xs
xsm
sm
md
lg

จนท.เร่งแก้ปัญหาโขลงช้างป่าฮาลาบาลาบุกพื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
ยะลา - เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลาบาลา ลงพื้นที่บ้านสันติ 2 ต.แม่หวาด อ.ธารโต จ.ยะลา เพื่อตรวจสอบหาร่องรอยของโขลงช้างป่าที่บุกเข้าหากิน และทำลายพืชสวนชาวบ้าน ก่อนจะวางมาตรการผลักดันช้างป่าคืนสู่ธรรมชาติ

วันนี้ (1 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดยะลา ว่า จากกรณีที่เกิดปัญหาโขลงช้างป่าจำนวนมากบุกเข้าหากิน และทำลายพืชสวนของชาวบ้านในพื้นที่บ้านสันติ 1 บ้านภักดี บ้านฉลองชัย ต.เขื่อนบาลาง อ.บันนังสตา และบ้านสันติ ต.แม่หวาด อ.ธารโต จ.ยะลา จนทำให้พืชสวนของชาวบ้านกว่า 20 ราย ทั้ง ต้นทุเรียน ต้นลองกอง ต้นยางพารา ถูกโขลงช้างป่าโค่นถอนทำลายเพื่อหากิน ได้รับความเสียหายหลายร้อยไร่

ล่าสุด เจ้าหน้าที่จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลาบาลา ได้เดินทางลงพื้นที่ สอบถามปัญหาที่เกิดขึ้นจากชาวบ้าน และติดตามโขลงช้างป่า เพื่อหาข้อมูลในขั้นต้น โดยชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนซึ่งมีกว่า 20 ราย ในจำนวน 4 หมู่บ้าน ได้ให้ข้อมูลว่า ปัญหาช้างป่าที่เข้าบุกรุกทำลายพืชสวนของชาวบ้านอย่างหนักในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งก่อนหน้านี้ ปัญหาช้างป่ายังไม่รุนแรง เนื่องจากโขลงช้างป่าได้หากินบริเวณท้ายสวนของชาวบ้าน ซึ่งอยู่ติดเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติป่าฮาลาบาลา และเขตป่าสงวนของนิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้

 
แต่ในช่วงระยะ 2-3 ปี ที่ผ่านมา โขลงช้างป่า ได้เปลี่ยนทิศทางในการเดินหากิน ลงมาหากินพืชสวน และผลไม้ของชาวบ้าน บางครั้งบุกทำลายบ้าน และกระท่อมในสวนผลไม้ จนพังเสียหาย จนสร้างความเดือดร้อน และความหวาดกลัวให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่มาตลอด 

ซึ่งปัญหาดังกล่าว เคยมีหน่วยงานทางภาครัฐ ทั้งอำเภอ และจังหวัดเข้ามาดูแล และหารือร่วมกับชาวบ้านในการแก้ไขปัญหา แต่ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ปัญหาดังกล่าวก็ถูกละเลยไป ชาวบ้านเองก็ทำได้เพียงเฝ้าระวัง และจุดประทัดไล่โขลงช้างป่า หากพบว่าช้างป่าบุกลงมาหากินในสวนผลไม้ของชาวบ้าน เพื่อเป็นการขับไล่ช้างกลับเข้าไปในป่าตามวิธีการของชาวบ้าน

โดยในวันนี้ นายเจริญชัย โตไธสง นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ สังกัดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลาบาลา ได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อรับทราบปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมกับชี้แจงรายละเอียดถึงวัฏจักรการหากินของช้างป่า ให้กลุ่มชาวบ้านได้เข้าใจถึงวิถีชีวิตช้างป่า ก่อนที่จะดำเนินการรวบรวมข้อมูลจากชาวบ้าน และการตรวจสอบสวนผลไม้ พืชสวนที่ถูกช้างป่าบุกทำลาย อีกทั้งเก็บข้อมูลจากรอยเท้าช้าง มูลช้าง มาตรวจสอบหารายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อประเมินถึงขนาดของโขลงช้างป่า ว่ามีจำนวนกี่ตัว และอายุของช้างที่เป็นผู้นำโขลงช้างป่าออกหากิน

โดยในเบื้องต้น เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลาบาลา ได้จัดชุดเจ้าหน้าที่ พร้อมกับกลุ่มชาวบ้านเข้าติดตามโขลงช้างป่าในจุดที่พบล่าสุด บริเวณกลางหมู่บ้าน เขตรอยต่อ ต.แม่หวาด อ.ธารโต และ ต.เขื่อนบางลาง อ.บันนังสตา จ.ยะลา โดยจะเดินเท้าตามร่องรอยเท้าช้าง เข้าไปสำรวจเส้นทางการเดินหากินของโขลงช้างป่าดังกล่าว

นายเจริญชัย โตไธสง นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ สังกัดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลาบาลา บอกว่า ในเบื้องต้นจะต้องติดตามร่องรอยของช้างป่า เพื่อเก็บข้อมูลว่า จำนวนช้างป่ามีอยู่เท่าไหร่ และช่วงชั้นอายุของช้างในแต่ละตัว พร้อมทั้งสังเกตพฤติกรรมของโขลงช้างป่าดังกล่าว ว่าจะยังคงมีพฤติกรรมที่จะวนเวียนหากินในพื้นที่แถบนี้อีกหรือไม่ หรือจะเปลี่ยนเส้นทางการเดินหากินไปยังพื้นที่อื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งหากว่ายังคงวนเวียนอยู่ในแถบหมู่บ้านที่มีผู้คนอาศัยอยู่ ก็จะต้องดำเนินการตามมาตรการผลักดันช้างเข้าป่า เพื่อให้ชาวบ้านเกิดความสบายใจ และลดความหวาดกลัวในการประกอบอาชีพประจำวันลงไปในระดับหนึ่ง ซึ่งอาจจะต้องประสานความร่วมมือจากกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันโขลงช้างป่า เนื่องจากกำลังของเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่อาจจะไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม การผลักดันช้างป่าก็จะต้องยึดหลักที่จะไม่ทำให้ช้างได้รับบาดเจ็บ ซึ่งจะต้องมีการวางมาตรการกันอีกครั้ง

“หลังจากการเก็บข้อมูลของโขลงช้างป่าในพื้นที่นี้ ก็จะมีการดำเนินการนำข้อมูลที่ได้ไปทำการวิเคราะห์ และวางแผนจัดการเกี่ยวกับประชากรช้างในพื้นที่ต่อไป เพื่อจะสามารถดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาในระยะยาวต่อไป” นายเจริญชัย กล่าว

 
อย่างไรก็ตาม ปัญหาช้างป่าที่บุกรุกเข้ามาหากินในพื้นที่ที่มีคนอาศัยอยู่นั้น อาจจะเกิดจากปัจจัยหลายๆ อย่าง และจากข้อมูลจากชาวบ้านในพื้นที่ทราบว่า โขลงช้างป่า ที่เข้ามาสร้างปัญหาอยู่ในขณะนี้มีจำนวนประมาณ 10-20 ตัว และในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ปี 2553-2557 ชาวบ้านประสบปัญหาช้างป่า เข้าทำลายพืชสวนมาอย่างต่อเนื่อง และเคยดำเนินการขอความช่วยเหลือไปยังอำเภอ เพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งได้มีการชดเชยค่าอาสิน หรือสินทรัพย์ที่ได้รับความเสียหายไปบ้างแล้ว

แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มชาวบ้านที่อยู่อาศัยในพื้นที่มีความต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดำเนินการแก้ไขปัญหาระยะยาว โดยที่ผ่านมานั้น ชาวบ้านบางรายที่ทรัพย์สินเสียหาย ต้องอดทนต่อการกระทำของช้างป่า และชาวบ้านเองก็ไม่เคยลงมือกระทำ หรือใช้วิธีการขับไล่ช้าง จนทำให้ช้างบาดเจ็บ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ปัญหาช้างป่าบุกรุกที่ทำกินของชาวบ้านได้มีการวิเคราะห์ถึงปัญหา และสาเหตุที่ช้างป่าลงมาหากินในถิ่นที่คนอยู่อาศัย อาจจะเป็นไปได้ว่ามีกลุ่มนักล่าช้างป่า เพื่อเอางาไปขาย เนื่องจากที่ผ่านมา มีชาวบ้านสังเกตพบว่า ในจำนวนโขลงช้างป่าที่ลงมาหากิน มีบางตัวถูกทำร้ายมาจากพื้นที่อื่น

จึงเป็นไปได้ว่า ได้หลบหนีนักล่าช้างลงมาหากินในถิ่นที่อยู่อาศัยของคน อีกประเด็นคือ การบุกรุกแผ่วถ่างป่าในเขตป่าสงวนฯ จนทำให้ช้างป่าไม่มีอาหารจึงพากันเดินลงมาหากินในพื้นที่ของชาวบ้าน และยิ่งในช่วงฤดูผลไม้ โขลงช้างป่า จะวนเวียนลงมาหากินทุกสัปดาห์ และเปลี่ยนสถานที่ เปลี่ยนช่วงระยะเวลาในการออกมาหากินอย่างต่อเนื่อง ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่เองก็ทำได้เพียงเฝ้าระวัง และใช้เสียงประทัดในการขับไล่ช้างเท่านั้น
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น