xs
xsm
sm
md
lg

“หลวงพ่อบัวทอง” แห่ง “สำนักสงฆ์ชาญคูหา” พระนักปฏิบัติกลางพื้นที่ไฟใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ยะลา - “หลวงพ่อบัวทอง” เจ้าอาวาส “สำนักสงฆ์ชาญคูหา” อ.บันนังสตา จ.ยะลา ซึ่งจำพรรษารูปเดียวที่สำนักสงฆ์แห่งนี้กว่า 30 ปี เผยยึดหลักความจริงใจท่ามกลางความแตกต่างทางศาสนา ไม่เคยคิดย้ายออกนอกพื้นที่ รับเหตุรุนแรงทำพี่น้องไทยพุทธในพื้นที่ลดลง

วันนี้ (30 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “สำนักสงฆ์ชาญคูหา” หรือที่ชาวบ้านเรียกติดปากกันว่า “ถ้ำแรด” ตั้งอยู่ที่ติดริมถนนสาย 4077 บันนังสตา-ยะหา บ้านบือราเป๊ะ ม.7 ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา มีหลวงพ่อบัวทอง สุวัณโณ อายุ 77 ปี เป็นเจ้าอาวาส ที่ถือครองปฏิบัติศาสนกิจสงฆ์เพียงรูปเดียว มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งสำนักสงฆ์ชาญคูหา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 จนถึงปัจจุบัน

ซึ่งในปัจจุบัน สำนักสงฆ์ชาญคูหา ได้ถูกหลวงพ่อบัวทอง และหน่วยงานภาครัฐที่ให้ความร่วมมือเข้าไปปรับปรุงสถานที่ ทั้งภายนอก และภายในถ้ำให้มีความสวยงาม มากกว่าอดีตที่ผ่านมา เพื่อหวังให้พุทธศาสนิกชนใน อ.บันนังสตา และพื้นที่ใกล้เคียงได้เข้าไปปฏิบัติธรรม หรือแวะเวียนไปเที่ยวชม

หลวงพ่อบัวทอง สุวัณโณ เจ้าอาวาสสำนักสงฆ์ชาญคูหา ได้เปิดเผยว่า หลังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 จนถึงปัจจุบันนี้ พุทธศาสนิกชน หรือชาวพุทธในพื้นที่เข้ามาน้อยมากจนเรียกได้ว่าแทบจะไม่มีใครมาเลย นานๆ ถึงจะมีผู้คิดถึง และเข้ามาเยี่ยมเยียนสักครั้ง เนื่องจากพื้นที่ตรงนี้ที่สำนักสงฆ์ตั้งอยู่ อยู่ท่ามกลางหมู่บ้านของพี่น้องชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามเกือบทั้งหมด ซึ่งเมื่อก่อนก็มีกลุ่มคนไทยพุทธอยู่บ้าง แต่เมื่อเหตุการณ์ในพื้นที่มันรุนแรงอย่างต่อเนื่อง กลุ่มคนไทยพุทธก็เกิดความกลัว และย้ายหนีกันไป

เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามถึงการปฏิบัติศาสนกิจสงฆ์ การบิณฑบาตตามกิจของสงฆ์ หลวงพ่อบัวทอง ก็บอกว่า “จะบิณฑบาตได้อย่างไร พื้นที่นี้มีแต่พี่น้องมุสลิม เมื่อก่อนก็เคยไปเดินบิณฑบาตในตลาดบันนังสตา แต่ทางเจ้าหน้าที่เกรงว่าจะไม่ปลอดภัย จึงขอร้องไม่ให้ออกไปบิณฑบาต ซึ่งในแต่ละวันแต่ก็ไม่ทุกวัน จะมีชาวบ้าน มีพุทธศาสนิกชนนำสิ่งของมาใส่บาตรที่สำนักสงฆ์ แต่ก็นานๆ ครั้ง ซึ่งไม่เป็นปัญหา เพราะตนเองฉันเพียงวันละมื้อเท่านั้น”

ผู้สื่อข่าวถามหลวงพ่อว่า ท่านอยู่ได้อย่างไรในพื้นที่ที่บริเวณรอบนอกมีอันตราย มีเหตุอยู่บ่อยครั้ง หลวงพ่อบัวทอง สุวัณโณ ก็ตอบว่า “อาตมาใช้ความจริงใจในการอยู่ร่วมกับคนในพื้นที่ เมื่อก่อนนี้ก็มีกลุ่มชาวบ้านที่เป็นมุสลิมแวะเวียนมาหา ให้ความเคารพต่อกันบ่อยครั้ง เราเองก็สนทนากับชาวบ้านด้วยความจริงใจ เผยว่าตนเองเป็นผู้ที่ปฏิบัติตามหลักศาสนาที่ต่างกันเท่านั้น แต่เราก็เป็นคนไทยอยู่บนพื้นดินเดียวกัน มีชาวบ้านในพื้นที่ให้ความเคารพนับถือ แต่ระยะหลังๆ ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป ชาวบ้านไม่กล้าที่จะเดินเข้ามาภายในสำนักสงฆ์ แต่เจอกันข้างนอกก็พูดคุยทักทายกันเป็นปกติ

“อาตมาไม่เคยมีความคิดที่จะย้ายออกไป แม้เคยมีพุทธศาสนิกชน หรือทางอำเภอ เข้ามาขอให้ย้ายออกไปเพื่อความปลอดภัย แต่อาตมาถือว่าตนเองปฏิบัติธรรมไม่ได้คิดร้ายต่อใคร ทุกคนล้วนแต่เป็นคนไทยเหมือนกัน มีอะไรก็ช่วยเหลือกัน ช่วยกันได้ก็ช่วย ขออะไรก็ให้ ถือเอาความจริงใจเป็นหลักในความแตกต่างทางศาสนา เราก็อยู่ได้” หลวงพ่อบัวทอง กล่าว

ทั้งนี้ สำนักสงฆ์ชาญคูหา หรือถ้ำแรด ได้รับการพัฒนา และปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบ ให้มีความร่มรื่น สะอาดตา โดยการพัฒนาของหลวงพ่อบัวทอง จากเงินบริจาคของพุทธศาสนิกชน และจากหน่วยงานภาครัฐที่เข้าไปปรับปรุงสถานที่ ซึ่งภายในถ้ำมีพระพุทธรูปจำนวนหลายองค์ มีภาพเขียน และการจารึกการเริ่มก่อตั้ง มีโครงกระดูกช้างป่า ที่เสียชีวิตมาแล้วจำนวนหลายร้อยปี ตั้งอยู่หน้าทางเข้าถ้ำ ภายนอกของถ้ำก็มีตัวอาคาร ซึ่งกำลังถูกพัฒนาสำหรับรองรับผู้ที่จะเดินทางมาปฏิบัติธรรม แม้ว่าในปัจจุบันจะมีผู้คนเพียงน้อยนิดที่จะแวะเวียนเข้าไปเยี่ยมเยียน และกราบนมัสการเจ้าอาวาสเพียงรูปเดียว ที่คอยอยู่ดูแล และปฏิบัติกิจสงฆ์มาเกือบ 30 ปี



 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น