xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าภูเก็ตยันจัดพื้นที่ 10 % ตั้งร่ม-เบาะห้ามจับจอง-แรงงานส่งคนฟังผู้ประกอบการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวภูเก็ต - จัดระเบียบชายหาดภูเก็ต ยังวุ่น ล่าสุดผู้ว่าควงทุกหน่วยแจงครั้งสุดท้ายแนวปฏิบัติ ขณะที่กรมจัดหางาน ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ติดตามปัญหาผู้ได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบ ขณะที่ผู้ประกอบการยืนยันนักท่องเที่ยวอยากได้เตียง ด้านอดีต ส.ว.ภูเก็ตวอนสื่อทำความเข้าใจการจัดระเบียบชายหาดไม่อยากให้มีการกลับมายึดครองชายหาด

เมื่อวานนี้ ( 17 ก.พ.) ที่หาดป่าตอง จ.ภูเก็ต นายพ่วง สองนาม นักวิชาการแรงงานชำนาญการ สำนักจัดหางานจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่สำนักงานแรงงานฯ ลงพื้นที่รับฟังปัญหาจากผู้ประกอบการบนชายหาดทุกสาขาอาชีพ เพื่อนำปัญหาเข้าที่ประชุมและแก้ปัญหาผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการจัดระเบียบชายหาด โดยมี นายพลัฎ จันทรโภคิณ ประธานชมรมผู้ประกอบการบริการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต และผู้ประกอบการชายหาด ให้ข้อมูล

นายพ่วง สองนาม นักวิชาการแรงงานชำนาญการ สำนักงานจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ว่า เนื่องจากผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมเรื่องการประกอบอาชีพ และการขอให้บรรเทาความเดือดร้อนไปยังสำนักพระราชวัง และสำนักพระราชวังได้มีคำสั่งให้กระทรวงแรงงาน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงเข้ามาดำเนินการตรวจสอบก็และแก้ปัญหาบรรเทาความเดือดร้อน โดยมีการลงพื้นที่รับฟังปัญหาความเดือดร้อนผู้ประกอบการชายหาด 3 แห่ง ได้แก่ หาดกะรน ต.กะรน อ.เมืองภูเก็ต หาดป่าตอง ต.ป่าตอง อ.กะทู้และหาดกมลา ต.กมลา อ.กะทู้ ก่อนจะนำปัญหาทั้งหมดรายงานไปยังที่ประชุมจังหวัด และกระทรวงแรงงานเพื่อร่วมหาทางช่วยเหลือผู้ประกอบการ ในการหาแนวทางพัฒนาฝีมือแรงงาน การฝึกอาชีพใหม่ หรืออื่น ที่ผู้ประกอบการสนใจ

ด้านนายพลัฎ จันทรโภคิณ ประธานชมรมผู้ประกอบการบริการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ภายหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจลงมาห้ามนักท่องเที่ยวนำเตียงลงไปตั้งบริเวณชายหาด ทำให้นักท่องเที่ยวบางส่วนไม่พอใจการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ นักท่องเที่ยวบางรายแจ้งว่าจะไม่กลับมาเที่ยวที่ภูเก็ตอีก บางรายทราบข่าวก็เลื่อนและยกเลิกการเดินทางไปแล้วจำนวนมาก จึงอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีการทบทวนมาตรการ เพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งจะแก้อย่างไรนั้นตนเองยอมรับได้ และยอมรับเงื่อนไขมาโดยตลอด แต่คราวนี้เป็นเสียงสะท้อนที่มาจากนักท่องเที่ยวโดยตรง ต้องรีบดำเนินการ เพื่อไม่ให้การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบไปมากกว่านี้

อย่างไรก็ตามในขณะที่เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อสอบถามข้อมูลจากผู้ประกอบการ ก็มีนักท่องเที่ยวบางส่วนที่ มาร่วมพูดคุยกับสื่อมวลชนถึงความต้องการ พื้นที่สำหรับวางเตียงชายหาด เพราะไม่สะดวกที่จะนอนบนทราย เนื่องจากมีอายุมากพร้อมขอให้จังหวัดมีการทบทวนมาตรการดังกล่าว

ขณะที่นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยรองผู้ว่าฯ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต และผู้แทนผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 ร่วม แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน เพื่อทำความเข้าใจ ถึงความชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการหรือแนวทางในการบริหารจัดการหาดอย่างยั่งยืน โดยนายนิสิต กล่าวว่า หลังจากมีการหารือร่วมกันหลายฝ่ายแล้ว มีข้อตกลงร่วมกันในแนวทางของการบริหารจัดการหาดและทางจังหวัดภูเก็ตได้มีการกำหนดมาตรการหรือแนวทางขึ้นโดยคณะกรรมการบริหารจัดการหาด ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนทุกภาคส่วน การบริหารจัดการหาด มี 3 ระยะ ระยะที่ 1 การจัดระเบียบชายหาด ระยะที่ 2 การบริหารจัดการหาด และระยะที่ 3 การสถาปนาความยั่งยืนของการดำเนินการ

ระยะที่ 1 คือระยะที่เราต้องใช้มาตรการทางกฎหมาย ระยะที่ 2 ที่เราดำเนินการอยู่ในขณะนี้ คือการบริหารจัดการชายหาด ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เบื้องต้น เพื่อที่จะจัดระเบียบให้หาด มีความเป็นระเบียบร้อย มีมาตรการต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดระเบียบ มีทิศทางที่ชัดเจนที่คนส่วนมากจะได้ใช้ร่วมกัน มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบ คือคนที่มีฐานะยากจน คนพิการ คนชรา ที่เคยทำมาหากินอยู่บริเวณชายหาด เราต้องเข้ามาดูแล ไม่ได้ทอดทิ้ง วิธีการช่วยเหลือคนยากจนนั้น ก็เป็นการจัดทำพื้นที่ ที่จะให้เป็นพื้นที่พิเศษขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยว ทางจังหวัดเข้าใจดีว่า นักท่องเที่ยวมีทั้งที่มีต้องการร่ม กับไม่ต้องการร่ม นักท่องเที่ยวที่มาเป็นครอบครัว นักท่องเที่ยวที่มีอายุมาก เขาก็ต้องการร่มเงาเพื่อพักผ่อน แล้วเราเป็นหาดที่มีความสำคัญสวยงาม เราก็ต้องบริหารจัดการเพื่อเป็นทางเลือกให้กับเขา ในการที่จะดูแลเขาเวลาเขาร้อน ในการดำเนินงาน เราก็ได้จัดพื้นที่ให้เขาจำนวนไม่เกิน 10 % เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ใช้ร่ม เบาะได้ ผ้าปูได้ เสื่อได้ และกรณีนอกเหนือจากพื้นที่ 10 % ถัดออกไป นักท่องเที่ยวสามารถใช้เบาะ ใช้ผ้าปู ใช้เสื่อได้ แต่ไม่อนุญาตให้ใช้ร่มได้ การทำอย่างนี้เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่บดบังสายตาของประชาชนหรือนักท่องเที่ยวที่เขาจะไปใช้ชายหาด นี้คือความชัดเจนที่เกิดขึ้น

ถามว่าสามารถใช้เตียงได้ไหม หาดทั้งหมด เราไม่อนุญาตให้ใช้เตียง มีคำถามว่าทำไมไม่สามารถใช้เตียงได้ เพราะว่าการอนุญาตให้ใช้เตียงอาจจะหมิ่นเหม่ต่อการที่จะจับจองหรืออาจจะหมิ่นเหม่ต่อการทำผิดกฎหมายได้ตลอดเวลา และประการสำคัญที่สุด เมื่อมีเตียงแล้วก็จะเริ่มจับจอง ซึ่งก็จะขัดวัตถุประสงค์ของการจัดระเบียบหาดให้เป็นที่เรียบร้อย สิ่งที่เขาทำมาในอดีตเรื่องการจัดระเบียบตามนโยบาย คสช. สำหรับตนแล้ว เป็นสิ่งที่ดีที่จะคืนหาดให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว ซึ่งตนก็ขอยืนยันถึงการดำเนินการตรงนี้

นายนิสิต กล่าวต่อไปว่า ตนขอให้เน้นการประชาสัมพันธ์ อย่างน้อย 4 ภาษา คือไทย อังกฤษ รัสเซีย และจีน เพื่อที่จะให้ผู้ประกอบการชายหาด และให้ผู้ประกอบการโรงแรมสื่อสารให้กับนักท่องเที่ยวเข้าใจถึงการปฏิบัติ สื่อสารให้เข้าใจถึงต้นตอการจัดระเบียบหาดของเรา ตนเชื่อว่านักท่องเที่ยวจะเข้าใจในกฎกติกาของเรา และนอกจากนี้เราก็จะมีทำแนวเขตพื้นที่ให้เห็นอย่างชัดเจน จะมีการติดป้ายพื้นที่ 10 เปอร์เซ็นต์หรือสเปเชี่ยลโซน ทำเป็นสัญลักษณ์ ไปติดไว้เป็นรูปภาพ ใช้ร่มได้ก็จะเขียนว่าใช้ร่มได้ ใช้อะไรไม่ได้ก็จะกากบาทฆ่าไว้เลย เพื่อให้เกิดความชัดเจนกัน ก็จะค่อยๆ ทำ ตนเชื่อว่าการที่เราทำมาตรการบริหารจัดการชายหาด ต้องใช้ระยะเวลา คงจะไม่เสร็จภายในวันเดียว พอเราออกระเบียบแล้วคงจะเรียบร้อย เราเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ประกอบการ เปลี่ยนพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่มาซ้ำซาก เปลี่ยนพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ในการทำงาน เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมต้องใช้เวลาที่จะสื่อสาร ทำความเข้าใจ เราต้องใช้ความอดทนและความมุ่งมั่นที่จะทำเรื่องนี้ พวกเราต้องช่วยกัน ตนก็มีความมุ่งมั่นแล้วก็จะยืนหยัดที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง จะไม่มีการบิดเบี้ยวกติกา

ส่วนระยะที่ 3 คือการสถาปนาความยั่งยืน ทำอย่างไรจะให้เกิดความยั่งยืนในการบริหาร ทำอย่างไรให้หาด เป็นของคนทุกคน ทุกคนได้ประโยชน์ร่วมกัน หาดของภูเก็ตคือสิ่งที่มีค่าที่สุด วันนี้พวกเราช่วยกันลดค่าลง วันนี้เราจะทำอย่างไรให้หาดสะอาด สะดวก สบาย คือปลอดภัย วิธีการของตนคือได้จัดตั้งอาสาสมัครพิทักษ์หาด 3 เดือนแรก ปลัดอำเภอองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตั้งคนมาดูตั้งแต่เบื้องต้น ชี้แจง ประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจการใช้พื้นที่พิเศษในชายหาดที่เราได้ทำขึ้น แต่ก็ต้องมีข้อความเอกสารหลักฐานต่างๆ เราไม่เคยต้องการที่จะเห็นเจ้าหน้าที่ไปแย่งร่มนักท่องเที่ยว แย่งเตียงนักท่องเที่ยว เพราะว่าเขาคือคนที่เข้ามาทำรายได้ให้กับจังหวัด จังหวัดภูเก็ตเติบโตด้วยการท่องเที่ยว เจ้าหน้าที่ทุกคนไม่มีเจตนาจะทำอย่างนั้น แต่เราต้องรักษาระเบียบ ชุดอาสาสมัครประกอบด้วยท้องถิ่น ตำรวจ ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ช่วยกันดูแลแก้ไขปัญหา แล้วก็เชิญตัวแทนจากผู้ประกอบการโรงแรม ผู้ประกอบการชายหาดเข้ามาร่วมกัน ช่วยกันดูแลด้วยกัน คิดว่าการที่ทุกคนเข้ามาช่วยกันดูแลก็จะเกิดประโยชน์กับทุกคน และเราให้คณะกรรมการชุดอาสาสมัครรายงานผลการดำเนินงานเข้ามาทุกเดือน

ด้าน นางธันยรัศม์ อัจฉริยะฉาย อดีตส.ว.ภูเก็ต กล่าวในเรื่องเดียวกัน การจัดระเบียบชายหาดถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จังหวัดจัดระเบียบชายหาด และไม่อยากเห็นภาพที่มีการยึดครองชายหาดเหมือนเดิม การจัดโซนนิ่งก็เป็นเรื่องนี้ แต่อาจจะมีการปรับปรุงแก้ไขในบางส่วน เพื่อให้เกิดความเหมาะสมที่สุด ไม่ใช่ปล่อยให้มีการยึดชายหาดเพียงแค่คนไม่กี่คน จึงอยากให้สื่อมวลชนช่วยนำเสนอในเรื่องเหล่านี้ด้วย และเชื่อว่าการจัดโซนนิ่งไม่เป็นปัญหาสำหรับนักท่องเที่ยว

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น