xs
xsm
sm
md
lg

สพฐ.เขต 2 ยะลา เผย นร.ในพื้นที่ยังด้อยภาษาไทย เร่งพัฒนาการเขียน-อ่าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ยะลา - ครูยะลา เผยข้อมูลเด็กนักเรียนในพื้นที่ยังอ่านเขียนภาษาไทยไม่ได้ ขณะที่ ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา ยะลา เขต 2 เน้นให้เป็นนโยบายอับดับแรกในการเร่งพัฒนาการอ่านเขียนภาษาไทย หลังพบ 67 โรงเรียนในพื้นที่ยังด้อยภาษาไทย

วันนี้ (12 ธ.ค.) ที่ห้องเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3/1 โรงเรียนบันนังสตาอินทรฉัตร มิตรภาพที่ 200 อ.บันนังสตา จ.ยะลา ซึ่งเป็นโรงเรียนประถมประจำอำเภอ นางวนิดา ศิริสวัสดิ์ ครูสอนภาษาไทย ประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 3-4 ได้ใช้สื่อการเรียนการสอน การอ่านออกเสียงภาษาไทยที่จัดทำขึ้นเอง สอนให้แก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3

โดยเน้นให้นักเรียนอ่านออกเสียงภาษาไทยอย่างชัดเจน และเข้าใจความหมายในแต่ละคำของภาษาไทยอย่างถูกต้อง ซึ่งนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3/1 ให้ความสนใจ และท่องคำได้อย่างชัดเจน หลังมีนโยบายเน้นการเรียนการสอนภาษาไทยให้แก่นักเรียนชั้นประถมการศึกษาของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษายะลา เขต 2 ตามนโยบายของรัฐบาลในการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง

 
นางวนิดา ศิริสวัสดิ์ ครูผู้สอนภาษาไทย เปิดเผยว่า นักเรียนที่นี้จะพูด 2 ภาษา เนื่องจากเป็นนักเรียนที่นับถือศาสนาอิสลาม ในชีวิตประจำวันจึงใช้ภาษาท้องถิ่นในการสื่อสารกัน ทั้งภายในครอบครัว ญาติพี่น้อง หรือเพื่อนๆ ด้วยกันเอง เมื่อโรงเรียน เด็กๆ ก็ยังใช้ภาษาท้องถิ่นในการสื่อสารกัน ทำให้นักเรียนส่วนใหญ่นั้นยังไม่เข้าใจในภาษาไทย จึงได้มีการเน้นในการเรียนการสอนภาษาไทย ครูเองก็ต้องพัฒนา และปรับตัวให้เข้ากับเด็ก โดยครูเองก็จะต้องเข้าใจภาษาท้องถิ่นที่นักเรียนใช้ในการสื่อสาร และมาปรับรูปแบบใช้กับภาษาไทย พูดและสื่อสารกับนักเรียนจนการเรียนภาษาไทยนั้ ต้องมีการจัดทำสื่อเพื่อง่ายในการสอน และเด็กจะเข้าใจง่ายขึ้น จนสามารถที่จะอ่านออกเขียนได้ และออกคำตามเสียงได้อย่างชัดเจน แม้ว่าบางคนยังไม่ชัดเจนในการออกเสียง แต่เด็กนักเรียนจะพยายามใส่ใจเป็นอย่างมาก

“ความสำคัญในการสอนเด็กในพื้นที่นี้อยากให้รัฐบาลได้สนับสนุนสื่อการเรียนการสอน ที่มีการพัฒนาหลักการเรียนการสอนให้นักเรียนได้เข้าใจง่ายขึ้น และการให้เวลาระหว่างครูกับนักเรียนให้มากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมานั้นครูก็จะมีงานด้านวิชาการเยอะ จนเหลือเวลาสอนนักเรียนน้อย หากครูมีเวลาให้นักเรียนมากขึ้น นักเรียนก็จะมีการพัฒนาที่รวดเร็วกว่านี้” นางวนิดา กล่าว

 
ขณะที่ นายนิตย์ พรหมประสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เขต 2 เปิดเผยว่า การพัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทย หลังได้รับนโยบายจากกระทรวงศึกษาธิการ ก็ได้ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายศึกษานิเทศก์ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฯ ลงพื้นที่สำรวจโรงเรียนทั้ง 67 แห่ง ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเขต 2 ก็เป็นที่น่าตกใจว่า เด็กชั้นประถมต้น ตั้งแต่ประถม 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ยังไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ และไม่เข้าใจในภาษาไทย ส่วนเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีการพูดภาษาไทยได้ แต่ก็ยังมีที่ไม่เข้าใจในคำ หรือไม่สามารถจะเขียนได้ ซึ่งจากการตรวจสอบนั้นพบว่า มีนักเรียนเป็นจำนวนมากที่ยังไม่เข้าใจในภาษาไทย

“ตนเองได้มีการหารือกับคณะกรรมการสถานศึกษา และตั้งเป็นนโยบายอันดับแรกที่จะต้องให้เด็กในระดับชั้นประถมการศึกษาต้นสามารถจะอ่านออกเขียนได้ และเข้าใจในภาษาไทย เพราะที่ผ่านมา ต้องยอมรับความจริงว่าเด็กๆ ในชั้นประถมศึกษาในพื้นที่ยังไม่สามารถจะอ่านออกเขียนได้ และไม่เข้าใจภาษาไทย” ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เขต 2 กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม ได้มีการเน้นย้ำให้ครูเพิ่มช่วงเวลาในการเรียนการสอนภาษาไทยในแต่ละสัปดาห์ให้มากขึ้น เพื่อให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กได้มีการพัฒนาที่ดี จนสามารถจะอ่านออกเขียนได้ และเข้าใจในการใช้ภาษาไทย เพื่อนักเรียนเองจะได้เข้าใจและสามารถเข้าศึกษาต่อได้ในอนาคต
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น