xs
xsm
sm
md
lg

กกจ.ดำเนินคดีนายจ้าง 9 ราย เหตุใช้แรงงานต่างด้าวผิด กม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กกจ. เผยแนวโน้มพิสูจน์สัญชาติต่างด้าวอาจไม่ทันกำหนด มี.ค. 58 เตรียมหารือ รมว.แรงงาน ขยายเวลา ส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสถานประกอบการดำเนินคดีกับนายจ้าง 9 ราย ในกิจการก่อสร้าง - สถานบริการ ใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย 73 ราย

วันนี้ (9 ธ.ค.) นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าว ว่า ขณะนี้แรงงานทั้ง 3 สัญชาติที่ขึ้นทะเบียนได้แจ้งชื่อเพื่อขอพิสูจน์สัญชาติแล้วจำนวน 65,000 คน แบ่งเป็นสัญชาติพม่า 11,000 คน กัมพูชา 41,000 คน และลาว 13,000 คน ซึ่งในส่วนของแรงงานพม่าแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีเอกสารยืนยันตัวบุคคล ต้องยื่นเอกสารต่อสถานทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ประจำประเทศไทย จากนั้นไปทำหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) ที่จุดต่างๆ ตามแนวชายแดนไทย - พม่า และกลุ่มที่ไม่มีเอกสารจะต้องเดินทางกลับประเทศเพื่อไปทำเอกสารประจำตัวบุคคลและพาสปอร์ต

อธิบดี กกจ. กล่าวอีกว่า ส่วนแรงงานกัมพูชา ทางการกัมพูชาแจ้งว่าจะส่งเจ้าหน้าที่ชุดเคลื่อนที่เข้ามาดำเนินการเพิ่มอีก 5 ชุด ในสัปดาห์หน้าจากเดิมที่ดำเนินการอยู่ 5 ชุด ซึ่งตั้งแต่เปิดดำเนินการสามารถพิสูจน์สัญชาติไปได้แล้วจำนวนกว่า 20,000 คน และอยู่ระหว่างรอหนังสือรับรองสถานะ ขณะที่แรงงานลาว ทางการลาวแจ้งว่าจะส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาดำเนินการจำนวน 22 คน แต่ต้องหารือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงอีกครั้ง ว่า จะส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาภายในปีนี้ หรือช่วงต้นปีหน้า โดยแบ่งเป็น 2 ชุด คือ ชุดแรกจะประจำอยู่ที่ศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ (วันสตอปเซอร์วิส) ที่อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ชุดที่สองจะเป็นชุดเคลื่อนที่โดยจะเริ่มดำเนินการในจังหวัดที่มีแรงงานลาวเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ คาดว่า การดำเนินการพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ อาจจะไม่ทันตามกำหนดเวลาของประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2558 ซึ่งตนจะหารือกับ รมว.แรงงาน ว่าควรจะขยายเวลาการดำเนินการออกไปหรือไม่

นายสุเมธ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ กกจ. ทำหนังสือถึงเจ้าหน้าที่จัดหางานจังหวัดทุกจังหวัดให้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการจัดการปัญหาการใช้แรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย โดยตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ได้ออกตรวจสถานประกอบการไปแล้วจำนวน 62 แห่ง มีแรงงานเกี่ยวข้องจำนวน 2,600 คน ทั้งนี้ ได้ดำเนินคดีกับนายจ้าง 9 รายซึ่งเป็นสถานประกอบการประเภทกิจการก่อสร้างกับสถานบริการตามมาตรา 27 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 มีโทษปรับ 10,000 - 100,000 บาท ต่อการจ้างแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตการทำงานหนึ่งคนและมีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย 73 คน แยกเป็นพม่า 42 คน ลาว 3 คน กัมพูชา 16 คน และสัญชาติอื่นๆ เช่น เวียดนาม บังกลาเทศ 12 คน ซึ่งจะต้องดำเนินการตามกฎหมายคนเข้าเมืองและผลักดันกลับประเทศ

ด้าน พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงแนวคิดเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ ว่า การดูแลการทำงานของแรงงานต่างด้าวต้องคำนึงถึงสภาพในแต่ละพื้นที่ ระยะเวลาการเดินทาง ที่อาจทำให้เกิดปัญหาต่อแรงงานต่างด้าวที่จะเข้ามาดำเนินการตรวจสัญชาติและลงตราเข้า-ออก อาจต้องกำหนดวิธีการภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายซึ่งแต่ละพื้นที่แตกต่างกันการดำเนินการจึงน่าจะแบ่งเป็น 5 รูปแบบให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ โดยเบื้องต้นได้ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้พิจารณา ทั้งนี้กระทรวงแรงงานอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวตามแนวชายแดน เข้ามาทำงาน 3 ลักษณะคือ มาเช้าเย็นกลับ มาตามห้วงเวลาและตามฤดูกาล
 
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น