xs
xsm
sm
md
lg

“อภิชัย ช่วยสมบูรณ์” เกษตรกรดีเด่นระดับเขต สาขาทำไร่นาสวนผสม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พังงา - เกษตรกรก้าวหน้าจังหวัดพังงา น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพ ทำให้มีรายได้ตลอดทั้งปี สามารถปลดหนี้สินหลายแสนได้สำเร็จ จนได้รับการคัดเลือกเป็นเกษตรกรดีเด่นระดับเขต 8 ปี 2557

นายอภิชัย ช่วยสมบูรณ์ เกษตรกรดีเด่นระดับเขต เขตที่ 8 ปี 2557 สาขาอาชีพทำไร่นาสวนผสม อยู่บ้านเลขที่ 16/51 หมู่ที่ 4 ตำบลบางนายสี อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา อายุ 37 ปี จบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จากวิทยาลัยเกษตรกรรมตรัง เดิมทีประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้าง ต่อมา ประสบปัญหาขาดทุน และถูกฉ้อโกงจนมีหนี้สินหลายแสน จนไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร จนกระทั่งต้องหันหันกลับมาพึ่งพาเรื่องของการเกษตร ที่เริ่มจากการทำเป็นอาชีพเสริม โดยเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลาน้ำจืดจำหน่าย ชื่อ คามินฟาร์ม

ต่อมา ก็ได้ผู้ที่มีความรู้ คือนายอเนก จีวะรัตน์ ซึ่งเป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ปี 2556 ได้ไปติดต่อซื้อพันธุ์ปลาดุก ได้แนะนำให้ทำเกษตรผสมผสานเพื่อเป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพ นายบอภิชัย จึงได้ศึกษาการทำเกษตรผสมผสาน ณ ฟาร์มของนายอเนก ซึ่งตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลเหมาะ อำเภอกะปง จังหวัดพังงา เป็นเวลา 3 ปี ได้ปรึกษานักวิชาการส่งเสริมการเกษตรประจำตำบล และเกษตรอำเภอ จึงตัดสินใจทำเกษตรผสมผสานอย่างจริงจังในปี 2554 และเลิกอาชีพรับเหมาก่อสร้าง จนสามารถสร้างรายได้ทำให้ปลดหนี้สินได้หมด

อย่างไรก็ตาม ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมนั้น นายอภิชัย ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพ โดยทำกิจกรรมหลายอย่างในพื้นที่ 8 ไร่ ให้เกื้อกูลซึ่งกันและกันเพื่อเป็นการลดความเสี่ยง มีการจัดทำบัญชีฟาร์ม เพื่อจะได้ทราบรายรับ และรายจ่าย อีกทั้งนำมาใช้วางแผนการผลิตในรอบต่อไป กิจกรรมที่ดำเนินการ ได้แก่ การปลูกปาล์มน้ำมัน พื้นที่ 5 ไร่ เลี้ยงไก่ไข่ 100 ตัว เป็ดไข่ 200 ตัว แพะ 24 ตัว เลี้ยงปลาดุกในกระชัง จำหน่ายพันธุ์ปลาน้ำจืด ผักไฮโดรโปนิกส์ 9 หลัง ผักปลอดภัยจากสารพิษ 750 ตารางเมตร ปลูกข้าว 2 งาน ปลูกมะนาวในท่อซีเมนต์ เพาะเห็ดนางรม มะละกอ มะพร้าวน้ำหอม บ่อแก๊สชีวภาพ 1,200 ลิตร และทำปุ๋ยหมักชีวภาพ โดยใช้แกนกลางของทางปาล์มน้ำมันที่เหลือจากแพะกินใบหมดแล้วมาเข้าเครื่องย่อย ให้ไปกองใต้โรงเรือน-แพะ ตอนเย็นก็ต้อนแพะขึ้นคอกแพะก็จะถ่ายปัสสาวะ และอุจจาระลงบนกองทางปาล์มที่ย่อยแล้ว ไก่ก็จะมาเขี่ย และกลับกองปุ๋ย เป็นภูมิปัญญาที่สามารถลดต้นทุนการผลิตได้มาก

สำหรับน้ำที่ให้สัตว์ดื่มจะใช้ EM 1 ลิตร กากน้ำตาล 30 ลิตร น้ำ 200 ลิตร คนให้เข้ากันหมักทิ้งไว้ 7 วัน เอามาให้สัตว์ดื่มทำให้สัตว์แข็งแรง ไม่เป็นโรค ที่สำคัญปัสสาวะ และมูลสัตว์จะไม่มีกลิ่นเหม็น มีการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ประหยัด ไม่มีส่วนใดเหลือทิ้ง โดยให้เกื้อกูลซึ่งกันและกัน เช่น เศษผักนำไปเป็นอาหารปลา และเลี้ยงเป็ด ทางปาล์มที่ตัดทิ้งส่วนใบเป็นอาหารของแพะ ทางปาล์มที่เหลือนำไปบดทำปุ๋ยชีวภาพ และรองพื้นคอกเป็ด มูลสัตว์นำไปผลิตแก๊สชีวภาพใช้ในการหุงต้มอาหารในครัวเรือน บำรุงดิน และใส่พืชผัก

ขณะที่การจัดการผลผลิตและการตลาด นั้น นายอภิชัย กล่าวว่า ผลผลิตทางการเกษตรของฟาร์มเป็นที่ต้องการของตลาด เนื่องจากไม่ใช้สารเคมี และจำหน่ายในราคายุติธรรม มีการจัดทำร้านจำหน่ายผลผลิตไว้หน้าฟาร์ม ทำให้เป็นที่รู้จักของคนในจังหวัดพังงา และจังหวัดใกล้เคียง มีพ่อค้าไปรับซื้อผลผลิตถึงแปลง และบริการจัดส่งพันธุ์ปลา และผลผลิตอื่นๆ ซึ่งผลผลิตที่ได้ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด มีเกษตรกรในละแวกใกล้เคียงมาศึกษาดูงานและนำไปเป็นแบบอย่างจึงได้รวมกันจัดตั้งเป็น “วิสาหกิจชุมชนไร่นาสวนผสมและเกษตรผสมผสานบ้านบางใหญ่”

สำหรับผลงานและความสำเร็จที่ นายอภิชัย ได้รับประกอบด้วย 1.เกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพทำไร่นาสวนผสมระดับจังหวัด ปี 2557 2.เกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพทำไร่นาสวนผสมระดับเขต ปี 2557 3.ต้นแบบโครงการ 1 ไร่ 1 แสน แห่งแรกของจังหวัดพังงา 4.ศูนย์เรียนรู้การเกษตรไร่นาสวนผสมและเกษตรผสมผสานอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา 5.เป็นจุดเรียนรู้ ศึกษาดูงานเรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง 6.ได้รับคัดเลือกเป็นประธานเครือข่าย Young Smart Farmer ต้นแบบ จังหวัดพังงา 7.ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนไร่นาสวนผสมและเกษตรผสมผสานบ้านบางใหญ่

ด้านนายสมมารถ สยมภาค เกษตรจังหวัดพังงา กล่าวว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดพังงาและสำนักงานเกษตรอำเภอตะกั่วป่า ได้ส่งเสริมแนะนำให้มีการจัดการผลผลิตให้มีคุณภาพ ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การลดต้นทุนการผลิต การเก็บเกี่ยว และบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ปลอดภัยต่อตัวเกษตรกรเอง และผู้บริโภค อีกทั้งได้แนะนำให้เกษตรกรจัดทำเป็นฐานการเรียนรู้ในกิจกรรมต่างๆ เพื่อถ่ายทอดความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และเทคโนโลยีให้เกษตรกรที่สนใจ นักเรียน นักศึกษาที่มาหาความรู้เพื่อจะได้สืบทอดเป็นแบบอย่างต่อไป


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น