ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ทัพเรือภาคที่ 3 ร่วมหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดโซนแบ่งพื้นที่ป้องกันเหตุรบกวนนักท่องเที่ยวบริเวณชายหาดภูเก็ต ยกหาดป่าตองเป็นพื้นที่แรกแยกจุดเล่นน้ำ จอดเจ็ตสกี พร้อมระบุห้ามเจ็ตสกีจอดบนชายหาดเด็ดขาด ส่วนกรณีมีการนำเตียง เบาะ วางให้นักท่องเที่ยวบริการท้องถิ่นต้องรับผิดชอบแจ้งความดำเนินคดี ขณะที่ ผบ.ทร.ภาค.3 แจงทหารเรือไม่เรียกรับส่วย ใครมีหลักฐานข้อมูลแจ้งได้โดยตรง
เมื่อเวลา 15.30 น. วันนี้ (27 พ.ย.) ที่ห้องประชุมทัพเรือภาคที่ 3 แหลมพันวา ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต พล.ร.ท.สายันต์ ประสงค์สำเร็จ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 พร้อมด้วย พล.ร.ต.เธียรศิริ มนต์ไตรเวศย์ รองผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 และ พล.ต.ต.พชร บุญญสิทธิ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต ร่วมกันแถลงผลการประชุมติดตามความคืบหน้าการการจัดระเบียบชายหาดในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีตัวแทนจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเข้าร่วมประชุม
พล.ร.ท.สายันต์ ประสงค์สำเร็จ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 กล่าวว่า การประชุมในวันนี้ (27 พ.ย.) ได้มีการสรุปเรื่องการจัดระเบียบ และการทำกิจกรรมบริเวณชายหาดให้มีความชัดเจน เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนนักท่องเที่ยว เช่น การจัดระเบียนเจ็ตสกี เพื่อไม่ให้รบกวน และเป็นอันตรายต่อนักท่องเที่ยว โดยจะมีการดำเนินการในพื้นที่หาดป่าตองเป็นหาดแรก ขณะนี้ได้มีการแบ่งเขต และวางทุ่นแบ่งพื้นที่สำหรับเล่นน้ำ และพื้นที่สำหรับจอดเรือเจ็ตสกีเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยทางผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ก็มีคำสั่งการกำหนดเขตเป็นที่เรียบร้อยแล้วเช่นกัน ส่วนหาดอื่นๆ ก็จะมีการดำเนินการในลักษณะเดียวกัน แต่กิจกรรมบริเวณชายหาดอาจจะมีความแตกต่างกัน ซึ่งบางหาดอาจจะไม่เจ็ตสกีให้บริการ ก็จะกำหนดพื้นที่สำหรับการเล่นน้ำ และทำกิจกรรมอย่างอื่นแทน เพียงแต่แยกออกจากกันให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้กิจกรรมบริเวณชายหาดไปรบกวนนักท่องเที่ยว นอกจากนั้น ยังมีการกำหนดพื้นที่สำหรับดูแลความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยวกรณีนักท่องเที่ยวประสบอุบัติเหตุจมน้ำ หรือประสบอุบัติเหตุจากการเล่นเจ็ตสกี เป็นการดูแลเตรียมความพร้อมในการนำผู้ประสบเหตุส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด
สำหรับการแบ่งเขตที่หาดป่าตองนั้น จะแบ่งพื้นที่เล่นน้ำออกเป็น 3 จุด ตามลักษณะชายหาด โดยแต่ละจุดมีความกว้างขนานไปกับแนวชายหาด 500 เมตร และลึกลงไปในทะเลประมาณ 150 เมตร ส่วนเจ็ตสกีก็จะจอดในทะเลแทรกอยู่ระหว่างจุดว่ายน้ำ โดยตลอดแนวชายหาดห้ามไม่ให้มีการจอดเจ็ตสกีโดยเด็ดขาด เจ็ตสกีทุกลำจะต้องจอดในทะเล เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวที่ต้องการใช้บริการเจ็ตสกี หรือร่มลาก และผู้ให้บริการ ยกเว้นเจ็ตสกีเพียง 1 ลำเท่านั้นที่จะจอดไว้บริเวณกลางชายหาดได้ เนื่องจากเจ็ตสกีที่จะมีไว้เพื่อช่วยเหลือนักท่องเที่ยวกรณีประสบอุบัติเหตุจมน้ำ หรือกรณีอื่นๆ โดยจะมีการติดสัญลักษณ์ของกาชาด
ส่วนเรื่องของการจัดระเบียบชายหาดต่างๆ ในส่วนของกลุ่มอาชีพ ไม่ว่าจะเป็น ร่มเตียง หาบเร่ หมอนวด และอื่นๆ ที่เคยประกอบอาชีพอยู่บนชายหาดก่อนที่จะมีการจัดระเบียบนั้น เรื่องนี้ทางจังหวัดจะรับไปดูแลอีกครั้ง โดยจะดูแลเรื่องของข้อกฎหมายต่างๆ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ประกอบการที่เสนอตัวเข้ามาดำเนินการแบบเท่าเทียบกันไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งเรื่องนี้กำลังอยู่ในกระบวนการศึกษา และพิจารณาของจังหวัดว่าควรจะมีหรือไม่อย่างไร หรือถ้ามีควรจะให้ใครเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับทางจังหวัดว่าจะดำเนินการอย่างไร เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเยียวยาให้แก่ผู้ประกอบการ และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการอนุญาตให้กลุ่มประกอบอาชีพใดๆ ทั้งสิ้นลงไปประกอบอาชีพบนชายหาด ส่วนจะทราบผลเร็วหรือช้าก็ขึ้นอยู่กับทางจังหวัดในการดำเนินการ และพิจารณา
นอกจากนั้น สิ่งที่อยากจะเน้นย้ำคือ เรื่องของการเรียกรับส่วย ซึ่งมีการกล่าวอ้างว่ามีกำลังพลของทัพเรือภาคที่ 3 ไปเรียกรับส่วย หรือเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยนั้น เรื่องนี้ตนขอยืนยันว่า เรื่องของการเรียกรับส่วยไม่มีกำลังพลของทหารเรือเข้าไปเกี่ยวข้องแน่นอน ถ้าหากประชาชน หรือผู้ที่ถูกเรียกรับผลประโยชน์มีหลักฐาน หรือมีข้อมูลที่ปรากฏแน่ชัด หรือมีข้อสงสัย สามารถส่งข้อมูลหรือแจ้งข้อมูลโดยตรงมาได้ที่ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 ตนจะดำเนินการตรวจสอบให้ทราบผลโดยเร็วที่สุด แต่ ณ ปัจจุบันนี้ขอยืนยันว่าไม่มีกำลังพลของทัพเรือภาคที่ 3 เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องส่วยใดๆ ทั้งสิ้น สำหรับในส่วนของจังหวัดภูเก็ตนั้น หน่วยทหารที่จะต้องดูแลรับผิดชอบคือ ทหารเรือเท่านั้น กรณีมีการกล่าวอ้างว่าทหารโอเคให้วางนั้น ตนขอยืนยันว่าไม่มีแน่นอน ส่วนกรณีที่มีทหารมาโอเคกับท่าน ไม่ใช่ลูกน้องของตน ไม่ใช่ทหารเรือแน่นอน ต้องดูให้ดีว่าทหารที่โอเค คือทหารอะไร ซึ่งตนไม่โอเคด้วยนะ และที่ผ่านมา ทัพเรือภาคที่ 3 ไม่เคยรับส่วนแบ่งหรือเรียกเก็บส่วยแน่นอน กว่าตนจะมายืนอยู่ตรงจุดนี้ได้ต้องใช้เวลาในการทำงานมานาน จะมาเสี่ยงด้วยการเรียกเก็บส่วยมันไม่คุ้มกัน เพราะหากมีการเรียกเก็บส่วยจริงๆ ตนคงจะถูกย้ายภายในไม่เกิน 2 เดือน หรือถูกออกจากราชการไปเลย และขณะนี้ทหารหน่วยอื่นที่ไม่ใช่ทหารเรือก็มีคำสั่งให้ถอนตัวออกจากพื้นที่ไปแล้ว
ส่วนกรณีที่นักท่องเที่ยวนำร่มไปกางเองบริเวณชายหาด และมีการจับกุมนั้น เกี่ยวกับเรื่องนี้ พล.ต.ต.พชร กล่าวว่า จากกรณีมีการให้ข้อมูลว่ามีนักท่องเที่ยวนำร่มไปกางบริเวณชายหาดและถูกจับบั้น เรื่องนี้ได้มีการตรวจสอบแล้วพบว่า เป็นเรื่องเก่าที่มีการพูดว่านักท่องเที่ยวเอาร่มไปกางแล้วมีการเตือนว่าเอามากางไม่ได้ แต่ปัจจุบันนี้ไม่มีแล้ว ส่วนกรณีนักท่องเที่ยวเอาร่มไปกางเองสามารถทำได้เพราะไม่มีเรื่องของผลประโยชน์เข้าไปเกี่ยวข้อง ส่วนกรณีจะซื้อ หรือจะเช่าไปจากข้างนอกก็ไม่ผิด เพียงแต่อย่าไปเอาที่สาธารณะเป็นสถานที่สำหรับหาผลประโยชน์ก็ไม่มีปัญหานักท่องเที่ยวเอามาเองเมื่อถึงเวลานำกลับไปก็สามารถที่จะกระทำได้ ส่วนผู้ประกอบการก็จะต้องทำในที่ของตัวเองเท่านั้น ส่วนกรณีที่นำไปให้เช่าบริเวณชายหาดหรือที่สาธารณะถือว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมายแน่นอน ซึ่งหน่วยงานที่จะต้องรับผิดชอบคือ ท้องถิ่นที่ดูแลแต่ละพื้นที่ที่จะต้องเข้าไปดูแล และจัดระเบียบไม่ให้ปัญหากลับมาเป็นแบบเดิมคือ การยึดที่สาธารณะหารายได้เข้าตัวเอง
ขณะที่ พล.ร.ท.สายันต์ กล่าวในเรื่องเดี่ยวกันกรณีที่มีหลายๆ ชายหาดที่เริ่มนำเตียง ร่ม ที่นำไปวางให้นักท่องเที่ยวใช้บริการ ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ท้องถิ่นจะต้องเข้าไปดูแล หรือถ้ามีประชาชนพบเห็นก็สามารถถ่ายรูป และส่งไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการ ซึ่งเจ้าของพื้นที่ถ้าพบเห็นก็จะต้องแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมายเพราะถือว่าเป็นการกระทำที่บุกรุกที่สาธารณะ ถ้าท้องถิ่นไม่ทำก็คงจะต้องมีการแจ้งความดำเนินคดีต่อทางท้องถิ่นในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ถ้าท้องที่ไม่ทำแล้วจะให้ใครไปทำ เพราะฉะนั้นเจ้าของพื้นที่จะต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่ว่าเป็นญาติคุณ เป็นพรรคพวกคุณแล้วคุณไม่ทำ ไม่ได้ ของที่เป็นสาธารณะมันก็ต้องเป็นของสาธารณะ ส่วนกรณีที่มีการอ้างว่าเป็นที่ที่มีโฉนดก็ต้องมีการตรวจสอบกันให้ชัดเจน ต้องมีหลักเขตที่ชัดเจน
พล.ร.ท.สายันต์ ยังได้กล่าวต่อไปว่า สำหรับการจัดระเบียบทั้งชายหาดในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และรถแท็กซี่บริเวณสนามบินภูเก็ต เพื่อแก้ไขปัญหา และอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวนั้นพบว่า ขณะนี้ดีขึ้นมาก แต่ตอนนี้ก็มีปัญหาเรื่องของกำลังพลเข้ามา เนื่องจากทาง คสช.ได้มีการปรับลดกำลังเจ้าหน้าที่ลงจาก 60 นาย ลดลงมาเหลือ 45 นาย และตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.นี้ เป็นตนไป จะลดเหลือเพียงแค่ 30 นาย ทำให้ต้องถอนกำลังบางส่วนออกจากท่าอากาศยานภูเก็ต และส่งมอบพื้นที่คืนให้แก่ทางท่าอากาศยานกลับไปดูแลเอง เพราะกำลังที่เหลือจะต้องนำไปดูแลพื้นที่อื่นๆ ของภูเก็ตที่จะต้องเน้นในเรื่องของการดูแลความปลอดภัย และบางส่วนจะต้องดูแลพื้นที่บริเวณอุทยานแห่งชาติสิรินาถ ภูเก็ต ที่ยังมีปัญหาอยู่ ส่วนพื้นที่ชายหาดต่างๆ ก็ต้องให้จังหวัด และหน่วยงานท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลต่อไป