xs
xsm
sm
md
lg

ผอ.ตลาดกลางยางนครศรีฯ เร่งจัดระเบียบรับซื้อยาง หลังเกิดปัญหายางล้นตลาด!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นครศรีธรรมราช - ผอ.ตลาดกลางยางพารานครศรีธรรมราช เร่งจัดระเบียบการรับซื้อยางเข้าโครงการของรัฐบาล หลังจากเกษตรกรแห่นำยางแผ่นดิบมาขายจนเกิดปัญหาล้นตลาดอย่างหนัก

วันนี้ (19 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงายว่า ที่ตลาดกลางยางพารานครศรีธรรมราช ต.จันดี อ.ฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหายางทะลักเข้ามาจนล้นพิกัดการรองรับได้ โดยยางแผ่นที่รอส่งอยู่บนรถกระบะ 4 ล้อ 6 ล้อ และรถบรรทุก 10 ล้อ กว่า 100 คัน จอดเต็มลานจอดรถของตลาดกลาง แต่ละคันต้องจอดรอมากกว่า 2 สัปดาห์ ส่งผลให้ยางที่รอการตรวจคุณภาพ เสื่อมสภาพ คัดแยกได้ยาก เพราะรถบางคันนำยางมาจอดตากแดดนานเป็น 10 วัน ทำให้แผ่นยางติดกัน จึงการคัดแยกได้เพียง 400 ตันต่อวันเท่านั้น ขณะที่ปริมาณยางยังคงไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และมีการสะสมรอส่งมากกว่า 5 พันตันแล้ว

นายสุธี อินทรสกุล ผู้อำนวยการตลาดกลางยางพาราจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้ตลาดกลางจัดระเบียบการรับซื้อยางเพื่อให้อำนวยความสะดวกแก่เกษตรกรนำยางแผ่นดิบเข้ามาขายได้ก่อน และให้รับยางของพ่อค้าเป็นลำดับถัดไป ส่วนยางแผ่นรมควันให้รับยางของสถาบันเกษตรกร แล้วตามด้วยโรงรมเอกชน เป็นการปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล

ขณะนี้อยู่ในช่วงการจัดระเบียบทั้งระบบ ต้องใช้เวลา 3-4 วัน จะดำเนินการให้เสร็จเรียบร้อย จากนั้นสัปดาห์หน้าจะเปิดรับซื้อไม่ให้ยางตกค้าง ตลาดกลางรับยางได้ตั้งแต่ 400-700 ตันต่อวัน แต่เนื่องจากราคายางรับซื้อสูงกว่าท้องถิ่น จูงใจให้โรงรมเอกชน และพ่อค้านำยางแผ่นรมควัน และยางแผ่นดิบเข้ามาขายเป็นจำนวนมากจนล้น จึงต้องวางระบบการจัดการใหม่ทั้งหมด

“ส่วนการระบายยางเป็นเรื่องขององค์การสวนยาง ตลาดกลางมีหน้าที่รับซื้อยาง เมื่อตกลงราคาเสร็จแล้ว องค์การสวนยางซึ่งเป็นผู้ประมูลรายใหญ่จะมารับยางไปดำเนินการต่อไป ส่วนการตั้งตลาดเครือข่ายของตลาดกลางยางพารานครศรีธรรมราชในจังหวัดต่างๆ จะช่วยให้เกษตรกรที่เป็นเครือข่ายของสถาบันเกษตรกรของ สกย.ขายยางเข้าโครงการของรัฐบาลได้สะดวก โดยไม่ต้องขนยางมาขายที่ตลาดกลาง ขอให้ทำยางให้มีคุณภาพมาตรฐาน จะได้ราคาประมูลดี” นายสุธี กล่าว

วันเดียวกัน นายอรุณ เลิศวิไลย์ ผู้อำนวยการองค์การสวนยาง เดินทางมาประชุมเจ้าหน้าที่ที่องค์การสวนยาง (อสย.) อ.นาบอน จ.นครศรีธรรมราช ปฏิเสธที่จะเปิดเผยข้อมูลหลังจากเมื่อ 2 วันก่อน มีกำลังทหารเข้ามาขอข้อมูลเกี่ยวกับโครงการต่างๆ ขององค์การสวนยาง รวมทั้งการสอบถามถึงกรณีเงินไม่ถึงมือเกษตรกรอย่างแท้จริง ขณะที่เกษตรกรชาวสวนยางมีข้อสงสัยว่าตลาดกลางไม่ค่อยซื้อยางจากเกษตรกร แต่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางที่มารับซื้อเพียง กก.ละ 45-48 บาทเท่านั้น เงินส่วนต่างจึงตกอยู่ที่พ่อค้าคนกลางโดยยังไม่สามารถแก้ไขได้
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น