โดย...ถนอม ขุนเพ็ชร
“เสียงร้องกบห้วยจะแปลกมาก มันน่ากลัว เสียงวุ๊งๆๆๆ ทุ้มกังวานไปทั้งป่า เป็นเสียงที่ทำให้คนพิศวงงงงวย ไม่อาจรู้ตำแหน่งชัดเจนของมัน”
สุริยา นุ่นด้วง เล่าด้วยสีหน้าที่บ่งบอกถึงความหวาดหวั่น ขนลุกชัน จากประสบการณ์บางอารมณ์ในฐานะเคยเป็นนักล่ากบห้วยในยามวิกาล บางทีเสียงยังคล้ายเบสจากลำโพงขนาดใหญ่ที่ดังมาจากราวป่า มันก็แปลกประหลาดยิ่ง
คำบอกเล่าของเขาตรงกับข้อมูลวิชาการที่บอกว่า กบห้วย หรือกบทูด ซึ่งเป็นกบขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตัวผู้ไม่มีกล่องเสียงเหมือนกบทั่วไป ส่งเสียงร้องออกจากลำคอ ดังกังวานคล้ายเสียงร้องของวัว ใช้ร้องเรียกตัวเมียให้มาผสมพันธุ์ เสียงร้องของกบตัวผู้จะเสียงดังแตกต่างไปตามชนิดของกบ แต่พบว่าทั้ง 2 เพศจะร้องได้ดังเหมือนกันเมื่อได้รับอันตราย
ความแปลกยังอยู่ที่ในฤดูผสมพันธุ์ของกบห้วย ระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม เมื่อช่วงฤดูวางไข่ตัวผู้จะขุดหลุมสำหรับตัวเมียวางไข่ เวลาผสมพันธุ์ตัวผู้ลงไปอยู่ในหลุมที่มันขุด แล้วจะส่งเสียงร้องเรียกตัวเมีย ตัวเมียที่พร้อมผสมพันธุ์ก็จะลงไปในหลุมนั้น หลังจากผสมพันธุ์เสร็จตัวผู้และตัวเมียจะช่วยกันกลบหลุมไข่ ซึ่งมีลักษณะเป็นกองหินนูนขึ้นมา ทั้งตัวเมีย และตัวผู้จะผลัดกันเฝ้าหลุมไข่ พร้อมกับออกหาอาหาร จัดเป็นสัตว์ที่หายากชนิดหนึ่งในประเทศไทย อันเนื่องจากสภาพแวดล้อม และถิ่นที่อยู่อาศัยเปลี่ยนไป
จากนักล่ากบ ทุกวันนี้สุริยามาเป็นแกนนำเยาวชนบ้านทุ่งยาว ต.นาท่อม อ.เมือง จ.พัทลุง ที่ชวนเด็กๆ ในหมู่บ้านมาร่วมโครงการสร้างคนรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อสุขภาพที่บ้านทุ่งยาว ภายใต้การสนับสนุนของโครงการร่วมสร้างชุมชนและท้องถิ่นให้น่าอยู่ สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส.
และเพราะโครงการนี้ กบห้วย จึงกลับคืนมาสู่บ้านทุ่งยาวหลังจากหายหน้าหายตาไปนาน
“เราร่วมทำฝายก็ทำให้คลองที่แห้งขอด และเป็นปัญหามาระยะเวลา 10 ปีก่อนกลับมามีน้ำ เด็กๆ ได้ลงไปเล่นน้ำ และสิ่งหนึ่งที่กลับมาพร้อมกันคือ การกลับมาของกบกบห้วย”
สุริยา บอกว่าครั้งปู่ย่าตายายเคยเล่าว่า บ้านทุ่งยาวก็เคยเป็นแหล่งอาศัยสำคัญของกบห้วย มันเป็นกบแตกต่างจากกบนา เพราะตัวโตกว่า ที่โตสุดเกือบเกือบเท่าเด็กทารก ขาหลังยาว ผิวเนียน สีผิวกลมกลืนกับป่า ลูกตาของกบห้วยยังใหญ่ ปูดโปนกว่ากบทั่วไป 2 เท่า
“กลางคืนถ้าเราส่องตะเกียงอออกไปจะมองเห็นสีส้มสะท้อนแสง รู้เลยว่านั่นคือตาของกบห้วย” เขาเล่าถึงเป็นภาพที่น่ากลัว แต่อดีตนักล่าย่อมรู้เป้าหมายในการค้นหาของเขา
“ผมเจอกบห้วยครั้งแรกตอนออกหากบเมื่อหลายปีก่อน ตอนนั้นยังพบว่ามีเยอะ ตอนนี้พอมีอยู่นะ แต่ขนาดเล็กลง และหาได้ยากมากขึ้น บางตัวที่ใหญ่เต็มที่จะมีเขี้ยวด้วย ตัวที่ใหญ่มากเนื้อของมันจะมีลักษณะคล้ายเนื้อไก่ รสชาติอร่อย”
สุริยา เล่าว่า การเปลี่ยนป่าเป็นสวนยางที่รุกเข้าไปอยู่ติดลำห้วยมาก ทำให้กบก็หาที่อยู่ไม่ได้ จากที่เคยมีป่า กบได้เคยมีที่อยู่หลบซ่อน หาอาหาร พอป่ายางมาอยู่ใกล้ริมห้วย กบต้องมาอยู่ในป่ายาง คนกรีดยางมาเห็นก็จับไปกิน
“กบพวกนี้ไม่หนีครับ เพราะเป็นความเคยชินว่ามันเคยอยู่ที่นั่นมาก่อน ไม่เคยมีใครมาทำร้ายมัน ในที่สุดคนก็จับมากินจนเกือบหมด”
สุริยา เล่าด้วยว่า สำหรับการทำฝายทำให้ชะลอน้ำในลำธารเอาไว้ได้นาน เพื่อฟื้นธรรมชาติที่กลับมา ทำให้กบมีที่อยู่อาศัยได้มีที่หลบซ่อน ก็คิดว่ากบห้วยจะกลับมาเพิ่มจำนวนอีกครั้ง
สมชาย เรืองพุทธ แกนนำโครงการเล่าว่า ศัตรูตัวสำคัญของกบห้วยอาจเป็นพวกงู แต่ว่าที่สำคัญคือ มนุษย์เรานั่นเอง เพราะคนสมัยก่อนจับเฉพาะกบตัวใหญ่มากิน แต่ระยะหลังมาจับเอาหมดไม่ว่ามันจะตัวเล็กอยู่ก็ตาม ไม่เฉพาะคนทุ่งยาว ยังมีคนต่างถิ่นเข้ามาล่าจำนวนมาก ซึ่งชาวบ้านเองก็ไม่รู้จะห้ามอย่างไร
“เรากำลังขอแนวป่าริมลำธารสัก 2-3 เมตรให้กบได้มีที่อยู่อาศัย ไม่ใช่ปล่อยให้ทำสวนยางชิดลำธารอย่างทุกวันนี้” เขาเล่าและว่า อาหารกบมีตะขาบ ลูกปลาเล็กๆ มด แมง ขณะที่บางคนเล่าว่ามันกินงูด้วยบางครั้ง”
สอดคล้องต่อข้อมูลวิชาการที่ว่า กระดูกขากรรไกรล่าง ซึ่งยื่นแหลมออกมาคล้ายเขี้ยว ของตัวผู้เขี้ยวจะอยู่บริเวณด้านหน้าของขากรรไกร ส่วนตัวเมียจะอยู่ลึกเข้าไปในปาก สำหรับชาวบ้านที่นี่ก็เสนอความคิดว่า น่าจะเลี้ยงเอาไว้กำจัดงู และแมลงพิษร้ายต่างๆ
“ผมทดลองเลี้ยงอยู่ แต่ว่ามันยังบอกไม่ได้ว่าสำเร็จหรือเปล่า เพราะมันยังตัวเล็ก”
สมนึก นุ่นด้วง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลนาท่อม พี่เลี้ยงโครงการนี้กล่าวว่า บ้านทุ่งยาว ถือเป็นชุมชนมีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะหลังจากการดำเนินโครงการได้เห็นภาพความร่วมมือชุมชนดีมาก ไม่ว่าระดับปัจเจก และการการประสานงานกับองค์กรอื่นๆ ในพื้นที่
“จริงๆ โครงการนี้ก็ให้ทำฝายแค่ 8 ตัว แต่ว่าเนื่องจากเป็นปัญหาจริงๆ ของชุมชน คนจึงรวมพลังทำฝายเองได้จริง 86 ตัว จนสำนักงานสิ่งแวดล้อมจังหวัดพัทลุง ได้ลงมาหนุนเสริมให้ทำต่อในปี 2558”
เขาบอกว่า คนที่นี่อยู่ได้กับข้าวปลามานาน ทุกวันนี้แม้นาข้าวไม่มีแล้ว เพราะยางพารามาแทน แต่ชาวบ้านยังอาศัยหาปลา หาสัตว์น้ำในห้วย การที่คนรุ่นนี้มาดูแลสิ่งแวดล้อมให้สมบูรณ์ขึ้นมาจะส่งผลให้คนรุ่นหลังหวงแหนสิ่งแวดล้อมต่อไป นอกจากได้ฝาย และแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม สิ่งสำคัญที่สุดคือ ได้ความร่วมมือของชุมชน
สมมิตร ปานเพชร ผู้รับผิดชอบโครงการสร้างคนรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อสุขภาพที่บ้านทุ่งยาว เล่าว่า นอกจากฝายชะลอน้ำแล้ว ยังมีการจัดกิจกรรมบวชป่า เพื่อสร้างความตระหนักให้คนหวงแหนอนุรักษ์ต้นไม้ ความสุขที่ได้มากที่สุดจากการลุกขึ้นมาทำเรื่องนี้คือ การรวมคนได้มากมาย โดยไม่นึกมาก่อนว่ากิจกรรมนี้จะทำให้คนมาร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจสามัคคี ทั้งที่ก่อนหน้านี้ มีความขัดแย้งมากมายทางการเมือง และความคิดเห็นส่วนตัว
ขณะที่ มนูญ สุขรัตน์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 11 บ้านทุ่งยาว เล่าว่า มาตรการด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของชุมชนนี้ใช้รูปแบบประชาคม
“ถ้าเราทำไปตามระบบราชการเดิมอย่างที่ปักป้าย มันก็ได้แค่ปักป้าย ที่สำเร็จลึกต้องมาจากการปลูกฝังลงสู่จิตใจของทุกคนมากกว่า แบบนี้ไม่ตองใช้กฎหมายไปบังคับ หรือใช้ระเบียบอะไร เพราะจะไม่เกิดขึ้นจริง สู้ใช้กระบวนการชุมชนมาดูแลชุมชนเอง ใช้วิธีปากต่อปากบอกต่อกันไป นั่นคือ แนวทางอนุรักษ์แบบบ้านทุ่งยาว”
เขากล่าวและว่า กบห้วย สมัยก่อนมีมาก ขนาดที่ว่าหากมีแขกมาบ้านชาวทุ่งยาวสามารถเตรียมอุปกรณ์การปรุงกบเป็นอาหารเอาไว้ก่อนจะออกไปหากบด้วยซ้ำ แต่สิบปีผ่านมามีน้อยมาก การทำฝายทำให้กบห้วยกลับคืนมา ถ้ามีงบประมาณ หรือโครงการต่อยอดก็จะเป็นการเพาะเลี้ยงเพื่อนำกบกลับคืนสู่ธรรมชาติได้อีกทางหนึ่ง เพื่อขยายไปสู่อีกชุมชนอื่นที่มีลักษณะคล้ายกับชุมชนแห่งนี้
“เห็นความสามัคคีในชุมชน ซึ่งมีทั้งชาวบ้าน และองค์กรต่างๆ ที่มีอยู่ในชุมชน ผมก็รู้สึกภูมิใจ เห็นความสุขแบบแท้ๆ ดั้งเดิมของชุมชนที่กลับคืนมา อาจจะมีช่วงหนึ่งที่คนมุ่งแต่ทำสวนยาง แข่งขันกันหาเงิน จนลืมคิดกลับไปว่า ในสังคมเราแต่ก่อน เราจะมีความสุขโดยไม่ต้องใช้เงินมาเป็นตัวชี้”