พังงา - เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บิโภค และคณะเจ้าหน้าที่ สคบ.ตรวจท่าเรือท่องเที่ยวในจังหวัดพังงา ก่อนเทศกาลปีใหม่หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนค่าโดยสารแพงเกินจริง และท่าเรือสร้างไม่ได้มารตรฐาน หวั่นเสียหายภาพลักษณ์ช่วงปีใหม่
นายอำพล วงศ์ศิริ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บิโภค และคณะเจ้าหน้าที่จาก สคบ.พร้อมด้วย นางอำพัน รุ่งแจ้ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา นางวิมลมาน สุวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาพังงา ได้ลงพื้นที่ออกตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจที่ให้บริการเรือโดยสาร บริเวณท่าเรือทับละมุ ต.ลำแก่น อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา หลังจากได้รับการร้องเรียนจากนักท่องเที่ยวว่า ท่าเทียบเรือหลายแห่งยังสร้างไม่ได้มารตรฐาน และมีการจัดเก็บค่าบริการแพงเกินจริง ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างมาตรการให้ผู้บริโภคได้รับรับความปลอดภัยจากการใช้บริการท่าเรือโดยสาร
นายอำพล วงศ์ศิริ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บิโภค กล่าวว่า สำหรับธุรกิจท่องเที่ยวเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศมากที่สุดประเภทหนึ่ง มีวงเงินหมุนเวียนหลายหมื่นล้านบาทต่อปี มีธุรกิจย่อย และมีผู้เกี่ยวข้องมากมาย และหลากหลายในเวลาที่ระบบเศรษฐกิจโดยรวมกำลังเติบโต และมีการแข่งขันอย่างสูง ทางผู้ประกอบการต่างใช้กลยุทธ์ทุกรูปแบบเพื่อแย่งชิงกลุ่มนักท่องเที่ยวเป้าหมาย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ธุรกิจท่องเที่ยวเป็นรายได้หลักของประเทศ สคบ.ได้จัดโครงการเฉพาะกิจเพื่อดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะต่อหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพราะมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องหลายแขนง เช่น การบริการเรือโดยสาร ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ต ห้องพัก รถเช่า การขายสินค้าที่ระลึก เครื่องประดับ ไกด์นำเที่ยว และร้านอาหาร
โดยในช่วงที่ผ่านมา คณะทำงานเฉพาะกิจที่ประกอบไปด้วย สคบ. กรมเจ้าท่า บก.ปคบ. ตำรวจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรมการค้าภายใน สมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย สนง.พาณิชย์จังหวัด ลงพื้นที่ตรวจสอบพร้อมให้คำแนะนำเชิงป้องปรามในส่วนที่แต่ละหน่วยงานรับผิดชอบ เพื่อให้ครอบคลุมมากที่สุดในเรื่องกฎ ระเบียบต่างๆ ที่ผู้ประกอบการ อาจกระทำผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะ สคบ.เชื่อมั่นเสมอว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ล้วนประกอบธุรกิจโดยหวังผลในระยะยาวทั้งนั้น ส่วนน้อยเท่านั้นที่คิดตั้งใจจะหลอกลวงเอาเปรียบ แต่ด้วยกฎ ระเบียบที่ทางราชการออกมาควบคุมดูแลให้เกิดความยุติธรรมนั้น อาจมีความละเอียดอ่อน และมีรายละเอียดมาก ซึ่งบางครั้งอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ เช่น เรื่องของการจัดทำการโฆษณา การติดป้ายประกาศราคา การแสดงป้ายเตือน และแนะนำเรื่องความปลอดภัยในการใช้บริการเรือโดยสาร ทั้งบริเวณท่าเรือ และบนเรือ การลงพื้นที่ให้การแนะนำย่อมเห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนมากขึ้น ในเขตจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ และชลบุรี
อย่างไรก็ตาม การลงพื้นที่ในครั้งนี้ทำให้ สคบ.ได้เห็นถึงปัญหาเรื่องของท่าเรือที่ไม่ได้มาตรฐานในการบริการนักท่องเที่ยวเดินทางลงเรือไปเกาะต่างๆ โดยทางเจ้าหน้าที่ สคบ.ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้ประกอบการหน่วยงานราชการเจ้าของท้องที่ และประชาชนผู้บริโภค เพื่อรับรู้ปัญหา อุปสรรคด้านต่างๆ เพื่อหาแนวทางป้องกัน และแก้ไขปัญหานี้ อันจะเป็นการยกระดับธุรกิจไทยให้มีความเป็นธรรมสำหรับผู้บริโภคชาวไทย และพร้อมรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอนาคตต่อไป