xs
xsm
sm
md
lg

สนข.เดินหน้าโครงการรถไฟฟ้ารางเบาท่านุ่น-ห้าแยกฉลอง จ.ภูเก็ต คาดปี 64 ดำเนินการได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - สนข.เดินหน้ารับฟังความคิดเห็นโครงการรถไฟฟ้ารางเบา ออกแบบระบบขนส่งมวลจังหวัดภูเก็ต เส้นทางท่าอากาศยานนานาชาติจังหวัดภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และแก้ไขปัญหาการจราจร โดยการพัฒนาการคมนาคมระบบราง คาดใช้งบเกือบ 2,400 ล้านบาท ขณะที่คนภูเก็ตเห็นด้วยแต่ควรแก้ไขในบางจุด

วันนี้ (6 ม.ค.) ที่ห้องประชุมพระพิทักษ์แกรนด์บอลรูม โรงแรมเมโทรโพลภูเก็ต อ.เมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต นายพีระพล ถารวรสุภเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นการมีส่วนร่วมของประชาชน ครั้งที่ 3 การศึกษาความเหมาะสม ออกแบบ และวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ในเส้นทางท่าอากาศยานนานาชาติจังหวัดภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง หรือโครงการรถไฟฟ้ารางเบา เพื่อนำเสนอผลการศึกษาด้านวิศวกรรม ผลการคัดเลือกแนวเส้นทาง การออกแบบ ผลตอบแทนด้านเศรษฐศาสตร์และการเงิน รวมทั้งผลการศึกษาและมาตรฐานการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการ พร้อมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนโดยมีนายนิสิต จันทร์สมวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ผู้แทนจากหน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐวิสากิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษาในพื้นที่ และภาคประชาชนในจังหวัดภูเก็ต เข้าร่วมประชุมกว่า 350 คน

สำหรับโครงการการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบ และวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ในเส้นทางท่าอากาศยานนานาชาติจังหวัดภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง หรือโครงการรถไฟฟ้ารางเบา นั้น ทาง สนข.ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาออกแบบโครงการดังกล่าวเพื่อพัฒนาระบบขนส่งมวลชนของจังหวัดภูเก็ตให้มีมาตรฐาน และมีประสิทธิภาพรองรับการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว รวมทั้งเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่ประชาชน และนักท่องเที่ยวรวมทั้งแก้ไขปัญหาการจราจรของจังหวัดภูเก็ต ที่เกิดจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งการรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้เป็นการรับฟังความคิดเห็นครั้งสุดท้ายของการศึกษาออกแบบเพื่อนำข้อมูลที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นมาปรับปรับปรุงการออกแบบให้ตรงต่อความต้องการของคนในพื้นที่ ก่อนที่จะส่งผลการศึกษาออกแบบให้แก่ทาง สนข.ตรวจสอบเพื่อดำเนินโครงการต่อไป

นายวีระ ศานติวรกุล วิศวกรโครงการ กล่าวว่า สำหรับการออกและศึกษาความเหมาะสมของโครงการดังกล่าว ได้ข้อสรุปที่จะดำเนินโครงการไฟฟ้ารางเบา ซึ่งเชื่อว่าเป็นรูปแบบที่มีความเหมาะสมต่อจังหวัดภูเก็ต ซึ่งจะมีการดำเนินการทั้งรางคู่และรางเดี่ยวในแต่ละพื้นที่ เพราะบางจุดมีข้อจำกัดในเรื่องของพื้นที่ก็จะปรับจากรางคู่มาเป็นรางเดียว ส่วนเส้นทางที่มีการนำเสนอเป็นเส้นทางเชื่อมโยงระบบขนส่งมวลชนจากสถานีรถไฟฟ้าท่านุ่น จ.พังงา สู่ท่าฉัตรไชย จังหวัดภูเก็ต โดยใช้สะพานเทพกระษัตรี แล้วมุ่งหน้าไปตามทางหลวงหมายเลข 402 (ถนนเทพกระษัตรี) โดยก่อสร้างไปกลางเกาะกลางถนน จนถึงทางแยกทางหลวงชนบท ภก.3033 ซึ่งเป็นเส้นทางไปยังหาดไม้ขาว โดยมุ่งหน้าไปตามทางหลวงหมายเลข 402 (ถนนเทพกระษัตรี) เลี้ยวขวาเข้าสู่ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต ตามทางหลวงหมายเลข 4031 ขนานไปกับแนวทางวิ่ง (Runway) จากนั้นออกจากท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต ไปตามทางหลวงหมายเลข 4026 ออกไปบรรจบกับทางตามทางหลวงหมายเลข 402 (ถนนเทพกระษัตรี) โดยเลี้ยวขวา แล้วตรงไปจนถึงแยกถนนดอนจอมเฒ่า จากนั้นแนวเส้นทางจะไปตามทางหลวงหมายเลข 402 (ถนนเทพกระษัตรี จนไปบรรจบกับสามแยกบางคูโดยตรงไปทางทิศใต้ตามแนวถนนเทพกระษัตรี เข้าสู่ตัวเมืองเทศบาลนครภูเก็ต จนถึงแยกถนนรัษฎา ตรงไปตามถนนภูเก็ตแล้วเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนศักดิเดช ไปบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 4021 (ถนนเจ้าฟ้าตะวันออก) มุ่งหน้าสู่ห้าแยกฉลอง

ระยะทางโดยประมาณ 60 กิโลเมตร มีจำนวน 20 สถานี ได้แก่ สถานีท่านุ่น สถานีท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต สถานีกลาง สถานีอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร สถานีเกาะแก้ว สถานีสถานีขนส่งผู้โดยสารภูเก็ตแห่งที่ 2 สถานีมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต สถานีทุ่งคา สถานีเมืองเก่า สถานีวงเวียนหอนาฬิกา สถานีบางเหนียว สถานีห้องสมุดประชาชนจังหวัดภูเก็ต สถานีสะพานหิน สถานีศักดิเดช สถานีดาวรุ่ง สถานีวิชิต สถานีเจ้าฟ้าตะวันออก สถานีป่าหล่าย สถานีบ้านโคกโตนด และสถานีฉลอง

โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ได้มีการออกแบบให้สามารถเชื่อมโยงโครงข่ายการเชื่อมต่อการเดินทาง และเป็นการแก้ปัญหาการจราจรติดขัดของจังหวัดภูเก็ต ด้วยการสร้างทางเลือกในการเดินทางให้แก่ประชาชน และนักท่องเที่ยวด้วยระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพและมาตรฐาน และสามารถบรรเทาปัญหาการคมนาคมที่คับคั่งของจังหวัดภูเก็ต และลดต้นทุนการขนส่งให้ถูกลงจากเดิมที่ใช้ทางรถยนต์เป็นหลัก นอกจากนี้ โครงการฯ ได้กำหนดรูปแบบการแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟกับถนน จำนวน 189 จุด ซึ่งคำนึงถึงความเหมาะสมต่อรูปแบบเดินทางเดิมในท้องถิ่นเพื่อให้ประชาชนสัญจรได้อย่างปลอดภัย โดยมีการออกแบบไว้จำนวน 3 รูปแบบ ได้แก่ สัญญาณไฟจราจร เครื่องกั้น และปิดจุดตัดทางผ่าน (โดยทดแทนด้วยการกลับรถที่ทางแยก)
นายอดิศักดิ์ อัคสินธวังกูร
รถไฟฟ้ารางเบามีการออกแบบรองรับความเร็วสูงสุด 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สำหรับผลการศึกษาด้านเศรษฐกิจ และการเงินของโครงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบ และวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ในเส้นทางท่าอากาศยานนานาชาติจังหวัดภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง พบว่า มีความเหมาะสมในการลงทุน โดยมีอัตราส่วนผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจร้อยละ 23.78% มูลค่าการลงทุน 23498.74 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ประมาณปี 2564 ส่วนเรื่องการลงทุนนั้นเสนอในรูปแบบของการร่วมลงทุน โดยภาครัฐเป็นผู้ลงทุนในเรื่องของระบบสาธารณูปโภค เช่น การสร้างราง การสร้างสถานี ส่วนภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนในเรื่องของระบบ
นายดอน ลิ้มนันทพิสิฐ ประธานชุมชนย่านเมืองเก่า
นายกนก เข็มนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม ได้นำเสนอมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้มีผู้เข้าร่วมการสัมมนา และประชาชนในจังหวัดภูเก็ตที่อยู่ในแนวเส้นทางโครงการฯ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมสัมมนาไปพิจารณาร่วมกับการออกแบบรายละเอียดของโครงการให้มีความเหมาะสม และสอดคล้องต่อความต้องการของท้องถิ่นมากที่สุด
นายพงศ์สันต์ คงจิตนาน
ทั้งนี้ ภายหลังการประชุมใหญ่รับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 สนข. จะนำเสนอรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อดำเนินการตามขั้นตอน และระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยผู้ที่สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าและรายละเอียดของโครงการได้ที่ http://www.suratphuket-raitransit.com

อย่างไรก็ตาม การรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ ชาวภูเก็ตส่วนใหญ่เห็นด้วยต่อโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ที่จะเชื่อมโยงโครงข่ายการเชื่อมต่อการเดินทาง และเป็นการแก้ปัญหาการจราจรติดขัดของจังหวัดภูเก็ต แต่อยากให้มีระบบการป้องกันอุบัติเหตุที่จะตามมา และอยากให้มีสถานีเพิ่มเติมรวม ทั้งคำนึงถึงการรองรับการใช้บริการของผู้สูงอายุ และผู้พิการ เป็นต้น เช่น นายพงศ์สันต์ คงจิตนาน ชาวบ้านในพื้นที่ ต.ไม้ขาว กล่าวว่า เห็นด้วยต่อโครงการรถไฟฟ้ารางเบาที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ จ.ภูเก็ต แต่อยากให้เกิดขึ้นจริงๆ ไม่ใช่พอศึกษาเสร็จก็หายเงียบไป และสิ่งที่อยากให้มีการพิจารณา และปรับเปลี่ยนคือเรื่องของสถานีจอดรถ ซึ่งจากการนำเสนอของบริษัทที่ปรึกษาพบว่า สถานีไปกระจุกอยู่ในตัวเมือง จึงอยากให้มีการเพิ่มสถานีในพื้นที่ไม้ขาวให้มากขึ้น เพราะรถวิ่งผ่านโรงเรียนต่างๆ ด้วย
นางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีเทศบาลนครภูเก็ต
ด้านนายสถิรพงค์ ณ ตะกั่วทุ่ง นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า เห็นด้วยต่อโครงการรถไฟฟ้ารางเบาที่จะเกิดขึ้นในภูเก็ต ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญ เพราะจะเป็นการช่วยยกระดับเมืองท่องเที่ยวของภูเก็ตให้ดีขึ้น ซึ่งโครงการรถไฟเส้นทางสุราษฎร์ฯ-ท่านุ่นนั้นไม่น่าเป็นห่วง เช่นเดียวกับรถไฟฟ้ารางเบาเส้นทาง จากท่านุ่นมาถึงทุ่งคา ก็ไม่น่าเป็นห่วง แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ เส้นทางจากทุ่งคา เข้ามาในเขตเมืองเก่า ซึ่งตามโครงการย่านเมืองเก่านั้นจะทำเป็นถนนคนเดิน ไม่มีที่สำหรับจอดรถ แล้วคนในพื้นที่ดังกล่าวจะจอดรถที่ไหน ซึ่งจะต้องหามาตรการเรื่องของที่จอดรถมารองรับด้วยถ้าทำได้ก็ไม่มีปัญหาอะไร
นายสถิรพงค์ ณ ตะกั่วทุ่ง นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต
ขณะที่ นายดอน ลิ้มนันทพิสิฐ ประธานชุมชนย่านเมืองเก่า กล่าวว่า เห็นด้วยเพราะเมืองเก่าทุกเมืองไม่สามารถที่จะขยายถนนได้ ทำอะไรก็รถติด การมีระบบขนส่งเข้ามาถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่จะต้องดูในเรื่องของสถานที่จอดรถสำหรับคนที่จะมาใช้บริการขนส่งมวลชนเอารถมาจอดได้ด้วย รวมทั้งจะต้องมีที่ที่จะให้กลุ่มรถบริการมาจอดเพื่อรับส่งผู้โดยสารไปยังจุดต่างๆ เพราะระบบขนส่งมวลชนไม่สามารถที่จะเข้าไปถึงซอยต่างๆ ได้

ด้าน นายอดิศักดิ์ อัคสินธวังกูร กล่าวว่า เห็นด้วยเรื่องของระบบขนส่งมวลชน แต่ในส่วนของการเข้ามาในเขตเมืองไม่เห็นด้วย คิดว่าน่าจะไปในสายนอกมากกว่า เพราะกลัวว่าถ้าเข้ามาในเขตเมืองจะทำให้มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น โดยเฉพาะบริเวณจุดตัดต่างๆ ถ้าจะเข้ามาในเมืองก็ควรจะทำในรูปแบบของการยกระดับ

ส่วน น.ส.สมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีเทศบาลนครภูเก็ต กล่าวว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นการมองไปยังอนาคตสำหรับลูกหลาน ซึ่งเรื่องของการกำหนดเส้นทางก็ได้มีการดำเนินการโดยคำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชนในภูเก็ตเป็นที่ตั้ง ปัจจุบัน ในเขตเมืองมีสถานศึกษาเยอะมาก และมีเด็กจากข้างนอกเข้ามาเรียนในเมืองจำนวนมาก เช่น โครงการนี้น่าจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการจราจรได้ระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่อยากจะให้ สนข.ดำเนินการต่อคือ ให้ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบจราจรในเขตเทศบาลด้วยเพราะโครงการรถไฟจะทำให้ถนนในเมืองที่รถไฟผ่านเสียไป 1 ช่องจราจร ส่วนเรื่องของการสร้างสถานีนั้นอยากให้คำนึงถึงความมีอัตลักษณ์ของภูเก็ตด้วย และจะต้องระมัดระวังในการก่อสร้างโดยเฉพาะย่านเมืองเก่า

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น