ศูนย์ข่าวภูเก็ต - บริษัท โตโยอินชัวร์รันซ์โบรคเกอร์ และบริษัท ทิพยประกันภัย มอบสินไหมทดแทนช้างที่เอาประกันภัยล้มแล้ว 2 เชือก ที่ภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี พร้อมเดินหน้าขายประกันช้างทั่วประเทศ หวังให้ช้างมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ต้องเร่ร่อนหาเงินเลี้ยงควาญช้าง เผยทั่วประเทศทำประกันแค่ 10%
เมื่อเวลา 09.00 น. วันนี้ (15 ก.ค.) นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานจ่ายสินไหมประกันภัย “อนุรักษ์ช้าง” ระหว่าง บริษัท โตโยอินชัวร์รันซ์โบรคเกอร์ จำกัด และ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ให้แก่เจ้าของช้าง 2 เชือก ในจังหวัดภูเก็ต และเขาสก จ.สุราษฎร์ธานี โดยมี นายสุทานัน คูตระกูล กรรมการผู้จัดการ นายทศพล ตันสกุล ผู้ประสานงานพื้นที่ภาคใต้ บริษัท โตโยอินชัวร์รันซ์โบรคเกอร์ จำกัด และตัวแทนจาก บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เข้าร่วม ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดภูเก็ต
โดยช้างทั้ง 2 เชือกที่ได้รับสินไหมทดแทน ประกอบด้วย ช้างชื่อ พลายพระเอก อายุ 50 ปี เจ้าของชื่อ นายอำนาจ เดชะ ทำประกันเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2556 ทุนประกัน 500,000 บาท ช้างล้มเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2557 ทำประกันได้ 7 เดือน 12 วัน บริษัทฯ จ่ายสินไหมทดแทน จำนวน 500,000 บาท เป็นช้างจากปางช้างที่เขาสก จ.สุราษฎร์ธานี และช้างชื่อ แม่ใหญ่ อายุ 55 ปี เจ้าของชื่อ นายสุรชัย พิมพ์ยา ทำประกันไว้เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2556 ทุนประกันเชือกละ 500,000 บาท ช้างล้มเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2557 ทำประกันได้ 6 เดือน 20 วัน จ่ายสินไหมทดแทน จำนวน 500,000 บาท จากปางช้างซีวิว ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต
การจ่ายสินไหมทดแทนให้แก่เจ้าของช้างทั้ง 2 เชือกในครั้งนี้ เป็นไปตามกรมธรรม์เบ็ดเสร็จ และแบบของประกันภัยที่ทำ “อนุรักษ์ช้าง” โดยมีบริษัท โตโยอินชัวร์รันซ์โบรคเกอร์ จำกัด ที่เป็นบริษัทขยายประกันภัย และบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทรับประกันภัย ซึ่งช้างทั้ง 2 เชือกล้มจากอาการป่วย
นายสุทานัน คูตระกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โตโยอินชัวร์รันซ์โบรคเกอร์ จำกัด กล่าวว่า การรับทำประกันภัยช้าง อนุรักษ์ช้าง นั้น เกิดจากความคิดที่ไม่ต้องการให้ช้างต้องออกมาเร่ร่อนเพื่อที่จะหาเงินเลี้ยงเจ้าของช้าง และควาญช้าง เพราะเมื่อประมาณ 8 ปีที่แล้ว จะเห็นว่ามีช้างออกมาเร่ร่อนเพื่อหาเลี้ยงควาญช้าง และช้างที่เข้าไปทำงานในป่าถูกกับระเบิดเป็นจำนวนมาก จึงคิดว่าจะทำอย่างไรไม่ให้มีช้างเร่ร่อน และมีที่เลี้ยงช้างที่ดี ตนจึงได้เข้าไปคุยกับเจ้าของปางช้างใหญ่ๆ ในพื้นที่เชียงใหม่ และภาคเหนือ ด้วยการเอาช้างมาอยู่ในปาง โดยการจ่ายเงินเดือนให้ช้างและคนเลี้ยงช้าง เพื่อทำให้ช้างมีมูลค่า และมีราคา เป็นสินทรัพย์ของเจ้าของ และเมื่อช้างล้ม เจ้าของก็ยังมีเงินที่ได้จากการจ่ายสินไหมทดแทน เพื่อที่จะนำเงินดังกล่าวไปหาซื้อช้างเชือกใหม่มาทำงานได้อีก จึงเกิดโครงการประกันภัยช้าง “อนุรักษ์ช้าง” ขึ้นมา
โดยทางบริษัทได้เริ่มเป็นโบรกเกอร์รับประกันภัยช้างมาเมื่อปี 2551 ดำเนินการมาแล้วประมาณ 6-7 ปี ขณะนี้มีช้างที่ทำประกันภัยแล้วประมาณ 10% ของช้างที่มีอยู่ทั้งหมดทั่วประเทศประมาณ 3,000 เชือก หรือประมาณ 200-300 เชือก โดยในพื้นที่ภาคใต้มีข้างที่ทำประกันแล้วประมาณ 20 เชือก ซึ่งถือว่ายังน้อยมากถ้าเทียบกับจำนวนช้างที่อยู่ในปางต่างๆ ทั่วประเทศ ทั้งนี้ เนื่องจากเจ้าของช้างยังไม่มั่นใจในเรื่องของการประกันภัยว่ามีจริงหรือไม่ และเมื่อช้างล้มแล้วทางบริษัทประกันภัยจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้เจ้าของหรือไม่อย่างไร
สำหรับช้างที่จะทำประกันภัยได้นั้นจะต้องเป็นช้างที่ถูกต้องตามกฎหมาย คือ ต้องมีตั๋วรูปพรรณ มีไมโครชิป มีประวัติ อายุประมาณ 2-55 ปี ทุนประกันสูงสุด 500,000 บาท ซึ่งกำลังขยายเป็น 700,000 บาทในเร็วๆ นี้ พร้อมทั้งได้หารือกับบริษัทประกันภัยบริษัทอื่นเพิ่มมากขึ้นเพื่อเฉลี่ยความเสี่ยง