได้มาแผลงฤทธิ์กันทุกปี ในงาน ‘รวมพลคนช็อต’ ซึ่งมีการล้มแชมป์กันทุกปี แต่กิจกรรมที่เกิดขึ้นที่นี่ยังไม่หมดแค่นี้
“ยังมีพื้นที่ว่างด้านหน้าที่เป็นลานจอดรถ เราเลยมาคิดว่าน่าจะใช้ที่ว่างตรงนั้นให้มีประโยชน์แก่ชาวบ้านที่นี่ ให้ชาวบ้านแถวนี้ได้มีส่วนร่วมด้วยน่าจะเป็นการดี”
‘นิยุติ สงสมพันธุ์’ นายคณะใต้สวรรค์บันเทิงศิลป์ เปรยผ่านแก้วกาแฟในเช้าวันหนึ่ง
“สังเกตเห็นว่าชาวบ้านแถวนี้นิยมปลูกพืชผักสวนครัวกันทุกบ้าน และก็มีการแลกเปลี่ยนกันมานานแล้ว เช่น ใครปลูกมะละกอ ก็เก็บมะละกอในตะกร้ารถมอเตอร์ไซค์ขับไปดูตามบ้านใกล้เรือนเคียงว่าจะเอามะละกอนั้นแลกกับอะไรได้บ้าง นี่เป็นวิถีที่เราคิดว่าน่าจะจัดที่ทางให้ชาวบ้านนำผักเหล่านี้ซึ่งเขาปลูกโดยไม่ใช้สารเคมีเลย ให้ได้เอามาแลกเปลี่ยนกันที่ตลาดนัดที่เราจัดพื้นที่ให้ เราอยากให้ที่นี่เป็นตลาดนัดแบบบ้านๆ ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าคุณภาพดีกันอย่างฉันมิตรเหมือนที่เขาเคยทำกันมานาน”
ผมเห็นด้วยทันที เพราะเห็นความสำเร็จมาแล้วในหลายชุมชนที่คิด และบริหารจัดการแบบนี้ ตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จด้วยดีอย่างที่หลายคนอาจจะคาดไม่ถึงคือ ชุมชนตลาดน้ำวิถีพุทธบ้านคลองแดน อ.ระโนด จ.สงขลา ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับรางวัลกินรีของ ททท.ไปแล้ว
ความตั้งใจสร้างตลาดสีเขียวของ นิยุติ สงสมพันธุ์ ได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้มีหัวใจสีเขียวรักสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมพื้นบ้าน ต่อมาไม่นาน ‘หลาดนัดใต้โหนด’ ภายใต้แนวคิดตลาดสีเขียวก็ได้ก่อรูปก่อร่างขึ้นจากการช่วยผลักดันของเครือข่ายชุมชนใน จ.พัทลุง โดยมี อ.ประไพ ทองเชิญ ผู้ประสานงานเครือข่ายกินดีมีสุข มาช่วยกันร่างรูปแบบของหลาดนัดใต้โหนดขึ้นมา
‘หลาดนัดใต้โหนด’ ก่อร่างขึ้นภายใต้ชื่อโครงการตลาดท้องถิ่น กินดี มีสุข บ้านนักเขียน กนกพงศ์ มีแนวคิด และเจตนารมณ์เพื่อเป็นสื่อกลางในการจัดกระบวนการเรียนรู้ และเผยแพร่วิถีวัฒนธรรมพื้นบ้าน อาหารพื้นถิ่นอันสอดคล้องไปกับภูมินิเวศน์ ป่า นา เล และฤดูกาลพื้นที่จังหวัดพัทลุง
มีการจัดหลักสูตรสอนการทำอาหารพื้นบ้าน สำหรับบุคคลทั่วไป และนักเรียน นักศึกษา ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และวัฒนธรรม ป่า นา เล จังหวัดพัทลุง เปิดอบรมหลักสูตรอาหารพื้นบ้าน และงานผ้าสีธรรมชาติ
“ที่นี่เป็นตลาดกลางในการรวบรวมผลผลิตด้านพืชผัก ผลไม้ ปลอดสารเคมี จากกลุ่มชุมชนในพื้นที่เครือข่ายกินดี มีสุข และพื้นที่ใกล้เคียง ตลอดจนอาหารเพื่อสุขภาพ เพื่อจำหน่ายให้แก่โรงเรียน โรงพยาบาล และกลุ่มผู้บริโภคทั่วไป” อ.ประไพ ระบุ
และเพื่อมาตรฐานของตลาด และร้านค้า บรรดาพ่อค้าแม่ค้าของ ‘หลาดนัดใต้โหนด’ ได้ร่วมกันร่างระเบียบร้านค้า ‘หลาดนัดใต้โหนด’ ขึ้นมาภายใต้คอนเซ็ปต์ “ของใช้ ของกิน งานศิลป์บ้าน บ้าน”
โดยสินค้าที่สามารถนำมาขายได้ประกอบด้วย พืชผักพื้นบ้าน และไม้ผลตามฤดูกาล รวมถึงเมล็ดพันธุ์ และกล้าไม้ ส่วนอาหารก็เน้นอาหารพื้นบ้านทั้งของหวาน ของคาว เช่น ข้าวแกงบ้านบ้าน ข้าวยำ ขนมจีน แกงคั่ว แกงส้ม แกงเผ็ด แกงเลียง และขอให้หลีกเลี่ยงการปรุงรสด้วยผง หรือซอสปรุงรสต่างๆ ส่วนขนมจะต้องเป็นขนมบ้านบ้าน ขนมทอด กวน นึ่ง จี ต้ม ตามภูมิปัญญา ใช้วัตถุดิบสดในท้องถิ่น สินค้าของใช้ในบ้าน เครื่องสานกระจูด ไม้ไผ่ หวาย เป็นต้น
ด้านการแต่งกายของแม่ค้า นุ่งผ้าถุง สวมเสื้อตามถนัด สวมผ้ากันเปื้อน และผูกมัดเก็บผมให้สะอาดเรียบร้อย ส่วนอุปกรณ์ร้านค้าห้ามใช้โฟมบรรจุอาหารเด็ดขาด
เช้าวันอาทิตย์ที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา หลังงานคอนเสิร์ตสังสรรค์รำลึกถึง กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ในคืนวันที่ 7 ก.พ.ผ่านพ้นไป ทั้งผู้ชุม และศิลปินส่วนใหญ่ยังนอนหลับคุดคู้อยู่ในเต็นท์ที่พัก ผมได้ยินเสียงความเคลื่อนไหวรอบๆ เต็นท์ที่พัก และกลิ่นอาหารโชยมาแตะจมูกจึงลุกขึ้นมาดู ก็พบว่าลานจอดรถบ้านใต้โหนด ได้เปลี่ยนสภาพเป็นหลาดใต้โหนดไปแล้ว ตามเวลานัดทุกเช้าวันอาทิตย์
บรรดาพ่อค้าแม่ค้าในชุมชนต่างนำสินค้าผลิตเองมาวางขายกันอย่างภาคภูมิใจ ไล่ไปตั้งแต่ร้านขนมจีนเส้น ทำจากแป้งข้าวสังข์หยดสีแดงสวยน่ากิน ด้วยความหิวผมหยุดกินขนมจีนที่ร้านนี้ ขณะที่ ‘ตุด นาคอน’ กับ ‘แสง ธรรมดา’ กินกันเสร็จไปยกหนึ่งแล้ว หันไปดูร้านข้างๆ ปรากฏว่า เป็นร้านขายข้าวยำสีสันน่ากินเหมือนกัน แต่มาเห็นเอาเมื่อตอนที่ไม่มีที่ว่างในท้องเสียแล้ว
นอกจากร้านของกินแล้ว หลาดใต้โหนดยังเขียวขจีไปด้วยแผงขายผักพื้นบ้านนานาชนิดที่ชาวบ้านปลูกเอง และนำมาขายอย่างคึกคัก แล้วยังมีของเล่นพื้นบ้านทำมาจากลูกตาลโตนดแห้ง ลุงเจ้าของร้านแกบอกว่า ทำเองกับมือ ร้านนี้ดึงดูดความสนใจของลูกค้าทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ได้ไม่แพ้ร้านขายของกิน และดูเหมือนลานจอดรถของบ้านใต้โหนด ได้ถูกใช้ประโยชน์ในฐานะหลาดใต้โหนดเป็นที่เรียบร้อยแล้วตามที่ ‘นิยุติ สงสมพันธุ์’ นายคณะใต้สวรรค์บันเทิงศิลป์ ตั้งใจเอาไว้ทุกประการ
เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา นับเป็นครั้งที่ 6 ที่หลาดนัดใต้โหนด ได้เปิดบริการอย่างเป็นทางการ บรรยากาศการซื้อขายสินค้ายังเต็มไปด้วยความคึกคักเหมือนทุกอาทิตย์ที่ผ่านมา
“เมื่อเรามีพื้นที่ตรงนี้ขึ้นมา สิ่งหนึ่งที่เราคิด และอยากทำตลอดมาคือ ให้พื้นที่ส่วนหนึ่งให้ประโยชน์ต่อชุมชน ตลาดสีเขียวโครงการล่าสุด คิดจากสภาพความเป็นจริงจากของที่มีอยู่แล้ว ให้ข้อมูลความรู้เพิ่มเติมถึงคุณค่าของมัน เป็นสเกลที่เราพอทำได้ (จริง) และเห็นว่าโครงการดังกล่าวภาครัฐไม่ทำให้แน่นอน ภาคประชาชนต้องทำ ดูแลกันเอง เพื่อการพึ่งพาตนเองแบบยั่งยืน เป้าหมายต่อไปจะเปิดพื้นที่ให้สินค้ามือสองเหลือใช้ ขาย หรือแลกเปลี่ยน เสริมเรื่องกิจกรรม วัฒนธรรม ให้เป็นที่พักผ่อนของครอบครัวในวันหยุด กึ่งตลาด ถนนคนเดิน สวนสาธารณะ พื้นที่เปิดของเด็ก ครอบครัว บ้านเรามีน้อย ภาครัฐก็ไม่ให้ความสำคัญ เพิ่มทางเลือกให้เด็ก นอกจากร้านเกม ศูนย์การค้าหรืออื่นๆ” นายคณะใต้สวรรค์บันเทิงศิลป์ กล่าวทิ้งท้าย