xs
xsm
sm
md
lg

การทำทาน : การให้สิ่งของพร้อมละกิเลส

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

การทำทานหรือการให้สิ่งของในทางพระพุทธศาสนาถือว่าเป็นที่ตั้งแห่งบุญ หรือเป็นที่มาของบุญประการหนึ่งในจำนวน 3 ประการ หรือที่เรียกบุญกิริยาวัตถุ 3 คือ

1. ทานมัย คือ การทำบุญด้วยการแบ่งปันสิ่งของ

2. สีลมัย คือ การทำบุญด้วยการรักษาศีล

3. ภาวนามัย คือ การทำบุญด้วยการเจริญภาวนา

แต่การให้ทานในทางพระพุทธศาสนาจะได้บุญมากก็ต่อเมื่อประกอบด้วยองค์ 3 ดังต่อไปนี้

1. ปฏิคาหก คือ ผู้รับเป็นผู้มีศีล

2. ทายก คือ ผู้รับเป็นผู้มีศรัทธา

3. วัตถุทาน คือ สิ่งที่ให้บริสุทธิ์คือผู้ให้ได้มาจากการประกอบสัมมาชีพ มิได้คดโกงใครมา

แต่วันนี้การทำทานหรือการให้แก่ปฏิคาหก ซึ่งมิได้เป็นผู้มีศีลตามนัยแห่งคำสอนดังกล่าวข้างต้น นำเป็นปัญหาทางสังคมนั่นคือ การให้ทานแก่คนขอทาน ทั้งนี้ด้วยเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. คนขอทานมิได้เป็นปฏิคาหก ผู้มีศีลและเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธา ดังเช่นพระภิกษุผู้มีศีลสมบูรณ์ แต่เป็นขอโดยอาศัยความพิการทางร่างกาย ไม่สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้เยี่ยงคนปกติทั่วไป และไม่มีใครเลี้ยงดูจึงอาศัยการทำทานเลี้ยงชีพ และมีผู้ให้ด้วยความสงสาร

2. แต่ขอทานในปัจจุบันมิได้มีแค่คนพิการร่างกายไม่สมประกอบเท่านั้น ยังมีคนที่อาศัยความพิการของคนอื่นขอทาน เช่น ผู้ที่มีร่างกายปกติหรือพิการเล็กน้อยได้นำเด็กหรือคนชรามาเป็นเครื่องมือในการขอ ทำให้ผู้ให้ด้วยความรำคาญในพฤติกรรม

3. เนื่องจากเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ จึงมีผู้คนที่มีเมตตา และกรุณาให้ทานเป็นจำนวนมาก ทำให้ขอทานมีรายได้ดี บางรายมีเงินเก็บเป็นหมื่น จึงเป็นเหตุจูงใจให้ขอทานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาขอทานในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก และเมื่อร่วมกับคนไทยซึ่งมีอยู่เดิมก็มากพอที่จะทำให้ผู้คนที่สัญจรไปมาเดือดร้อนรำคาญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่ไม่ต้องการให้แต่ต้องให้เพื่อตัดความรำคาญ

4. ทำเลที่ขอทานยึดเป็นที่ขอทานส่วนใหญ่จะเป็นแหล่งที่ผู้คนสัญจรไปมา เช่น สะพานลอย วัด ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยว และตลาดสด เป็นต้น

จากปัจจัย 4 ประการนี้ ปัญหาขอทานในปัจจุบันจึงเรียกได้ว่าก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้คน ซึ่งสัญจรไปมา และไม่ปรารถนาที่จะให้ ทั้งยังเป็นการทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยเสียหายในสายตาของต่างชาติด้วย และที่ยิ่งกว่านี้การที่มีขอทานดาษดื่นดังที่เป็นอยู่เป็นเสมือนการแสดงออกที่สวนทางกับ กระแสข่าวที่ว่าประเทศไทยกำลังพัฒนา และผู้คนในชาติอยู่ดีกินดีกว่าเดิมโดยสิ้นเชิง ทั้งๆ ที่ขอทานเหล่านี้ส่วนหนึ่งมาจากประเทศเพื่อนบ้าน

อะไรเป็นเหตุให้เกิดขอทานอาชีพ และจะแก้ไขป้องกันปัญหานี้ได้อย่างไร

ถ้าดูจากสภาพปัญหาที่เป็นอยู่โดยมุ่งไปที่ผู้ขอ และผู้ให้ก็จะพบว่ามีเหตุหลักๆ อยู่ 3 ประการคือ

1. คนพิการหรือทุพพลภาพในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนของประชากรที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนพิการที่มิได้เป็นมาแต่กำเนิด แต่เกิดจากอุบัติเหตุภายหลัง และมีอยู่ไม่น้อยในจำนวนที่เกิดจากสภาพที่ไม่มีมาตรฐานป้องกันดีพอ เมื่อพิการแล้วประกอบอาชีพไม่ได้ ประกอบกับขาดผู้อุปการะเลี้ยงดู

2. ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ ดังนั้นผู้คนส่วนใหญ่จะมีเมตตาและกรุณา เมื่อเห็นผู้ทุกข์ยากจึงหยิบยื่นให้ และเมื่อผู้ให้ก็จะทำให้มีผู้ขอ

3. การให้ความช่วยเหลือจากหน่วยงานในภาครัฐ เช่น กรมประชาสัมพันธ์ เป็นต้น ไม่เพียงพอและไม่ทั่วถึง จึงทำให้คนที่ตกทุกข์ต้องพึ่งตนเองด้วยการเป็นขอทาน

ส่วนประเด็นว่าจะแก้ไขอย่างไรนั้น ถ้ามองจากเหตุ 3 ประการดังกล่าวข้างต้น และแก้ไขให้สอดคล้องกับเหตุ ก็น่าจะดำเนินการได้ดังนี้

1. ดำเนินการจัดระเบียบ ดังที่รัฐบาลปัจจุบันกำลังทำอยู่ในขณะนี้

แต่ควรจะลงรายละเอียดในการดำเนินการเพิ่มเติม เช่น เมื่อควบคุมขอทานแล้วควรแยกประเภท และแก้ไขให้สอดคล้องกับความเป็นจริงดังต่อไปนี้

1.1 นำคนพิการที่พอจะมีร่างกายประกอบอาชีพได้ไปฝึกอบรมวิชาชีพ และจัดหางานให้ทำ

1.2 ผู้พิการจนไม่สามารถทำงานได้ รัฐก็ควรจัดสถานที่ให้อยู่ และเลี้ยงดูตามอัตภาพ โดยใช้งบประมาณแผ่นดินควบคู่ไปกับตั้งเป็นกองทุนช่วยเหลือคนพิการ โดยรับบริจาคประชาชนผู้เป็นผู้ให้ทานอยู่แล้วเป็นปกติ โดยเชิญชวนให้บริจาคแทนการให้ขอทานโดยตรง เพื่อตัดโอกาสในการขอให้ลดลงและหมดไป

1.3 ขอทานที่เป็นต่างชาติก็ดำเนินการส่งกลับประเทศ ดังที่ทางการได้ทำอยู่ในขณะนี้

2. เพื่อเป็นการป้องกันมิให้มีขอทานเพิ่มขึ้น ควรจะได้ทำการสำรวจคนพิการในประเทศ และหาทางช่วยเหลือผู้ที่มีแนวโน้มว่าจะมาเป็นขอทานเป็นการตัดเส้นทางการเข้ามาเป็นขอทานอาชีพ

ถ้ารัฐบาลทำได้ตามแนวทางนี้ เชื่อได้ว่าขอทานในประเทศไทยจะลดลงและหมดไปแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ประเทศไทยถือว่ารัฐบาลมองเห็นปัญหานี้ และลงมือแก้ไข ส่วนว่าจะแก้ไขได้มากน้อยแค่ไหนนั้น จะต้องรอดูต่อไป

แต่จะให้อนุมานโดยการคาดการณ์ในขณะนี้ ก็อนุมานได้ว่าจะได้ผลหรือไม่ได้ผลขึ้นอยู่กับปัจจัยดังต่อไปนี้

1. การแก้ไขปัญหานี้เป็นนโยบายต่อเนื่องยาวนานหรือไม่ ถ้ายาวนานและต่อเนื่อง รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ทำงานจริงจังปัญหาก็แก้ได้

2. แต่ถ้าไม่ต่อเนื่องยาวนาน ก็คงแก้ได้แบบเดินก้มหน้าวันไหน เอาหน้าออกไปหน้าก็ขึ้นเหมือนเดิม
กำลังโหลดความคิดเห็น