ศูนย์ข่าวภูเก็ต - เปิดศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก “ไอวีเอฟ ภูเก็ต” ให้คำปรึกษา และทำเด็กหลอดแก้วแก่ครอบครัวที่มีบุตรยากในภูเก็ต จังหวัดใกล้เคียง และชาวต่างชาติ
นายสุธี ทองแย้ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก ไอวีเอฟ ภูเก็ต อย่างเป็นทางการ ที่อาคาร CCM ถ.เฉลิมพระเกียรติ ร.9 (บายพาส) อ.เมือง จ.ภูเก็ต โดยมีนายแพทย์วิวัฒน์ กว้างคณานุรักษ์ นายแพทย์มานพ จันทนพันธ์ ผู้บริหารศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก ไอวีเอฟ ภูเก็ต รวมทั้งคู่สามี-ภรรยาที่มีบุตรยากแต่ได้รับการรักษาจากศูนย์ดังกล่าวจนมีบุตรมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก เมื่อวันที่ 8 ก.พ.2558 ที่ผ่านมา
นายแพทย์มานพ จันทนพันธ์ ผู้บริหารศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก ไอวีเอฟ ภูเก็ต กล่าวว่า ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากมาเปิดให้บริการผู้มีบุตรยากที่จังหวัดภูเก็ตตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา โดยเปิดให้บริการอยู่ภายในโรงพยาบาลสิริโรจน์ ภูเก็ต ซึ่งได้รับความไว้วางใจจากคนภูเก็ต และจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในการใช้บริการทำเด็กหลอดแก้ว ทั้งนี้ เพราะผู้ที่มีบุตรยากให้ความไว้วางใจในทีมแพทย์ พยาบาล บุคลากร และเทคโนโลยีของทางศูนย์ รวมทั้งทางศูนย์เองก็ผ่านการตรวจสอบจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยอีกด้วย
จากการที่ผู้มีบุตรยากให้ความไว้วางใจต่อทางศูนย์ในการให้คำปรึกษาเรื่องการมีบุตรที่มุ่งเน้นให้บุตรที่ออกมาสมบูรณ์แข็งแรงในทุกๆ ด้าน ทำให้มีการใช้บริการที่เพิ่มมากขึ้น ทางศูนย์จึงได้ย้ายที่ทำการ รวมถึงเจ้าหน้าที่มาเปิดให้บริการที่ตึก CCM ถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 หรือถนนบายพาส ในปัจจุบัน และได้ผ่านการตรวจสอบจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยอีกครั้ง เนื่องจากย้ายสถานที่ใหม่เพื่อความมั่นใจ และสะดวกสบายแก่ผู้เข้ารับบริการ ปัจจุบัน ในภูเก็ต และภาคใต้ ฝั่งอันดามัน เป็นศูนย์ฯแห่งเดียวที่ผ่านการรับรอง และมีบริการครบถ้วนเต็มรูปแบบ
นายแพทย์มานพ กล่าวเพิ่มว่า ปัจจุบันที่ดำเนินการมาเป็นเวลา 4 ปี มีครอบครัวที่ประสบความสำเร็จจากเราเป็นจำนวนมาก ทั้งในภูเก็ต จังหวัดใกล้เคียง กระบี่ พังงา หรือในต่างประเทศ ทั้งจาก ออสเตรเลีย มาเก๊า รัสเซีย อินเดีย อเมริกา อังกฤษ เป็นต้น จากความพร้อมของแพทย์ และมีเครื่องมือและเทคโนโลยีต่างๆ ที่ทันสมัยในการรักษาผู้มีบุตรยาก ทั้งการทำเด็กหลอดแก้ว การวิเคราะห์พันธุกรรมตัวอ่อน การแช่แข็งตัวอ่อน และเซลล์สืบพันธุ์ การเลี้ยงดูตัวอ่อน ภายใต้ embryoscope ซึ่งมีเพียงเครื่องเดียวในภาคใต้