ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ชาวบ้านพบซากฉลาม ตัวใหญ่ หนักกว่า 300 กิโลกรัม พบลูกฉลามตายคาท้องถึง 18 ตัว คาดว่ายน้ำเข้ามาออกลูกชายฝั่ง คาดเข้ามาใกล้ฝั่งเพื่อออกลูก แต่น้ำลงไม่สามารถว่ายกลับทะเลลึกเกยตื้นตายในที่สุด
วันนี้ (2 ก.พ.) นายกมล เย็บปัก ผู้ใหญ่บ้านท่ามะพร้าว ม.9 ต.คลองพน อ.คลองท่อม จ.กระบี่ รับแจ้งจากชาวบ้านว่า พบซากปลาฉลามขนาดใหญ่ลอยอยู่ในน้ำ ที่บริเวณอ่าวท่ามะพร้าว ต.คลองพน และชาวบ้านช่วยกันลากมาไว้ที่ท่าเทียบเรือบ้านบากันแล้ว หลังจึงเดินทางไปตรวจสอบ พบชาวบ้านกำลังใช้เรือหางยาวลากซากปลาฉลาม เพศเมีย ขนาดใหญ่ขึ้นฝั่ง วัดความยาวกว่า 3.15 เมตร น้ำหนักกว่า 300 กิโลกรัม
ระหว่างที่ชาวบ้านลากขึ้นฝั่งพบว่า มีหางลูกปลาฉลามโผล่ออกมาจากช่องท้อง จึงช่วยกันดึงออกมา พบว่า มีลูกปลาฉลามอยู่ในท้องทั้งหมด 18 ตัว ความยาวตัวละ 80 ซม. หนักกว่า 3 กก.เบื้องต้น ไม่พบบาดแผลตามตัวแต่อย่างใด ซึ่งได้แจ้งให้ประมงอำเภอ และศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งกระบี่ ทำการตรวจสอบอีกครั้ง
นายกมล กล่าวว่า ชาวประมงพื้นบ้านได้พบปลาฉลามดังกล่าวเมื่อช่วงเช้ามืดที่ผ่านมา จึงได้แจ้งให้ตนไปตรวจสอบ เบื้องต้นคาดว่าน่าจะเป็นฉลามครีบดำ ซึ่งตัวนี้ตายเป็นตัวที่ 2 ที่ ในบริเวณทะเลกระบี่ ในรอบ 5 เดือน แต่ที่น่าเสียดายคือ ลูกในท้องจำนวน 18 ตัว ก็ตายด้วย คาดว่าน่าจะเข้ามาออกลูกบริเวณชายฝั่งทะเลบริเวณอ่าวท่ามะพร้าว แต่เป็นช่วงน้ำลง ไม่สามารถว่ายน้ำลงที่ลึกได้ทันจึงเกยตื้นตายดังกล่าว อย่างไรก็ตาม หลังแจ้งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบไม่นาน พบว่า ชาวบ้านได้ช่วยกันแล่เนื้อปลาฉลามไปกินเป็นอาหารจนหมดแล้ว ซึ่งจะได้นำภาพที่บันทึกไว้ส่งให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบต่อไป
สำหรับความความคืบหน้า นายทัศพล กระจ่างดารา หัวหน้ากลุ่มงานสำรวจวิเคราะห์ทรัพยากรและการประมง ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลฝั่งอันดามัน (ภูเก็ต) กล่าวว่า จากการตรวจสอบตามลักษณะรูปร่างตามภาพถ่ายแล้ว มีความเป็นไปได้น้อยที่จะเป็นฉลามขาว ซึ่งฉลามที่ชาวประมงพบที่อ่าวท่ามะพร้าว คาดว่าน่าจะเป็นฉลามในตระกูลบูลชาร์ก (Bull shark, Cub shark) ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับฉลามครีบดำ หรือฉลามหูดำ รูปร่างเหมือนตัวที่พบเมื่อปลายปีที่แล้วซึ่งอยู่ในตระกูลเดียวกัน ฉลามชนิดนี้ไม่ทำอันตรายมนุษย์ แต่จะกินสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กเป็นอาหาร เช่น หมึก กุ้ง เม่นทะเล และเต่าทะเล ในน่านน้ำไทยพบทั้งในทะเลอันดามัน และอ่าวไทย ซึ่งในประเทศไทย พบว่า มีฉลามตระกูลบลูกชาร์กกว่า 20 ชนิด
อย่างไรก็ตาม ขอฝากเตือนไปยังประชาชน หรือนักท่องเที่ยวอย่าตื่นตระหนก เพราะฉลามที่พบไม่ใช่ฉลามขาวอย่างแน่นอน และที่ผ่านมา พบว่าไม่เคยพบในน่านน้ำไทย เพราะฉลามขาว จะอาศัยอยู่ตามแถบทะเลชายฝั่งเขตอบอุ่น ที่มีอุณหภูมิระหว่าง 12ํC-24ํC ซึ่งไม่ใช่ทะเลในประเทศไทยอย่างแน่นอน