xs
xsm
sm
md
lg

หนีราคายางดิ่งเหว! ม.อ.ผนึก สกย.ดึงชาวสวนชายแดนใต้ทำยางแผ่นแบบลดต้นทุนผลิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ม.อ.จับมือ สกย.ระดมชาวสวนยาง 5 จังหวัดชายแดนใต้ เสริมความรู้การเพิ่มประสิทธิภาพยางแผ่นรมควัน วาดหวังให้เกิดการลดต้นทุนการผลิตในยุคที่ราคายางดิ่งเหว

วันนี้ (15 ม.ค.) ที่ห้องแอลอาร์ซี 2 อาคารศูนย์ทรัพยากรการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ มีการสัมมนาโครงการการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตยางแผ่นรมควันของสหกรณ์โรงรมยาง ซึ่ง ม.อ.ร่วมกับศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 สงขลา จัดขึ้น โดยมีเจ้าหน้าที่สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) เข้าร่วมประมาณ 30 คน

ผศ.คำรณ พิทักษ์ รองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ (ม.อ.) ผู้จัดทำโครงการกล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการจัดโครงการก็คือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนของการผลิตสหกรณ์กองทุนสวนยาง และช่วยส่งเสริมพัฒนาปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต การแปรรูปสินค้ายางพาราให้ได้มาตราฐาน และเป็นการสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนเพื่อให้กลุ่มสหกรณ์เกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

รศ.ดร.พีรพงศ์ ทีฆสกุล รองอธิการบดีฝ่ายระบบวิจัยและบัณฑิตศึกษา ม.อ.หาดใหญ่ กล่าวเปิดการสัมมนาว่า ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้า และส่งออกยางพาราเป็นอันดับ 1 ของโลกมามากกว่า 20 ปี ซึ่งยางนับเป็นสินค้าที่ทำรายได้เป็นอันดับ 1 ของสินค้าเกษตรส่งออกทั้งหมด รวมมูลค่าปีละไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท

“แม้ว่าไทยจะเป็นผู้ส่งออกยางอันดับ 1 ของโลก แต่ส่วนใหญ่จะส่งออกในรูปวัตถุดิบที่ราคาไม่สูงมากนัก ทำให้สถาบันเกษตรที่ทำธุรกิจยางแผ่นรมควันกำลังประสบปัญหาต้นทุนการผลิตสูงขึ้น โดยเฉพาะเชื้อเพลิงหลักอย่างไม้ยางที่มีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง” รศ.ดร.พีรพงศ์กล่าวและว่า

อีกทั้งการผลิตยางแผ่นรมควันยังต้องใช้แรงงานฝีมือที่มีความชำนาญ ซึ่งนับวันแรงงานมีแต่ลดน้อยลงเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน ปริมาณผลผลิตน้ำยางสดที่เข้าโรงรมของสถาบันเกษตรบางแห่งก็เพิ่มสูงจนเกินกำลังการผลิต และแน่นอนว่าย่อมส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพยางแผ่นรมควัน ทำให้ผลิตได้เกรดต่ำ จนทำให้เกิดการขาดทุน

ดังนั้น การปรับปรุงประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการผลิตยางแผ่นรมควันของสหกรณ์โรงรมยาง ยังเป็นเรื่องที่จำเป็นที่ควรดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อลดต้นทุนการผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้ายาง อีกทั้งทำให้กลุ่มเกษตรกรที่เป็นสมาชิก สกย.มีความเข้มแข็งและยั่งยืน

รศ.ดร.พีรพงศ์ ทีฆสกุล กล่าวเพิ่มเติม จากการลงสำรวจเก็บข้อมูลวิจัยพบว่า อุณหภูมิในโรงรมแตกต่างกันมากถึง 15 องศา บริเวณที่อยู่ใกล้เตาไฟจะมีอุณหภูมิสูงกว่ามากส่งผลให้คุณภาพยางแผ่นไม่สม่ำเสมอทำให้ต้องไปรมอีกครั้งจนเกิดการสิ้นเปลืองไม้ฟืน ซึ่งเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

ดังนั้น คณะวิจัยจึงได้ออกแบบห้องรมแบบใหม่ที่มีการกระจายอุณหภูมิ และความเร็วลมที่ดีขึ้นโดยอุณหภูมิสูงสุดในห้องรมแตกต่างกันไม่เกิน 5 องศาเซลเซียส จึงทำให้คุณภาพยางสม่ำเสมอ และประหยัดเชื้อเพลิงไม้ฟืนได้มากยิ่งขึ้น





 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น