นครศรีธรรมราช - ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเรียกร้องให้ย้ายนายทหาร กอ.รมน.ออกนอกพื้นที่ หลังพบมีการข่มขู่ “พิธาน” แกนนำต้านเหมืองแร่ก่อนถูกยิงเสียชีวิต อีกทั้งขมขู่ชาวบ้านให้ถอนฟ้องศาลปกครอง เตรียมร้องกรรมการสิทธิฯ ร่วมสืบสวนด้วย ด้านตัวแทนสภาทนายความพบพิรุธ คาดต้องการให้ชาวบ้านออกนอกพื้นที่โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
วันนี้ (6 ธ.ค.) ที่ จ.นครศรีธรรมราช ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีคดี นายพิธาน ทองพนัง แกนนำคัดค้านเหมืองแร่ในตำบลกรุงชิง ตำบลกรุงชิง อำเภอนบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช ถูกยิงเสียชีวิต โดยในวันนี้การบำเพ็ญกุศลศพเป็นวันสุดท้าย โดยครอบครัว และญาติมิตรของนายพิธาน ทองพนัง รวมทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ ได้ทยอยเข้ามารวมตัวที่วัดชลธาราม ตำบลท่าขึ้น อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช สถานที่บำเพ็ญกุศลศพของ นายพิธาน ทองพนัง แกนนำคัดค้านการทำเหมืองแร่บนเขาไม้ไผ่ ตำบลกรุงชิง อำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งมีการบำเพ็ญกุศลมาครบ 5 คืนแล้ว และในช่วงบ่ายของวันนี้ จะมีการเคลื่อนศพของนายพิธาน ไปเก็บในสุสานวัดเสนาราม ตำบลท่าศาลา อำเภอท่าศาลา ซึ่งจะใช้วิธีการผนึกที่เก็บศพด้วยคอนกรีต โดยยืนยันว่า หากยังไม่ได้รับความเป็นธรรมจะไม่มีการเผาศพอย่างเด็ดขาด
ส่วนความเคลื่อนไหวหลังจากการตายของ นายพิธาน นั้นพบว่า มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อสิทธิมนุษยชนได้ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยล่าสุดนั้น นายแพทย์นิรันทร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ติดต่อสอบถามข้อมูลการตาย รวมทั้งความเคลื่อนไหวต่างๆ ของนายพิธาน และเตรียมพิจารณารับกรณีนี้ไว้เป็นกรณีตรวจสอบการละเมิดสิทธิต่อชีวิตของนักสิทธิชุมชนอย่างรุนแรง ซึ่งถือว่าการเคลื่อนไหวของ นายพิธาน เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ทั้งสิทธิความชอบธรรมในการอยู่อาศัย และทำกินของประชาชน รวมทั้งสิทธิในการอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ถูกทำลาย ขณะที่ตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบได้ทำหนังสือด่วนไปยังกรรมการสิทธิแล้ว
ในช่วงบ่าย ทนายความ นักวิชาการ นายทหารระดับสูง เครือญาติของนายพิธาน และผู้ได้รับผลกระทบรวมตัวหารือถึงทิศทางในการเคลื่อนไหวต่อหน้าศพของ นายพิธาน ทองพนัง แกนนำคัดค้านเหมืองแร่ที่ถูกยิงเสียชีวิต เพื่อหาข้อสรุปในแนวทางการต่อสู้ต่อไป โดยจะอาศัยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สภาทนายความ และการเคลื่อนไหวในพื้นที่ขับเคลื่อนการคัดค้านการทำเหมืองที่ได้รับผลกระทบต่อไป
นายสุวิทย์ เชยอุบล ประธานคณะกรรมการคดีสิ่งแวดล้อม สภาทนายความแห่งประเทศไทย แสดงความแปลกใจว่า โดยปกตินั้นการออกสัมปทานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะไม่ออกสัมปทานให้ทับซ้อนกับที่ทำกินของชาวบ้าน กรณีนี้เข้าใจว่าก่อนที่จะออกสัมปทาน เหมืองกับชาวบ้านอาจตกลงกันแล้วเรื่องของความรับผิดชอบ แต่พอเข้าใจจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น อาจจะเป็นความต้องการให้ชาวบ้านออกจากเหมืองโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
ขณะที่ นายสวัสดิ์ สมัครพงศ์ ได้เรียกร้องให้มีการย้ายนายทหารระดับพันเอก กอ.รมน.จังหวัดนครศรีธรรมราช คนหนึ่งที่มีบทบาทเข้าไปกดดันให้ นายพิธาน ยอมความกับเหมือง รวมทั้งข่มขู่ทำนองว่าหาก นายพิธาน ไม่ยินยอมจะเกิดอันตราย โดยขอให้พันเอกรายนี้ย้ายออกไปจากพื้นที่ก่อนที่จะมีการยื่นหนังสือต่อแม่ทัพภาคที่ 4 พร้อมหลักฐานในการดำเนินการร้องเรียน และในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน ครอบครัวได้เคลื่อนศพของนายพิธานเข้าไปเก็บไว้ที่วัดเสนาราม ตำบลท่าศาลา อำเภอท่าศาลา โดยประกาศว่าหากไม่ได้รับความธรรมจะไม่เผาศพ