xs
xsm
sm
md
lg

สปส.ไม่สนข้อเสนอ คสรท.แนะปรับเกณฑ์จ้างงาน 5 จ.ชายแดน ชี้ที่วางไว้รอบคอบดีแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธาน คสรท. แนะ สปส. ปรับเกณฑ์โครงการจ้างงานเขตพัฒนาพิเศษ  5 จังหวัดชายแดนใต้ ลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้สถานประกอบการ  ผู้ประกันตนเท่ากัน   เพิ่มดอกเงินฝาก สปส. มากกว่าร้อยละ 1  เลขาธิการ สปส. ยันวางเกณฑ์รอบคอบ ไม่ใช่ผู้ปล่อยกู้ ชี้ดอกเบี้ยผู้ประกันตนสูงกว่า เพราะไม่มีหลักทรัพย์ค้ำ  หากเกิดหนี้สูญไม่กระทบกองทุน

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวถึงกรณีสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดโครงการสนับสนุนการจ้างงานเขตพัฒนาพิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในวงเงิน 2,000 ล้านบาท ว่า เห็นด้วยกับการที่ สปส. ดำเนินโครงการนี้เพราะผู้ประกันตนได้รับประโยชน์  แต่อยากให้พิจารณาธนาคารที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องไม่เป็นธนาคารที่มีปัญหาขาดทุน รวมทั้งควรปรับเกณฑ์ปล่อยกู้จากที่ธนาคารปล่อยกู้ให้แก่สถานประกอบการรายละไม่เกิน 5 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี  และผู้ประกันตนรายละไม่เกิน 150,000 บาท คิดดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 6 ต่อปี ซึ่งทั้งสองกลุ่มควรคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 เท่ากัน รวมทั้ง สปส. ควรได้ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารที่ร่วมโครงการอยู่ที่ร้อยละ 2 ไม่ใช่แค่ร้อยละ 1

นางอำมร เชาวลิต เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า สปส. กำหนดหลักเกณฑ์มาอย่างรอบคอบแล้วโดยโครงการนี้ทำมาแล้ว  5 ปี และผ่านความเห็นชอบจากบอร์ด สปส. ซึ่งมีทั้งตัวแทนฝ่ายรัฐ นายจ้างและลูกจ้าง โดยคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ได้ขอให้ขยายโครงการอีก 5 ปี ดังนั้น บอร์ด สปส. จึงให้ดำเนินโครงการต่อ  ซึ่งธนาคารที่เข้าร่วมโครงการต้องไม่มีปัญหาขาดทุน

เลขาธิการ สปส. กล่าวอีกว่า ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้ที่คิดผู้ประกอบการไม่เกินร้อยละ  5 ต่อปี ผู้ประกันตนร้อยละ    6 ต่อปี  เพราะผู้ประกอบการมีหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ ขณะที่ผู้ประกันตนบางรายไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน   ธนาคารต้องพิจารณาจากยอดเงินสะสมสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ   ดังนั้น   ผู้ประกันตนจึงความมั่นคงน้อยกว่าและ  5  จังหวัดชายแดนใต้เป็นพื้นที่เสี่ยง  ส่วนดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารที่ สปส. ได้ร้อยละ 1 ไม่ถือว่าต่ำเกินไปเพราะบางธนาคารให้ต่ำกว่าร้อยละ1ทั้งนี้ ขอยืนยันว่า สปส. ไม่ใช่ผู้ปล่อยกู้เพียงแต่นำเงินกองทุนประกันสังคมมาฝากไว้กับธนาคารที่ร่วมโครงการตามยอดเงินที่ธนาคารปล่อยกู้ ดังนั้น ผู้ที่แบกรับความเสี่ยง คือ ธนาคารที่ปล่อยกู้ หากเกิดกรณีหนี้สูญทางธนาคารก็ต้องรับผิดชอบเอง ส่วนเงินกองทุนประกันสังคมที่ฝากไว้นั้นยังอยู่ครบ ไม่มีการนำเงินไปหักชำระหนี้แทนสถานประกอบการหรือผู้ประกันตน
 
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่






กำลังโหลดความคิดเห็น