นครศรีธรรมราช - ครอบครัว และผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ร่วมกันนำหีบศพนายพิธาน ทองพนัง เข้าร้องศาลปกครองนครศรีธรรมราช ส่งคดีให้พ่อรับไม้สู้ต่อ ก่อนร้องผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อเร่งให้มีการจัดการกลุ่มอิทธิพล เมียเรียกร้องให้เป็นศพแรก และศพสุดท้าย พบข้อมูลคนมีสีเข้าไปเป็นที่ปรึกษาวางแผนขู่ชาวบ้าน
วันนี้ (3 ธ.ค.) ที่ จ.นครศรีธรรมราช หลังจากคดีสังหาร นายพิธาน ทองพนัง แกนนำชาวบ้านคัดค้านเหมืองแร่แบไรท์ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเขตเหมืองแร่ได้ทับซ้อนกับที่ดินทำกินของชาวบ้านหลายราย กลายเป็นข่าวที่ถูกให้ความสนใจอย่างกว้างขวางต่ออิทธิพลมืดที่อยู่เบื้องหลัง
ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (3 ธ.ค.) นายสำเร็จ ทองพนัง บิดา นางอนงค์ ทองพนัง มารดา นางพวงทิพย์ ทองพนัง ภรรยา และ ด.ญ.ทิชามญชุ์ ทองพนัง อายุ 9 เดือน บุตรสาวของ นายพิธาน แกนนำชาวบ้านที่ถูกยิงเสียชีวิต พร้อมด้วยชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเดินทางมารวมตัวที่หน้าศาลปกครองนครศรีธรรมราช พร้อมทั้งหีบศพของนายพิธาน
โดย นายสำเร็จ ทองพนัง อายุ 73 ปี บิดาของนายพิธาน ได้เข้ายื่นคำร้องต่อศาลปกครองนครศรีธรรมราช เพื่อขอรับมรดกความแทน นายพิธานเพื่อสานต่อคดีความที่นายพิธาน ร้องต่อศาลปกครอง กรณีเหมืองแร่ในพื้นที่ตำบลกรุงชิง อำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช สร้างผลกระทบทางด้านนิเวศ ผิดข้อกำหนด และแนวเขตสัมปทานยังไปทับซ้อนกับที่ดินทำกินของชาวบ้านหลายราย ซึ่งศาลยังคงมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวห้ามทำเหมืองจนกว่าจะมีคำวินิจฉัย
ขณะเดียวกัน นายสัญญา ศิวิโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานศาลปกครองนครศรีธรรมราช และนายธนกร ศฤงคาร พนักงานคดีปกครองชำนาญการพิเศษ ได้เปิดแถลงถึงขั้นตอนของคดีที่นายพิธาน พร้อมด้วยผู้ร้องอีกรวม 55 ราย เข้ายื่นฟ้องต่อศาลปกครองนครศรีธรรมราช โดยมีตำแหน่งหัวหน้าหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องรวม 7 หน่วยงาน และบริษัทเอกชนผู้รับสัมปทานอีก 1 ราย เป็นผู้ถูกฟ้องคดี โดยขณะนี้คำสั่งของศาลปกครองนครศรีฯ ยังมีคำสั่งคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนพิพากษาคดี โดยบริษัทเอกชนได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองนครศรีธรรมราช ไปยังศาลปกครองสูงสุด ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา
นายธนกร ศฤงคคาร พนักงานคดีปกครองชำนาญการพิเศษ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้นายสำเร็จ ทองพนัง ได้ยื่นคำร้องขอรับมรดกความตามกฎหมายเรียบร้อยแล้ว ซึ่งอยู่ในระหว่างรอคำสั่งศาล โดยกระบวนการนี้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายวิธีพิจารณาคดีของศาลปกครอง ซึ่งสามารถทำได้โดยชอบ
โดยนายสำเร็จ ทองพนัง บิดาของนายพิธาน กล่าวว่า ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบนั้นไม่ได้มีเจตนาที่ต้องการให้เลิกสัมปทาน แต่ให้เหมืองนั้นดำเนินการให้ถูกต้องตามที่ทำประชาคมไว้ หน่วยงานบางหน่วยงานเข้าไปกดดันข่มขู่ชาวบ้านพยายามให้เหมืองเปิดให้ได้ โดยบอกว่าให้เหมืองเปิดก่อนแล้วค่อยแก้ไขเรื่องสิ่งแวดล้อมทีหลัง ซึ่งมันไม่ควรเป็นอย่างนั้น
“ผมขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลชาวบ้าน และผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่าให้เกิดการตายแบบนี้ขึ้นมาอีก ส่วนผมนั้นแก่แล้วจะตายก็ไม่เสียดาย สู้เรื่องนี้ต่อไปท้ายสุดก็แค่ตาย แต่ขออย่าให้คนอื่นต้องมาตายอีก”
นางพวงทิพย์ ทองพนัง ภรรยาของนายพิธาน ได้แถลงข้อความสั้นเพียงว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นจะไม่โกรธ ไม่โทษใคร แต่ขอให้สามีของตนเองตายเป็นคนแรกจากเรื่องนี้ และขอให้เป็นคนสุดท้าย รวมทั้งขอบคุณทุกฝ่ายที่ให้ความสำคัญต่อการตายของนายพิธาน ที่จะต้องไม่ตายอย่างโดดเดี่ยว
ขณะที่ พล.ต.ต.เกียรติพงศ์ ขาวสำอาง ผู้บังคับการตำรวจภูธรนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ข้อมูลในการสืบสวนมีความก้าวหน้าไปมากแล้ว เจ้าหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐาน แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้เพราะจะทำให้การสืบสวนสอบสวนติดขัด และบอกได้เพียงว่าในเร็วๆ นี้เรากำลังจะมีปฏิบัติการบางอย่าง
ต่อมา นายสำเร็จ ทองพนัง บิดา นางอนงค์ ทองพนัง มารดา นางพวงทิพย์ ทองพนัง ภรรยา และ ด.ญ.ทิชามญชุ์ ทองพนัง อายุ 9 เดือน บุตรสาว ของนายพิธาน พร้อมทั้งครอบครัวและผู้ที่ได้รับผลกระทบได้เคลื่อนขบวนศพของนายพิธาน ออกจากศาลปกครองนครศรีธรรมราช มุ่งหน้าไปยังศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ นายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ศูนย์ดำรงธรรมนครศรีธรรมราช โดยมีเนื้อหาข้อมูลถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด รวมทั้งข้อเรียกร้องให้ทางการเข้าดูความปลอดภัยของครอบครัว รวมทั้งพบว่าผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนในเรื่องนี้ถูกคุกคามข่มขู่จนเกิดความหวาดกลัว
นายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ระบุว่า คดีนี้ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการอย่างเป็นธรรม และรวดเร็ว โดยได้ประสานเรื่องการดูแลความปลอดภัยซึ่งมีการดำเนินการอยู่แล้ว ส่วนเรื่องของคดีนั้นตำรวจอยู่ระหว่างสืบสวนใครเป็นใครรู้อยู่แต่ไม่สามารถพูดได้เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อคดี
อย่างไรก็ตาม ในทางการสืบสวนนั้นมีรายงานการพบข้อมูลว่า มีข้าราชการหน่วยงานหนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มีผู้บังคับบัญชาเข้าไปเป็นที่ปรึกษาในการแก้ปัญหาการคัดค้านดำเนินของเหมือง โดยพยายามอาศัยอำนาจที่ตนเองมีเข้าไปกดดัน บังคับ แกมข่มขู่ชาวบ้านให้มีการถอนฟ้องอ้างความปรองดองสมานฉันท์ และยังพยายามกดดันให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบบางรายกล่าวหา นายพิธาน ว่านำที่ดินเหมืองเก่าที่หมดสัมปทานไปแล้วมาขายให้แก่ชาวบ้าน หรือสร้างข้อมูลให้แก่ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของจังหวัดนครศรีธรรมราช และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่านายพิธานเป็นผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ รวมทั้งมีพฤติการณ์ซ่องสุมอาวุธสงคราม จนกระทั่งมาเกิดเหตุการณ์สังหารนายพิธาน ขึ้น