ไทย - บังกลาเทศ เล็งร่างเอ็มโอยู นำเข้าแรงงานประมงทะเล - กิจการก่อสร้าง “บิ๊กเต่า” เผย จัดส่งแรงงานแบบรัฐต่อรัฐ ต้องวางแผนตั้งแต่ต้น ทั้งต้องมี บ.จัดหางานมาดำเนินการ หวั่นคุมไม่อยู่เปิดช่องสู่การค้ามนุษย์ ระบุ รัฐต้องรู้ขั้นตอนทุกอย่างของ บ.จัดหางาน
พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า นางไซดา มูนา ทัสนีม (H.E. Ms. Saida Muna Tasneem) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศประจำประเทศไทย ได้มาหารือประเด็นการจัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย กับบังคลาเทศ ในประเด็นความร่วมมือด้านการจ้างแรงงานประมงทะเลและกิจการก่อสร้าง ประเทศไทยมีประสบการณ์ในการเป็นทั้งผู้นำเข้าแรงงานต่างประเทศและส่งออกแรงงานไปทำงานในต่างประเทศอย่างถูกกฎหมายมากว่า 20 ปี ขณะเดียวกัน แรงงานผิดกฎหมายก็เข้าสู่ประเทศไทยมากขึ้น และทราบประชากรของบังกลาเทศมีความสามารถทางด้านแรงงาน แต่ว่าการจะดำเนินการร่วมกันระหว่างรัฐต่อรัฐจะต้องมีการวางแผนตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อให้การดำเนินงานด้านการนำเข้าและส่งออกแรงงานระหว่างประเทศไทย กับบังกลาเทศเป็นไปในทิศทางที่ดี โดยยินดีที่จะรับฟังข้อเสนอและร่วมมือกันต่อไป
รมว.แรงงาน กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา พบว่ามีบริษัททำงานเกี่ยวกับแรงงาน หรือบริษัทจัดหางานจะมีความเสี่ยงในการค้ามนุษย์ ซึ่งต้องระมัดระวัง เพื่อสกัดบริษัทจัดหางานที่ดำเนินการผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม การดำเนินการด้านนี้ยังต้องอาศัยบริษัทจัดหางานที่ถูกต้องตามกฎหมายเข้ามาเป็นตัวช่วยให้เกิดประสิทธิภาพของการจัดส่งแรงงานมากที่สุด ส่วนการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐต่อรัฐ ในส่วนของการบริหารในรายละเอียดจำเป็นต้องมีบริษัทจัดหางานที่จะเข้ามาดำเนินการแต่ภาครัฐต้องรับรู้ทุกขั้นตอน ทั้งนี้ ประเด็นดังกล่าวไม่ได้ห่วงอะไรมากนัก เพราะทราบดีว่าบังกลาเทศเป็นประเทศที่จัดส่งแรงงานไปหลายประเทศ
ด้าน นางไซดา กล่าวว่า อยากให้กระทรวงแรงงานเป็นผู้กำหนดแนวทางการทำงานในการดำเนินการที่ดีของการทำงานร่วมกัน จากการออกกฎกระทรวงในการคุ้มครองแรงงานประมง ทำให้บังกลาเทศเกิดความมั่นใจในการส่งแรงงานมาทำงานในประเทศไทย ส่วนเรื่องของบริษัทจัดหางานที่ไม่ดี ยืนยันว่า จะไม่เกิดการปฏิบัติที่ไม่ดีจนนำไปสู่ปัญหาการค้ามนุษย์อย่างแน่นอน
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่