ตรัง - พบช้างล้มตายบนภูเขาในพื้นที่ จ.ตรัง โดยสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวส่งผลให้ช้างพังเพศเมียตายอีกเป็นตัวที่ 4 ในรอบ 3 เดือน ประธานกลุ่มคนเลี้ยงช้าง เตือนเจ้าของเร่งหาแหล่งน้ำให้เพียงพอ และหมั่นอาบน้ำให้ทุกวัน หวั่นช้างตายซ้ำ
วันนี้ (14 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่ามีช้างล้มตายอยู่บนภูเขา พื้นที่ ม.1 บ้านควนตัง ต.เขาปูน อ.ห้วยยอด จ.ตรัง จึงเดินทางไปตรวจสอบ พร้อมชาวบ้านในพื้นที่ที่เดินทางเข้าไปดูเป็นจำนวนมากหลังทราบข่าวมีช้างป่าล้มตายในพื้นที่
ที่เกิดเหตุอยู่ในป่าบนภูเขาสูงทางเดินลาดชัน ห่างจากถนนประมาณเกือบ 1 กิโลเมตร ซึ่งต้องเดินเท้าขึ้นไป พบช้างเพศเมีย อายุประมาณ 40 ปี น้ำหนักประมาณ 3 ตัน ล้มตายในสภาพนอนตะแคงอยู่ในป่าโดยมีสภาพยังสด และตัวยังอุ่นอยู่ ใกล้กันพบมูลช้างที่มีลักษณะเป็นก้อนปกติอยู่ในที่เกิดเหตุ และจากการตรวจสอบเบื้องต้นทราบว่า ไม่พบร่องรอยบาดเจ็บใดๆ โดยเจ้าของช้างคือ นายสิทธิชัย ชุมวงศ์ อายุ 33 ปี อยู่บ้านเลขที่ 5 ม.7 ต.ท่างิ้ว อ.ห้วยยอด จ.ตรัง กล่าวว่า ช้างตัวนี้ชื่อ พังจินดา ตนซื้อมาเลี้ยงไว้ประมาณ 7-8 เดือนที่ผ่านมา เพื่อทำงานชักลากไม้ในพื้นที่ และเพื่อบริการนักท่องเที่ยวในช่วงหน้าทัวร์ และประมาณ 10 วันที่แล้ว ตนได้นำมาพักไว้บนภูเขาแห่งนี้
เนื่องจากบริเวณดังกล่าวใกล้แหล่งน้ำ และมีอาหารสมบูรณ์ และช้างไม่ได้มีอาการเจ็บป่วย ได้ล้มตายกลางป่าโดยไม่ทราบสาเหตุ อย่างไรก็ตาม ตนได้ว่าจ้างรถแบ็กโฮให้ขุดดินฝังพังจินดาในที่เกิดเหตุ พร้อมนิมนต์พระสงฆ์ จำนวน 4 รูป มาประกอบพิธีทางศาสนา และเมื่อวานนี้ (13 ก.พ.) ควาญช้างเพิ่งนำลงมาอาบน้ำในช่วงเที่ยง แต่ช่วงบ่ายถึงค่ำชาวบ้านได้ยินเสียงพังจินดาร้องเสียงดังลั่นเป็นเวลานานแต่ไม่ทราบสาเหตุ จนกระทั่งเช้าวันนี้ (14 ก.พ.) จึงพบว่า พังจินดา ล้มตายแล้วดังกล่าว
นายสุชาติ บัวเกิด ประธานกลุ่มคนเลี้ยงช้าง จ.ตรัง เปิดเผยว่า จากสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้แหล่งน้ำตามอำเภอแห้งขอดลงเรื่อยๆ จนกระทบต่อกลุ่มคนเลี้ยงช้างเป็นอย่างมาก ซึ่งในรอบ 3-4 เดือนที่ผ่านมา มีช้างล้มใน จ.ตรัง จำนวน 4 เชือกแล้ว จึงเตือนกลุ่มคนเลี้ยงช้างให้หมั่นหาแหล่งน้ำให้ช้างลงอาบน้ำทุกวันป้องกันความร้อน และความเครียด ซึ่งช้างใน จ.ตรัง กว่า 120 เชือกขณะนี้ได้หนีภัยแล้งไปอาศัยอยู่ตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ในจังหวัดใกล้เคียง จึงเหลือประมาณ 30 กว่าเชือก ที่ยังหาแหล่งอพยพที่เหมาะสมไม่ได้ จึงต้องทำงานชักลากไม้ยางพาราอยู่ในพื้นที่ และเชื่อว่าอากาศที่ร้อนจัดในระยะนี้จะส่งผลให้ช้างเกิดอาการหงุดหงิดจนเป็นลม หรือล้มลง อีกหากเจ้าของช้างละเลยในการให้น้ำ และอาหารที่เพียงพอในช่วงหน้าแล้งนี้