สระบุรี - เยาวชนจาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้เข้ามาพักอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ในพื้นที่สระบุรี ตามโครงการสานใจไทยสู่ใจใต้ เข้าพบผู้ว่าฯ สระบุรี เผยจะนำสิ่งที่ดี และประสบการณ์ที่ได้รับจากการมาร่วมโครงการไปบอกต่อว่าคนไทยภาคอื่นยังคงห่วงใยพี่น้องชาวใต้
วันนี้ (28 ต.ค.) นายเสน่ห์ พงษ์สว่าง ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสระบุรี นำคณะเยาวชนจาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้เข้ามาพักอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ในพื้นที่จังหวัดสระบุรี ตามโครงการสานใจไทยสู่ใจใต้ เข้าพบ นายวิเชียร พุฒิวิญญู ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เพื่อรับฟังโอวาท และเยี่ยมชมห้องทำงานผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี
ทั้งนี้ นายวิเชียร พุฒิวิญญู ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า จังหวัดสระบุรี ได้รับเกียรติเข้าร่วมโครงการ “สานใจไทย สู่ใจใต้” มาแล้ว 19 รุ่น คือ ตั้งแต่รุ่นที่ 3 ปี 2549 ถึงรุ่นที่ 21 ปี 2556 รวมเยาวชน 317 คน โดยได้รับความอนุเคราะห์จากครอบครัวอุปถัมภ์ทั้งในเขตพื้นที่อำเภอเมืองสระบุรี และอำเภอต่างๆ
สำหรับในรุ่นที่ 22 นี้ จะเป็นครอบครัวอุปถัมภ์ในพื้นที่อำเภอมวกเหล็ก 4 ครอบครัว อำเภอหนองแค 1 ครอบครัว และอำเภอวิหารแดง 5 ครอบครัว ซึ่งได้รับมอบเยาวชนมา จำนวน 20 คนเป็นชาย 10 คน หญิง 10 คน จากจังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี จังหวัดสงขลา จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดสตูล เป็นระยะเวลา 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2557 จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2557 ซึ่งในระหว่างที่พักกับครอบครัวอุปถัมภ์ได้เรียนรู้ศึกษาวิถีชีวิต วัฒนธรรมขนบธรรมเนียม วิถีชีวิติความเป็นอยู่ รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในจังหวัดสระบุรี
ด้านตัวแทนเยาวชน กล่าวว่า จะขอนำสิ่งที่ดี และประสบการณ์ที่ได้รับจากการมาร่วมโครงการในครั้งนี้นำไปบอกต่อๆ กันว่า คนไทยภาคอื่นๆ ยังคงห่วงใยพี่น้องชาวใต้ พร้อมจะนำความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดเผยแพร่ให้แก่ครอบครัว และเพื่อนๆ ในพื้นที่ให้ได้รับรู้ต่อไปด้วย
สำหรับโครงการสานใจไทยสู่ใจใต้ เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากดำริของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการมูลนิธิรัฐบุรุษ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มูลนิธิรักษ์ไทย และมูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นประธานคณะกรรมการดำเนินการฯ
มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เยาวชนมุสลิมในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ ได้มีโอกาสเสริมสร้างทักษะเรียนรู้ วิสัยทัศน์ ประสบการณ์ชีวิต และพัฒนาแนวคิดให้สามารถปฏิบัติตนเป็นผู้นำที่ดีของชุมชนในอนาคต ก่อให้เกิดความคิดเชิงบวก มีความหวงแหนต่อแผ่นดินเกิด และยอมรับการอยู่ร่วมกันอย่างสันติบนความหลากหลายของเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา และวัฒนธรรม ซึ่งจะช่วยส่งผลต่อการแก้ปัญหา