ปัตตานี - “นายมะยีดี บาสา” เหยื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ใช้ปลายปืนทุบศีรษะจนตาด้านซ้ายหลุดทั้งพวง สมองพิการเป็นอัมพาต ด้านแม่เผยทางบ้านรับจ้างกรีดยางมีฐานะยากจน ถูกไล่ออกเนื่องจากต้องมาดูแลลูก ซ้ำร้ายถูกเจ้าหน้าที่รีดไถเงินเยียวยาไปกว่า 200,000 บาท วอนขอความเป็นธรรม ด้าน ผบ.ศป.ชต.ย้ำ “ตำรวจต้องเข้าใจประชาชน”
วันนี้ (14 ธ.ค.) ที่ขนำเล็กๆ ในชุมชนบ้านปาแดรู ซึ่งเป็นบ้านของ นายมะยีดี บาสา วัย 20 ปี ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 169 หมู่1 ต.กาตอง อ.ยะหา จ.ยะลา ยังคงนอนอยู่บนเตียง ช่วยตัวเองไม่ได้ ไม่รู้จักแม้ตัวเองว่าเป็นใคร ถูกอะไร มีเพียงร้อยยิ้มทุกครั้งเมื่อมีใครเข้ามาเยี่ยม ปัจจุบันมีเพียงนายมะกอนี บาสา บิดา นางมีดะห์ เจะมะ และมารดา ที่คอยทำหน้าที่ดูแลอาบน้ำ เปลี่ยนผ้า สวมเสื้อผ้า ป้อนข้าวทุกครั้งอย่างใกล้ชิด
เพราะนายมะยีดี นั้นไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เลย ตั้งแต่ตกเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ทำร้ายร่างกาย ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ตั้งด่านสกัดลอย โดยการใช้ปลายกระบอกปืนกระแทกศีรษะจนทำให้ลูกตาข้างซ้ายหลุดออกจากเบ้าตา อาหารสาหัส ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะนำร่างส่งรักษาที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ยะหา หลังจากญาติทราบข่าว ญาติจึงได้ช่วยกันนำดวงตาที่ตกอยู่บริเวณที่เกิดเหตุส่งให้แพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อให้การช่วยเหลือต่อไป เนื่องจากห่างกันหลายชั่วโมง ดวงตาเหล่านั้นไม่สามารถทำให้น้องเขามองเห็นได้อีก เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 57 ที่ผ่านมา
จากการเปิดเผยของ นายมะกอนี บาสา บิดาของ นายมะยีดี หลังเกิดเหตุได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์เรื่องนี้ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา โดยสรุปเหตุการณ์ได้ว่า ในวันเกิดเหตุ นายมะยีดี ลูกชายได้ขี่รถจักรยานยนต์ยี่ห้อซูซูกิ รุ่นสแมช อยู่บนถนนสายสะบ้าย้อย-ยะหา เพื่อกลับบ้าน ในระหว่างทางเจอเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งด่านตรวจบริเวณ ต.ฐานคิรี อ.สะบ้าย้อย จึงกลับรถเพื่อหลบหนีไปเส้นทางสายอื่น เพื่อหลีกเลี่ยงจากการตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ เนื่องจากใต้เบาะรถได้ซุกน้ำใบกระท่อมไว้จำนวนหนึ่ง เกรงว่าจะถูกจับกุม
ในระหว่างนั้นถูกตำรวจใช้ไม้หน้าสามขว้างใส่จนรถเสียหลักล้ม แล้วจากนั้นตำรวจก็เข้าทำร้ายร่างกายโดยใช้ด้ามปืนตีที่ศีรษะ เป็นเหตุให้นายมะยีดี กะโหลกด้านข้างยุบ ดวงตาซ้ายหลุดออกมาทั้งพวง อาการสาหัส ต้องเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา ก่อนย้ายไปพักรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลยะหา รวมเวลาอยู่ในโรงพยาบาลนานถึง 66 วัน ปัจจุบันร่างกายซีกซ้ายไม่ตอบสนอง แพทย์ให้กลับไปพักฟื้นต่อที่บ้าน
ในขณะนั้น นางมีดะห์ เจะมะ มารดาของมะยีดี เล่าว่า ทางบ้านมีฐานะยากจน มีอาชีพรับจ้างกรีดยาง เมื่อลูกชายถูกทำร้ายก็ต้องไปเฝ้าไข้ที่โรงพยาบาลจนถูกเจ้าของสวนไล่ออก ตอนนี้ไม่มีงานทำ ขณะที่ลูกชายยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย ที่ผ่านมา ได้ร้องเรียนไปที่ศูนย์ดำรงธรรม ศอ.บต. “บ้านเรามีลูก 5 คน มะยีดี เป็นลูกคนที่ 2 เมือก่อนตอนที่ร่างกายยังแข็งแรง เขาเป็นกำลังหลักของครอบครัวในการช่วยเก็บน้ำยาง ส่วนลูกคนโตชื่อ นาแซ บาสา เป็นทหาร คนที่สาม อุสมาน บาสา อายุ 15 ปี ไม่ได้ทำงานอะไร คนที่สี่ เป็นลูกสาว ชื่อ นุรีดา บาสา อายุ 14 ปี เรียนอยู่ ม.2 โรงเรียนยะหาวิทยา เป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ส่วนลูกคนที่ห้า ชื่อ ด.ญ.มูรณี บาสา อายุได้ 5 ขวบ ยังไม่ได้เรียนหนังสือ”
“ตอนนี้ฉันเป็นห่วงก็แต่ นูรีดา เพราะเรียนหนังสืออยู่ชั้นมัธยม 2 ไม่รู้ว่าจะเอาเงินที่ไหนส่ง ตอนนี้ไม่มีรายได้อะไรเลย และไม่รู้จะทำอะไรต่อ ได้แต่รอเงินบริจาคจากคนที่มาเยี่ยม” นางมีดะห์ กล่าว
ต่อมา ทางครอบครัวได้ร้องเรียนไปที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยุคสมัย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เพื่อเข้าคลี่คลายปัญหาดังกล่าว จนได้มีการหารือกับฝ่ายตำรวจที่ก่อเหตุในครั้งนั้นเพื่อแสดงความรับผิดชอบร่วมกัน จนในที่สุด ตำรวจทั้ง 3 นายที่ก่อเหตุยอมจ่ายค่าเยียวยาจิตใจเป็นเงินสด 1 ล้านบาท และทาง ศอ.บต.ช่วยอีกเป็นเงินสด 8 แสนบาท แต่ไม่มีการดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ก่อเหตุแต่อย่างใด
ปัจจุบัน ครอบครัวของมะยีดี ก็ยังคงต้องใช้ชีวิตลำพังอย่างไม่ได้รับความเป็นธรรมเพราะเงินที่จ่ายมานั้นยังถูกเจ้าพนักงานของรัฐบางคนแอบอ้างว่าเป็นเพราะเขาเป็นผู้ประสานการให้ความช่วยเหลือ จึงได้ข่มขู่ขอส่วนแบ่งจากเงินก่อนดังกล่าว ถ้าไม่ให้จะไม่รับรองความปลอดภัยของครอบครัว จึงจำยอมต้องแบ่งให้ไม่ต่ำกว่า 2 แสนบาท
นางฮามีดะห์ กล่าวว่า ทุกวันนี้สำหรับครอบครัวยังไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะสิ่งที่ลูกเขาถูกกระทำไม่สามารถตีราคาเป็นเงินได้ และทุกวันนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาให้ความช่วยเหลือใดๆ แม้กระทั่งผู้บังคับบัญชาของตำรวจก็ยังไม่มีใครแสดงความรับผิดชอบบ้างเลย นอกจากจำนวนเงินดังกล่าวถามว่ามันเพียงพอหรือต่อลูกที่ต้องมาเป็นคนที่ไม่รู้อะไรเลยแม้ที่มาของตัวเองว่าเป็นใคร
ด้าน พล.ต.ท.อนุรุต กฤษณะการะเกตุ ผบ.ศป.ชต. ได้เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า วันนี้ตำรวจต้องเป็นที่พึ่งของประชาชน ตำรวจต้องเข้าใจประชาชน ไม่ใช่ให้ประชาชนเข้าใจตำรวจ สิ่งสำคัญที่สุดที่อยากจะทำคือ อยากให้ประชาชนมีส่วนร่วม เป็นตำรวจแล้วต้องรู้ว่าประชาชนเขาต้องการอะไร ประชาชนเขาคิดอะไร
10 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์ไฟใต้ ตำรวจเรามีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยให้แก่ประชาชน แต่กลับมีประชาชนต้องมีการสูญเสียจากเหตุการณ์ความรุนแรงมากถึง 5,000 คน มีการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา 95% เป็นคดีเกี่ยวกับการต่อสู้ทางความคิด มีการตอบโต้อย่างรุนแรง เพราะเราใช้อำนาจรัฐมากเกินไป เราไม่เปิดโอกาสให้เขาเหล่านั้นเข้ามาพูดคุย
วันนี้เราจะเปิดโอกาสในทุกระดับ ทุกพื้นที่หมู่บ้านตำบลให้เข้ามามีส่วนในการเข้ามาช่วยกัน เราไม่ต้องการเห็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่สงคราม เป็นสนามรบ เป็นพื้นที่การต่อสู้อีกแล้ว ผมจะเดินด้วยกันกับประชาชน ผมรู้ปัญหาดี เพราะผมอยู่กับประชาชนที่นี่กว่า 30 ปี อยู่ร่วมกับพี่น้องมุสลิมที่นี่ ผมจึงอยากเอาพลังประชาชนมาเป็นกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยบ้านเมืองนี้
วันนี้กองทัพช่วยเหลือกำลังตำรวจในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้มาโดยดีตลอด เพราะกำลังพลเรายังขาดอีก 3,000 นาย ทาง พล.ท.ปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้สนับสนุนกำลังตำรวจเพิ่มเติมอีก 2,000 นาย จากกำลังพลที่ยังขาดอีก 3,000 นาย ผมจึงคิดที่จะจัดกำลังพล 2,000 นายนี้เป็นตำรวจพลังประชาชน โดยเราจะจัดสรรโควตาขึ้นเป็นกรณีพิเศษตามสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ ประกอบด้วย 1.เปิดรับสมัครเด็กนักเรียนจบเรียนจากสถาบันปอเนาะ 2.ลูกของนักสู้ (แนวร่วม) ที่เสียชีวิตจากการปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐ 3.ลูกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน 4.อาสมัครต่างๆ ในพื้นที่ ลูกตำรวจในพื้นที่ที่เกษียณอายุราชการ ซึ่งสัดส่วน และกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้เราจะเปิดโอกาสให้เขาเข้ามาลงสมัครแข่งขันกันเอง และแบ่งเป็นสัดส่วนอย่างเป็นธรรม
ผมอยากบอกพี่น้องประชาชนใน 3 จังหวัด และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาว่า ต่อไปตำรวจกับประชาชนต้องเป็นมิตรกัน ตำรวจต้องไม่มีอคติกับประชาชน มองมุสลิมสวมหมวกกะปิเยาะ (หมวกสวมเวลาละหมาด) อย่างเป็นมิตร เพื่อลดความระแวงระหว่างตำรวจกับประชาชน เราจะสนับสนุนเปิดเวทีพูดคุยของคนที่มีความคิดต่าง เราต้องรับฟังเขาว่าเขาต้องการให้เราทำสิ่งใด เราไม่ใช่อำนาจรัฐไปกดดัน เราอยากใช้การเมืองมาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เราอยากเห็นความสงบในพื้นที่อย่างยั่นยืน เรากำลังจะสู่การเป็นประชาคมอาเซียน สิ่งที่เราอยากเห็นมากที่สุดในพื้นที่วันนี้ประชาชนเดินเข้ามาหาตำรวจมากขั้น
นอกจากนั้น เพื่อลดปัญหาความไม่ไว้วางใจ หรือการหวาดระแวงระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ ผมจะเปิดรับร้องทุกข์ กรณีถูกออกหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่ด้วยตัวเอง ไม่ต้องกลัวเจ้าหน้าที่จะจับ แต่ถ้ากลัวจะถูกเจ้าหน้าที่จับกุมขอให้ญาติเข้าร้องทุกข์ก็ได้ โดยจะจัดตั้งในตัวเมืองของแต่ละอำเภอ เพื่อผมจะได้ให้เจ้าหน้าที่รวบรวมแล้วนำมาตรวจสอบว่ามีความชัดเจนต่อพยานหลักฐานมากน้อยแค่ไหน ถ้าไม่มีพยานหลักฐานที่แน่ชัดผมจะดำเนินการถอดถอนหมายทันที เพื่อเกิดความสงบสุขของบ้านเมือง และถ้าในพื้นที่ไม่มีเหตุระเบิดขึ้นในระยะหนึ่งได้ผมจะรีบดำเนินการเพื่อให้มีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่ทันที