ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ผู้ว่าฯ ภูเก็ต นำเสนอร่างแบบทดสอบบริหารจัดการชายหาด แก้ปัญหาความเดือดร้อนให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบชายหาด ให้ปักร่ม ปูผ้านอนบนหาดได้ แต่ต้องไม่จับจองบนพื้นที่โซนพิเศษ 10% ของชายหาด พร้อมอาชีพนวด และหิ้วกระติกขายของ แต่ไม่ยอมให้วางเตียงเด็ดขาด โดยให้ตั้งบูทให้บริการนอกหาด ตั้งคณะทำงานหาแนวทางปฏิบัติให้เสร็จภายใน 2 สัปดาห์ ก่อนทดลองดำเนินการ 3 เดือน
เมื่อเวลา 14.30 น. วันนี้ (18 ธ.ค.) นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบชายหาด/หน้าหาด จังหวัดภูเก็ต โดย นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ตัวแทนจากกองทัพเรือภาคที่ 3 ตัวแทนจากมณฑลทหารบกที่ 41 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการบริเวณชายหาดจังหวัดภูเก็ต เข้าร่วม ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดภูเก็ต ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบชายหาด
โดยนายนิสิต จันทร์สมวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้นำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาของผู้ประกอบการชายหาด โดยได้เสนอร่างแบบทดสอบบริหารจัดการชายหาด ซึ่งเป็นแนวคิดที่ตนได้คิดขึ้นภายใต้ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการโดยยึดหลักถูกต้องตามกฎหมายราชการ และกฎระเบียบของราชการ โดยไม่อนุญาตให้มีการครอบครองหาผลประโยชน์บริเวณชายหาดโดยเด็ดขาด คนภูเก็ตที่เป็นคนจน และเป็นผู้ประกอบการอยู่แล้วจะต้องได้สิทธิในการเข้าไปประกอบอาชีพก่อน จะต้องเกิดความรัก และความสามัคคีระหว่างผู้ประกอบการโรงแรม และชายหาด
โดยกำหนดวิธีปฏิบัติดังนี้ คือ คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงชายหาดได้โดยไม่มีการครอบครอง และหาผลประโยชน์บนชายหาด จะอนุญาตให้กางร่ม ผ้าเพื่อการพักผ่อนของนักท่องเที่ยวทั้งคนไทย และชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ และเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย การปักร่มนั้นจะจำกัดจำนวนที่ชัดเจนตามขนาดของพื้นที่ แต่ไม่เกิน 10% ของพื้นที่ชายหาด โดยกำหนดพื้นที่ปักร่มเป็นพื้นที่พิเศษ หากผู้ประกอบการมีจำนวนมากก็ให้เวียนกันให้บริการแต่ละวัน จัดให้มีบริการร่ม ผ้า นอกบริเวณชายหาด โดยการทำเป็นซุ้มที่สวยงาม หรือเป็นซุ้มสาธารณะโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่จะไม่อนุญาตให้ตั้งซุ้มบนชายหาดโดยเด็ดขาด รวมทั้งจะมีป้ายแสดงราคาการให้บริการอย่างชัดเจน ซึ่งร่มที่ให้บริการนั้นนักท่องเที่ยวจะต้องนำไปปักเองและเก็บมาคืนหลังใช้บริการแล้วเสร็จ เพื่อไม่ให้มีการจับจองพื้นที่เช่นที่ผ่านมา
การประกอบการนั้นจะให้สิทธิคนภูเก็ตที่ประกอบการอยู่เดิมแล้วจะยากจนได้รับความเดือดร้อน จะมีการลงทะเบียน มียูนิฟอร์มที่ชัดเจน เปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 09.30-16.30 น.เท่านั้น รวมทั้งบนหาดสามารถให้บริการนวดได้ และเมื่อให้บริการนวดแล้วเสร็จจะต้องเก็บอุปกรณ์ออกจากชายหาดทั้งหมด ส่วนหิ้วกระติกขายของนั้นจะไม่อนุญาตให้ขายอาหารคาว หวาน และบุหรี่
ส่วนการบริหารจัดการการให้บริการนั้น ทำในรูปแบบของวิสาหกิจชุมชน ร่ม นวด หิ้วกระติก เพื่อควบคุมไม่ให้ผู้มีอิทธิพลเข้ามาควบคุม โดยจะมีการออกเป็นเทศบัญญัติในการในการบริหารพื้นที่พิเศษด้วยการทำแผนที่กำหนดพื้นที่ให้ชัดเจน หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดปล่อยปละให้มีการดำเนินการนอกพื้นที่พิเศษจะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
นายนิสิต กล่าวว่า ขณะนี้ตนได้ตั้งคณะกรรมการดูแลชายหาด ที่รองผู้ว่าราชการจังหวัดกำกับดูแลแต่ละอำเภอ มีนายอำเภอ ทหารเรือ ท้องถิ่น ททท. เจ้าท่า ที่ดิน ตำรวจ ตัวแทนสมาคมโรงแรม สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวฯ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และตัวแทนจากผู้ประกอบการเข้ามาดูแลการปฏิบัติการตามแนวทางดังกล่าว ว่า สามารถที่จะดำเนินการได้หรือไม่ โดยจะมีการประเมินผลทุกๆ เดือน จะทำการทดสอบเป็นเวลา 3 เดือน หลังจากนั้น จะให้นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยทำการประเมินว่า สามารถที่จะดำเนินการตามกรอบที่กำหนดได้หรือไม่ หรือจะต้องแก้ไขในส่วนใด หรือจะต้องยกเลิกเนื่องจากไม่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งทั้งหมดนี้เพื่อให้ชายหาดของภูเก็ตเป็นหาดที่น่าเที่ยว และหากผู้ประกอบการรายใดไม่ปฏิบัติตามกติกาที่กำหนดก็ต้องยกเลิกไม่อนุญาตให้ประกอบการบนชายหาดอีกต่อไป โดยแผนทั้งหมดนี้ตนได้แจ้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรับทราบแล้ว
“ร่างแบบทดลองการบริหารจัดการชายหาดที่เสนอว่าทั้งหมดนี้เป็นเพียงตุ๊กตาที่จะเป็นแนวทางในการแก้ปัญหา ที่ผ่านมา คนภูเก็ตได้มีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ จำนวนมาก ซึ่งไม่เป็นสถานการณ์ที่ดี ทำให้เกิดสุญญากาศในการบริหารจัดการ ซึ่งร่างทดลองฯ ดังกล่าวจะทำให้การแก้ปัญหาสามารถเดินหน้าไปได้ เวทีการต่อสู้ไม่เหมาะสม การหาทางออกร่วมกันจะเป็นการแก้ปัญหาที่ดี โดยยึดหลักจะต้องไม่มีการยึดครองชายหาดโดยเด็ดขาด” ผู้ว่าฯ ภูเก็ต กล่าวและว่า
สำหรับการดำเนินการให้เป็นไปตามตุ๊กตาที่วางไว้นั้น ได้มอบให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตทั้ง 3 ท่านรับผิดชอบคนคนละอำเภอ เพื่อไปพูดคุยกับคณะกรรมการดูแลหาด ซึ่งมีนายอำเภอเป็นหัวหน้าคณะกรรมการ และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไปหารือถึงวิธีปฎิบัติให้เป็นไปตามกรอบที่วางไว้ให้ได้ข้อสรุปที่สามารถปฏิบัติได้ภายใน 2 สัปดาห์ หลังจากนั้น ก็จะเดินตามกรอบแนวทางที่กำหนดไว้
อย่างไรก็ตาม ร่างแบบทดสอบบริหารจัดการชายหาดที่ผู้ว่าฯ ภูเก็ตนำเสนอนั้น ทางผู้ประกอบการยอมรับได้ แต่จะต้องไปหารือ และลงลึกในรายละเอียดของแนวทางการปฏิบัติอีกครั้งหนึ่งที่จะต้องให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ และทดลองดำเนินการภายใน 3 เดือน