ปัตตานี - ศอ.บต ร่วมกับสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม จัดอบรมเรื่องความสำคัญของการผลิต และการส่งออกสินค้าฮาลาล มุ่งยกระดับมาตรฐานผู้ประกอบการ ชี้เป็นตลาดที่เติบโตได้มากเหตุจากในปี 2030 จะมีจำนวนมุสลิมทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็น 2,200 ล้านคน
วันนี้ (24 ก.พ.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ห้องน้ำพราว 1 โรงแรมซีเอส จังหวัดปัตตานี นายขวัญชาติ วงศ์ศุภรานันต์ รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมเรื่อง ความสำคัญของการผลิต และการส่งออกสินค้าอาหารฮาลาล และยกระดับผู้ประกอบการจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้รับมาตรฐานสากล โดยมี นางนิตยา พิระภัทรุ่งสุริยา รักษาการรองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร นายอัศมี โต๊ะมีนา รองประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี เจ้าหน้าที่ทีเกี่ยวข้อง รวมถึงผู้เข้ารับการอบรมเข้าร่วมกว่า 100 คน
นายขวัญชาติ วงศ์ศุภรานันต์ รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า สินค้าอาหารนับเป็นสินค้าที่มีบทบาทอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และสร้างรายได้จากการส่งออกสินค้าอาหารของไทย เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตอาหารที่มีวัตถุดิบอุดมสมบูรณ์ ทั้งวัตถุดิบจากการเกษตร ประมง และปศุสัตว์ ขณะที่แนวโน้มการบริโภคสินค้าอาหารในประเทศ และต่างประเทศต้องการสินค้าอาหารที่มีคุณภาพได้มาตรฐานสากล และปลอดภัยต่อการบริโภค
ซึ่งมาตรฐานฮาลาลถือได้ว่าเป็นช่องทางหนึ่งที่ผู้ผลิตสามารถนำไปใช้ปฏิบัติ เพื่อผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐาน เหมาะสมแก่การบริโภค และถูกต้องตามบัญญัติของศาสนาอิสลาม ตลาดอาหารฮาลาลในปัจจุบันมีแนวโน้มของการเติมโต และการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เป็นเพราะผู้บริโภคมุสลิมที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น ปัจจุบันประชากากรมุสลิมทั่วโลกมีประมาณ 1,800 ล้านคน โดยอาศัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 300 ล้านคน เอเชียใต้ 400 ล้านคน เอเชียเหนือ 100 ล้านคน และคาดว่า ภายในปี 2030 จะมีจำนวนมุสลิมทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็น 2,200 ล้านคน และคิดเป็นร้อยละ 29.4 ของจำนวนประชากรทั้งโลก ตลาดอาหารฮาลาลในโลกนับเป็นตลาดใหญ่มีมูลค่าประมาณ 6,000,000-8,000,000 ล้านบาท
ดังนั้น การดำเนินกระบวนการผลิตอาหารฮาลาลอย่างถูกต้องตามบทบัญญัติศาสนาอิสลาม เพื่อกระตุ้น และสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าอาหารฮาลาลไทยจะส่งผลต่อการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดให้มากขึ้น ซึ่งประชากรมุสลิมเหล่านี้ต้องการอาหารที่อนุญาตให้บริโภคได้ ดังนั้น ประเทศไทยในฐานะที่เป็นผู้ส่งออกอาหารที่มีศักยภาพรายหนึ่งของโลก จึงต้องสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันการผลิต และส่งออกอาหารฮาลาล