คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) กระทรวงวัฒนธรรม ได้พิจารณารายชื่อบุคคลที่สมควรได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2557 วานนี้ (19 ม.ค.) โดยพิจารณาตามหลักเกณฑ์ ผลงาน ตลอดจนความเหมาะสมทุกประการ โดยมีผู้สมควรที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ 3 สาขา จำนวน 12 คน
สาขาทัศนศิลป์ เสนอรายชื่อ จำนวน 94 คน ผ่านการเห็นชอบ จำนวน 5 คน ได้แก่ นายปัญญา วิจินธนสาร (จิตรกรรม) นายชวลิต เสริมปรุงสุข (จิตรกรรม) นายบุญช่วย หิรัญวิทย์ (ประณีตศิลป์) นายนิจ หิรัญชีระนันทน์ (ออกแบบผังเมือง) นายจรูญ อังศวานนท์ (สถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์)
สาขาวรรณศิลป์ เสนอรายชื่อ 90 คน ผ่านการเห็นชอบ จำนวน 1 คน ได้แก่ นางชมัยภร บางคมบาง (แสงกระจ่าง) สาขาศิลปะการแสดง เสนอรายชื่อ 129 คน ผ่านการเห็นชอบ จำนวน 6 คน ได้แก่ นายสะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์ (โทรทัศน์และภาพยนตร์) นางดุษฎี บุญทัศนกุล (ดนตรีสากล) นายสิริชัยชาญ ฟักจำรูญ (ดนตรีไทย) นายพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา (ดนตรีไทยลูกทุ่ง) นางภัทราวดี มีชูธน (ละครเวทีและภาพยนตร์) นายณรงค์ จันทร์พุ่ม (หนังตะลุง)
สำหรับนายณรงค์ จันทร์พุ่ม หรือหนังอาจารย์ณรงค์ ตะลุงบัณฑิต ข้อมูลจากเว็บไซต์ของสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดตรัง http://pr.prd.go.th/trang/download/article/article_20110728094828.pdf ได้บันทึกประวัติไว้ว่า ย้อนไปกว่า 25 ปี ชาวตรัง และจังหวัดใกล้เคียงจะได้ยินชื่อนายหนังตะลุง เรียกกันว่า ตะลุงบัณฑิต หรืออาจารย์หนังณรงค์ จันทร์พุ่ม ซึ่งเป็นครูโรงเรียนวิเชียรมาตุ จ.ตรัง
หนังณรงค์ ได้สร้างสรรค์ศิลปะเพื่อประชาชนในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และสืบทอดศิลปะพื้นบ้านได้ทันยุคจากภาวะวิกฤตด้านเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ทำให้อาจารย์หนังณรงค์ตระหนักและแสดงออกในการเล่นหนังตะลุงอยู่ตลอดเวลาได้สอดแทรกความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สังคม การเมือง การไปใช้สิทธิ ใช้เสียง การวางแผนครอบครัว โดยนำความรู้มาประสานกับลีลากลอน และบทบาทของเงารูปหนังตะลุงให้กลมกลืนเป็นที่เข้าใจง่าย เป็นผู้อนุรักษ์และสืบทอดภาษาและวรรณกรรมท้องถิ่นมาโดยตลอด พัฒนาหนังตะลุงให้เป็นที่นิยมของคนในยุคปัจจุบัน ทั้งยังถ่ายทอดการแสดงของหนังตะลุง และเขียนบทหนังตะลุงให้แก่ผู้สนใจทั่วไป เพื่อส่งเสริมศิลปะการเล่นหนังตะลุง และการอนุรักษ์ภาษาถิ่นให้เป็นมรดกไทยสืบไป
หนังณรงค์ เกิดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2490 ที่ อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง จบชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนบ้านโหละคล้า อ.ย่านตาขาว ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนวชิรนุกูล และมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนวรนารีเฉลิม จ.สงขลา ปริญญาการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.) จากวิทยาลัยวิชาการศึกษาบางแสน (มหาวิทยาลัยบูรพา)
ด้านครอบครัว สมรสกับนางมาลี เจริญกุล มีบุตร 1 คน ปัจจุบันอยู่บ้านเลขที่ 109 หมู่ 6 ต.กันตังใต้ อ.กันตัง จ.ตรัง เริ่มการแสดงหนังตะลุงขณะที่ศึกษาอยู่ที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาบางแสนในครั้งนั้น ได้รับความอนุเคราะห์ให้ยืมอุปกรณ์จากนายวีระ มุกสิกพงศ์ เพื่อนร่วมรุ่น นามนายหนังณรงค์ จันทร์พุ่ม จึงเป็นที่คุ้นหูในวิทยาลัย ตั้งแต่ พ.ศ.2513 เป็นต้นมา
พ.ศ.2520 เป็นครูสอนวิชาสังคมศึกษา ที่โรงเรียนวิเชียรมาตุ เล่นหนังตะลุงเป็นงานอดิเรก จนถึงพ.ศ.2531 นายผัน จันทรปาน ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ขอตัวไปประจำฝ่ายประชาสัมพันธ์ของจังหวัด ให้เล่นหนังตะลุงเพื่อการประชาสัมพันธ์โดยตรง พ.ศ.2533 ร่วมจัดการแข่งขันหนังตะลุง เพื่อสร้างแนวร่วมด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ณ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด มีหนังตะลุงเข้าแข่งขันจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง และตรัง คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้สนับสนุนมอบจอหนังติดคำขวัญ “พิทักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อถนอมชีวิตท่าน” ให้แก่นายหนังที่มาร่วมการแข่งขัน และคณะละครกันตนาได้บันทึกเทปหนังนำไปเผยแพร่ด้วย
หนังณรงค์ เป็นผู้พยายามเรียกร้องสวัสดิการเพื่อคุณภาพชีวิตของศิลปินด้วยกัน และได้รับสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล สำหรับสมาชิกหนังตะลุง สร้างขวัญกำลังใจแก่บรรดาศิลปินหนังตะลุง เพื่อสืบสานสายใยให้ศิลปะพื้นบ้านหนังตะลุงได้เชิดรูปบนจอต่อไปอีกนาน
รางวัลเกียรติคุณที่ได้รับ ประกาศเกียรติคุณจากกรมการศึกษานอกโรงเรียน ในฐานะสื่อพื้นบ้านที่ให้การศึกษาแก่ประชาชนอย่างดียิ่ง เมื่อ 10 มีนาคม 2533, โล่ศิลปินยอดนิยมของชาวใต้ จากชมรมส่งเสริมคนดีศรีสุราษฎร์ จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อ พ.ศ.2526, ประกาศเกียรติคุณจากเจ้าคณะจังหวัดตรัง ในฐานะศิลปินหนังตะลุงภาคใต้ที่สามารถใช้หลักธรรมะในทางพุทธศาสนาเข้ากับนิทานที่แสดง ทำให้ผู้ฟังมีความซาบซึ้งในรสพระธรรมเป็นอย่างดีเมื่อ 5 ธันวาคม 2536
รางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะผู้อนุรักษ์มรดกไทยดีเด่นด้านภาษาและวรรณกรรมไทย เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2538, โล่เกียรติคุณจาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ชวน หลีกภัย ในฐานะผู้ใช้สื่อพื้นบ้านหนังตะลุง รณรงค์เพื่อให้ประชาชนไปใช้สิทธิประชาธิปไตยได้อย่างดียิ่ง เมื่อ 8 เมษายน 2538
ประกาศเกียรติคุณจากนายอำเภอหาดใหญ่ ในฐานะผู้ให้การสนับสนุนการสร้างรั้วที่ว่าการอำเภอ
หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2537, เกียรติบัตรศิษย์เก่าดีเด่น เนื่องในโอกาสจัดงาน 40 ปี มหาวิทยาลัยบูรพา เมื่อ 8 กรกฎาคม 2538, เกียรติบัตรจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะเป็นศิลปินดีเด่น สาขาการแสดงพื้นบ้าน (หนังตะลุง) ประจำปี 2540, เกียรติบัตรจากสำนักกิจการนักศึกษา สถาบันราชภัฏนครศรีธรรมราช ในฐานะผู้สนับสนุนโครงการบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาไทยคดีศึกษา เมื่อ 26 สิงหาคม 2541, เกียรติบัตรในฐานะที่ได้อุปการะและสนับสนุนโครงการหนังตะลุงเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ
งานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งของหนังณรงค์ คือ การเป็นแกนนำก่อตั้งชมรมศิลปินพื้นบ้านที่ อ.กันตัง เพื่อเป็นที่พบปะและฝึกสอนศิลปะการแสดงพื้นบ้านให้ผู้สนใจทั่วไป ด้วยเจตจำนงที่จะให้ศิลปินพื้นบ้านทั้งหลายได้มีศูนย์รวมเพื่อแลกเปลี่ยนทรรศนะ และแสดงร่วมกันอย่างน้อยปีละครั้ง นั่นคือการรักษาไว้ซึ่งศิลปะพื้นบ้าน
หลังได้รับการประกาศชื่อเป็นศิลปินแห่งชาติ นายณรงค์ จันทร์พุ่ม ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง กล่าวว่า ภูมิใจที่ได้รางวัล ตนเป็นนายหนังตะลุงมา 38 ปี จะสร้างงานหนังตะลุงต่อไปเพื่อให้คนรุ่นใหม่รู้สึกว่ามีความทันสมัย ไม่ล้าหลัง การสร้างงานของตนเองจะรับสิ่งใหม่ๆ โดยไม่ละทิ้งศิลปะดั้งเดิม หากได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ หนังตะลุงจะเป็นสื่อในการเรียนรู้ ปลูกฝังให้คนรักวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และไม่ยุ่งเกี่ยวอบายมุข ฝากให้กระทรวงวัฒนธรรมส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมอย่างครบวงจร ไม่เฉพาะหนังตะลุง รวมถึงลิเกด้วย เพื่อพัฒนาศักยภาพศิลปินตามภูมิภาคให้มีฝีมือดียิ่งขึ้น
สำหรับผู้ที่ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติจะได้รับเงินตอบแทนเดือนละ 20,000 บาท และสามารถเบิกเงินสวัสดิการเพื่อการรักษาพยาบาลได้ตามระเบียบราชการ รวมทั้งมีค่าช่วยเหลือเมื่อประสบสาธารณภัยครั้งละไม่เกิน 50,000 บาท และหากเสียชีวิต จะมีค่าบำเพ็ญกุศลศพ 20,000 บาท และค่าจัดทำหนังสือเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิต 150,000 บาท เป็นต้น
ทั้งนี้ ศิลปินแห่งชาติทั้ง 12 คน จะเข้ารับพระราชทานโล่ และเข็มเชิดชูเกียรติจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันศิลปินแห่งชาติ วันที่ 24 ก.พ.นี้ พร้อมทั้งจะมีงานเลี้ยงแสดงความยินดีแก่ศิลปินแห่งชาติ และการจัดกิจกรรมการแสดงและนิทรรศการศิลปินแห่งชาติ ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยด้วย การคัดเลือกศิลปินแห่งชาติดำเนินการตั้งแต่ปี 2528-2556 มีจำนวน 246 คน เสียชีวิตไปแล้ว 110 คน มีชีวิตอยู่ 136 คน