xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิรูปการศึกษา (2) ต้องสร้างคน ไม่ใช่วัตถุ/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ช่วงนี้ใครๆ ก็พูดถึงเรื่องปฏิรูปการศึกษา เรียกว่าแทบจะทุกเวทีที่อยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในประเทศนี้ ต่างก็รู้ดีว่าปัญหาใหญ่ของบ้านเรา ก็คือ จะทำอย่างไรให้ “คน” ของเรามีคุณภาพ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งแวดวงทางการศึกษา
ในอดีต ดิฉันยังจำได้ว่าเรามี “วิทยาลัยครู” เพื่อมีเป้าหมายปลายทางเพื่อสร้าง “ครู” สร้าง “คน” ไปสอน “คน” ให้เป็น “ครู” ใครมีเป้าหมายอยากเป็นครูก็มุ่งหน้าเข้าสู่วิทยาลัยครู วิทยาลัยประเภทนี้เมื่อหลายสิบปีก่อนเรียกว่า “โรงเรียนฝึกหัดครู” ส่วนในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเขาเรียกด้วยภาษาตรงๆ ซื่อๆ ว่า “โรงเรียนสร้างครู” ด้วยซ้ำ แต่ดูเหมือนคำว่า “โรงเรียน” จะดูเล็กไป จึงยกระดับขึ้นมาเป็น “วิทยาลัย” เป็น “สถาบัน (ราชภัฎ)” และในที่สุดก็เป็น “มหาวิทยาลัย (ราชภัฎ)” อย่างในปัจจุบัน
คนรุ่นใหม่ไม่รู้แล้วว่าเราเคยมีวิทยาลัยครู รู้จักแต่มหาวิทยาลัยราชภัฏ และไม่ใช่แค่ชื่อเท่านั้นที่เข้ามาแทนที่โรงเรียนฝึกหัดครูและวิทยาลัยครู แต่มหาวิทยาลัยราชภัฏได้ทำหน้าที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีคณะและสาขาต่างๆ ไม่ต่างจากมหาวิทยาลัยภาครัฐและเอกชนแห่งอื่นๆ ที่ดำเนินการกันอยู่
เรียกว่ามีสาขาใหม่ๆ ในทุกระดับที่เปิดการสอนทั้งปริญญาตรี โท เอก และทิศทางของหลักสูตรทั้งหมดก็พยายามเดินตามๆ กัน ทำให้ขาดซึ่งเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของสถาบันการศึกษาที่มีจุดเริ่มต้นมาจากโรงเรียนฝึกหัดครูกันเลยทีเดียว
ตอนนี้นักศึกษาที่เข้าเรียนในสาขาต่างๆ ก็เรียนตามใจเฉิบ จากที่เคยคิดจะเรียนสาขาใดสาขาหนึ่งก็มักจะเลือกไปเฉพาะที่คณะและสถาบันการศึกษาแห่งนั้นแห่งนี้ แต่ดูเหมือนเดี๋ยวนี้ ค่านิยมเหล่านี้หายไปหมด เพราะไปเรียนที่ไหนก็มีเหมือนกัน
ถ้าปัญหาเป็นเพียงค่านิยม ก็ยังพอทน แต่ประเด็นก็คือ มหาวิทยาลัยในปัจจุบันส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การพาณิชย์ เพื่อการหาสตางค์มากกว่าจะเน้นเรื่องการสร้างคุณภาพของสาขาเพื่อสร้างคุณภาพของคน
เรียกว่าปัญหาของคน ที่เราเรียกร้องกันว่าขาดคุณภาพ ก็ต้องไปดูที่ระบบการสร้างคนของเราด้วย ว่าที่มาของการผลิตคนจากสถาบันการศึกษาในบ้านเรามีปัญหาหรือเปล่า
นี่ยังไม่นับรวมกับการมุ่งพัฒนาสถานศึกษาในบ้านเรา ที่มักมุ่งเป้าไปที่วัตถุมากกว่าพัฒนาคน
เวลาของบประมาณของสถาบันการศึกษาในแต่ละครั้ง ลองดูสิว่าส่วนใหญ่เอาไปทำอะไร สร้างอาคาร ขยายห้อง จัดซื้ออุปกรณ์ ฯลฯ ใช่หรือไม่ !
งบประมาณลงที่ตัวเด็กเท่าไร ?
ตัวเลขงบประมาณที่สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน ได้ลองจำแนกออกมาว่าในแต่ละปีของกระทรวงศึกษาธิการที่ได้งบประมาณนั้นเอาไปทำอะไรบ้าง โดยเปรียบเทียบว่า งบประมาณ 100 บาท เป็นเงินเดือนครู 76 บาท, ค่าอาหารและเครื่องแบบ 10 บาท, ค่าบริหารจัดการ 6 บาท, ค่าอาคารและครุภัณฑ์ 5 บาท เหลือพัฒนาผู้เรียน 3 บาท
แล้วเด็กจะเติบโตไปด้วยคุณภาพแบบไหน !!
ท่ามกลางตึกใหญ่โตโอ่อ่าสวยงาม ลองเหลือบไปดูโรงรียนของลูกหลานเราก็ได้ทุกวันนี้ โรงเรียนของลูกเรามีตึกอาคารที่แสนจะโอ่อ่ามากมายหรือเปล่า เด็กนักเรียนมีจำนวนเท่าไร พวกเขาใช้ชีวิตอย่างไรในโรงเรียนที่นอกเหนือจากการเรียนหนังสือในห้องเรียน
โรงเรียนบางแห่งกลางกรุงมีนักเรียนหลายพันคน แต่มีสนามกีฬาเพียงสนามเดียวหรือสองสนาม แล้ววนเวียนกันใช้ทั้งโรงเรียน บางวิชาก็ต้องแบ่งกันคนละครึ่งสนามบ้าง
สรุปแล้วเราเน้นสร้างคุณภาพของคนแบบไหนกัน ?
พอมาถึงที่ตัวครู เราก็ยังมีกฏเกณฑ์บ้าบอคอแตกที่ต้องมาค้ำคอคนเป็นครูในการยกระดับวิทยฐานะ ต้องประเมินสารพัด แล้วครูที่ไหนจะมีเวลาไปดูแลเด็กอย่างจริงจัง
ครูต้องอบรม ต้องพยายามกว้านหาประกาศนียบัตร ต้องพยายามให้ผ่านการประเมิน นี่ยังไม่นับภาระทางบ้านที่ต้องดูแลครอบครัวอีก แล้วจะเหลือเวลาคุณภาพให้ลูกศิษย์ได้แค่ไหน
สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนแล้วเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปการศึกษาทั้งสิ้น
และที่หนักยิ่งขึ้นไปอีก ก็เห็นจะเป็นระดับนโยบายของบรรดานักการเมืองที่มาแล้วก็ไป มาเร็วไปเร็ว แต่ก็มักจะสร้างปัญหาไว้อีกต่างหาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายประชานิยมที่สุดท้ายก็ส่งผลกระทบต่อวงการศึกษาไว้มากมาย
ถ้าตราบใด เรายังให้คุณค่าของวัตถุ ของทุนนิยมแล้ว
ก็คงยากที่จะปฏิรูปการศึกษาได้สำเร็จ !!

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่

กำลังโหลด

เครื่อง oncothermia ความหวังใหม่รักษามะเร็งเต้านม-ตับระยะท้าย ใช้คลื่นวิทยุยิงเฉพาะจุดมะเร็งจนเกิดความร้อน เอื้อยาเคมีบำบัดเข้าถึงมะเร็งง่ายขึ้น ผลศึกษาก้แนมะเร็งเต้านมยุบทั้งหมด 22% ผู้ป่วยมะเร็งตับอายุยืนขึ้น

ดูบน Instagram





กำลังโหลดความคิดเห็น