ศูนย์ข่าวภูเก็ต - รองผู้ว่าฯ ภูเก็ต นำคณะทำงานลงพื้นที่กะทู้-ถลาง แก้ปัญหาร้องเรียน Time-Sharing ย้ำต้องไม่เอาเปรียบนักท่องเที่ยว พร้อมชี้พื้นที่ภูเก็ตยังไม่มีผลกระทบที่รุนแรง
เมื่อเวลา 13.30 น.วันนี้ (22 ม.ค.) ดร.พัลลภ สิงหเสนี รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย นายประพันธ์ ขันพระแสง หัวหน้าศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดภูเก็ต นางวิลาวัณย์ เจียมมานะสมบัติ ตัวแทนสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ และคณะทำงานจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมเดินทางลงพื้นที่อำเภอกะทู้ และอำเภอถลาง เพื่อหารือแลกเปลี่ยนแนวทางร่วมกับโรงแรมต่างๆ ในพื้นที่ดังกล่าว ในการแก้ไขปัญหาร้องเรียนธุรกิจการให้บริการจัดสรรเวลาการเข้าใช้สถานที่พัก
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากศูนย์ดำรงธรรมได้รับการร้องเรียนจากนักท่องเที่ยว และประชาชนว่าได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาธุรกิจการให้บริการจัดสรรเวลาเข้าใช้สถานที่พักวันหยุด หรือไทม์ แชริ่ง (Time - sharing) ซึ่งจังหวัดได้รับทราบปัญหา และได้มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าปัญหาร้องเรียนส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณชายหาดเช่น ป่าตอง กะรน และเชิงทะเล ซึ่งที่ผ่านมาได้กำชับให้อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ตรวจสอบและกวดขันธุรกิจดังกล่าวแล้ว ปัจจุบันเริ่มมีปัญหาที่เพิ่มขึ้น ทางจังหวัดจึงได้กำหนดมาตรการป้องกันและหาแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
ดร.พัลลภ สิงหเสนี รอง ผวจ.ภูเก็ต กล่าวว่า การดำเนินการที่เรียกว่า Time-Sharing มีลักษณะเป็นการบอกรับสมาชิกเพื่อให้บริการการเข้าพักที่อยู่อาศัยใช้บริการต่างๆ ของโรงแรมที่เป็นเครือข่ายระหว่างกัน โดยมีประเด็นปัญหาคือ เมื่อมีการบอกขายสมาชิกไปแล้วผู้ที่เป็นลูกค้าจะขอเข้าพักแต่ได้รับการปฏิเสธเลยทำให้รู้สึกว่าตนนั้นถูกหลอก จึงได้มีการร้องเรียนเข้ามายังศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดภูเก็ต โดยทางศูนย์ฯ ได้พยายามหาวิธีการแก้ไขปัญหา Time - sharing
อย่างไรก็ตาม การลงพื้นที่มายังโรงแรมในพื้นที่อำเภอกะทู้ในครั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า โรงแรมมีปัญหาใดๆ เพียงแต่เป็นการแลกเปลี่ยนถึงแนวทางการทำ Time - Sharing ในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งหากเกิดความเสียหายขึ้นก็จะทำให้ภาพลักษณ์ของจังหวัดเสียหายไปด้วย ผลที่ตามมาคือ ทำให้นักท่องเที่ยวลดน้อยลง ขณะนี้ทางจังหวัดได้มีมาตรการเบื้องต้นคือ มาตรการป้องปรามโดยให้โรงแรมต่างๆ ที่มีการขาย Time-Sharing ร่วมมือกับส่วนราชการในการดำเนินการให้เป็นไปอย่างถูกต้อง ส่วนราชการเองก็จะขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์แก่นักท่องเที่ยวว่าอย่าได้หลงเชื่อ และต้องทำการตรวจสอบให้รอบคอบ โดยการสอบถามทางโทรศัพท์ หรือช่องทางต่างๆ ของโรงแรมเพื่อให้นักท่องเที่ยวเกิดความมั่นใจ
“ส่วนใหญ่เป็นความผิดในลักษณะทางแพ่งยังไม่ถึงขึ้นที่รุนแรง เพียงแต่มีการโฆษณา Time - Sharing โดยชาวต่างชาติ ซึ่งตามกฎหมายแรงงานไม่สามารถกระทำได้ต้องมีการชี้แจง และทำความเข้าใจต่อกลุ่มโรงแรมในส่วนนี้ ขณะนี้ในส่วนของพื้นที่จังหวัดภูเก็ตปัญหา Time - sharing ยังมีปัญหาที่ไม่รุนแรงมากนัก เนื่องจากเป้าหมายไม่ใช่จังหวัดภูเก็ตเพียงจังหวัดเดียว” ดร.พัลลภ กล่าวในที่สุด