xs
xsm
sm
md
lg

ทหารเสนอทางออกแก้ปัญหาทำกินชายหาด ให้ท้องถิ่นแบ่งโซนปักร่ม ห้ามตั้งเตียง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ทหารเสนอทางออกแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ชาวบ้านทำมาหากินบนชายหาดได้ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แบ่งโซนปักร่มชายหาด แต่ไม่ให้มีเตียงโดยเด็ดขาด นักท่องเที่ยวต้องเช่า หรือซื้อผ้า เบาะ จากชาวบ้านที่ตั้งบูทให้ขายได้ เพื่อหลบเลี่ยงกฎหมายให้เป็นบริการสาธารณะแทน ท้องถิ่นแย้งไม่กล้าทำกลัวผิดกฎหมาย ให้จังหวัดออกเป็นคำสั่ง

เมื่อเวลา 13.00 น.วันนี้ (6 พ.ย.) นายจำเริญ ทิพยพงศ์ธาดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมพิจารณาความเดือดร้อนผู้ได้รับผลกระทบจากการฟื้นฟูชายหาด เพื่อหาแนวทางในการบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน หลังจากไม่สามารถประกอบอาชีพบนชายหาดได้ โดยมี นายภาคภูมิ อินทรสุวรรณ นายอำเภอเมืองภูเก็ต พ.อ.สมชาย โปณะทอง ในฐานะหัวหน้าชุดคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ดูแลพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ท้องถิ่นจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อัยการ ที่ดิน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งผู้ประกอบการชายหาดในเขตอำเภอเมืองภูเก็ต เข้าร่วม ณ ห้องประชุม ปภ.18

โดยการประชุมในครั้งนี้ เป็นการพิจารณาหาแนวทางให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการชายหาด หาบเร่ หิ้วกระติกขายของ นวดชายหาด ร่มเตียงชายหาด ในบริเวณชายหาดต่างๆ ในเขตอำเภเมืองภูเก็ต เช่น หาดกะรน หาดกะตะ หาดในหาน เป็นต้น หลังจากที่เมื่อวันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้ประชุมแก้ไขปัญหาของชาวบ้านในพื้นที่ถลางมาแล้ว โดยในส่วนของอาชีพหาบเร่และหิ้วกระติกขายของนั้นไม่ได้มีการลงทะเบียนไว้เพราะเป็นคนจากข้างนอกพื้นที่ที่เข้ามาประกอบอาชีพนี้ในช่วงไอซีซันเท่านั้น

ส่วนอาชีพหมอนวดชายหาดนั้น ที่บริเวณหาดในหาน นายกเทศมนตรีตำบลราไวย์ ได้เสนอให้กลุ่มนวดชายหาดไปให้บริการนวดที่ นสล.ซึ่งเป็นแนวต้นสนที่อยู่ไม่ห่างจากหาดในหานมากนัก เป็นจุดที่ชาวบ้านใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และไม่เป็นการรบกวนนักท่องเที่ยวที่ชายหาดด้วย โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้นายอำเภอเมืองภูเก็ต และเทศบาลตำบลราไวย์ ไปดำเนินการศึกษาถึงความเป็นไปได้ในแง่ของกฎหมายว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่อย่างไร

สำหรับกลุ่มนวดชายหาดที่บริเวณหาดกะตะ กะรนนั้น ทางกลุ่มหมอนวดได้เสนอขอนวดอยู่บนเนินทรายหลังร่มเตียงชายหาดเหมือนเดิม แต่มีปัญหาอีกว่า หมอนวดจะต้องประกอบการร่วมกับร่มเตียง

นายภาคภูมิ อินทรสุวรรณ นายอำเภอเมืองภูเก็ต กล่าวในที่ประชุมว่า จากการที่ทางอำเภอเมืองได้เปิดให้ผู้ประกอบการชายหาดที่ได้รับความเดือดร้อนมาลงทะเบียนนั้น ปรากฏว่า มีผู้มาลงทะเบียนเกือบ 400 คน มีทั้งหาบเร่ หิ้วกระติก นวดชายหาด และร่มเตียง โดยในส่วนของนวดชายหาดนั้น ทางอำเภอได้มีการประสานกับทางโรงแรม ซึ่งมีโรงแรมหลายแห่งในพื้นที่กะตะ กะรน ยินดีที่จะรับผู้ประกอบการนวดชายหาดไปนวดภายในโรงแรม หรือรับเป็นพนักงานโรงแรม แต่ผู้ประกอบการนวดชายหาดไม่สมัครใจที่จะไปนวดในสถานที่ที่โรงแรมจัดให้

โดย นางธัญรัตน์ คลิมานเชฟสกี้ ผู้ประกอบการนวดชายหาดที่หาดกะรน บอกว่า ประกอบอาชีพนวดชายหาดกว่า 30 กว่าปีแล้ว ไม่ต้องการที่จะไปนวดในโรงแรม หรือเป็นพนักนวดของโรงแรม เพราะอายุมากแล้ว และรายได้ก็น้อยกว่าด้วย นวดชายหาดได้ชั่วโมงละ 400 บาท เมื่อไปนวดในโรงแรมไม่มั่นใจว่ารายได้จะเท่าเดิมหรือไม่ จึงอยากจะขอร้องให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องจัดหาสถานที่นวดให้ชายหาดเหมือนเดิม โดยการจัดโซนให้ประกอบอาชีพ และพร้อมที่จะทำตามกติกาที่หน่วยงานราชการกำหนดขึ้น

พ.อ.สมชาย โปณะทอง ในฐานะหัวหน้าชุดคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ดูแลพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ได้นำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการชายหาดของจังหวัดภูเก็ตในช่วงเวลาที่ยังไม่มีกฎหมายมารองรับการประกอบการบนชายหาด ว่า หน่วยงานราชการไม่ได้ต้องการที่จะไม่ให้ประชาชนมีอาชีพ ทุกหน่วยตั้งแต่ระดับบริหารลงมาทุกคนต้องการให้ประชาชนมีอาชีพ มีรายได้บนพื้นฐานที่กฎหมายกำหนด ที่ผ่านมา หน่วยงานราชการไม่ได้นิ่งนอนใจ แม้แต่ตัวผมเองก็ลงไปพบปะผู้ประกอบการร่มเตียงที่ชายหาด และที่ค่ายทหาร เพื่อร่วมกันหาแนวทางให้ชาวบ้านได้มีอาชีพ และเกิดประโยชน์ต่อทุกๆ ฝ่าย

จากการปรึกษากับผู้ว่าราชการจังหวัด รองจำเริญ ทิพยพงศ์ธาดา รองผู้ว่าฯ ภูเก็ต และประธานชมรมผู้ประกอบการฯ ได้ข้อสรุปถึงแนวทางในการประกอบการของชาวบ้าน ที่จะไม่ให้มีหาบเร่ หิ้วกระติก แต่ยังคงให้มีนวดชายหาดเหมือนเดิม และมีร่มชายหาดให้บริการนักท่องเที่ยวโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อไม่ให้ฝ่าฝืนกฎหมาย

โดยกรอบแนวทางการให้ผู้ประกอบการสามารถทำมาหากินบนชายหาดนั้น กำหนดให้ผู้แทนจังหวัดภูเก็ต องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่างกฎระเบียบเกี่ยวกับการลงไปประกอบอาชีพบริเวณชายหาด โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่เป็นคนแบ่งโซนให้การประกอบการแต่ละหาดให้เหมาะสมต่อสภาพพื้นที่ เมื่อแบ่งโซนแล้วเสร็จองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จะเป็นผู้ดำเนินการปักร่มชายหาดตามโซนที่ได้จัดแบ่งไว้ โดยจะไม่มีการตั้งเตียงชายหาดโดยเด็ดขาด ซึ่งจุดนี้จะเป็นการแก้ปัญหาให้แก่นักท่องเที่ยวที่ต้องการร่มชายหาด และทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะมีการตั้งบูทให้ชาวบ้านได้ขาย หรือให้เช่าผ้าบาติก เสื่อ เบาะแบบบางๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวเช่าไปปูนอนตามชายหาด หรือใต้ร่มชายหาดที่ได้จัดวางไว้ รวมทั้งในส่วนของนวดชายหาดก็จะนำเสนอขายให้แก่นักท่องเที่ยวไปพร้อมกับการให้เช่าอุปกรณ์ชายหาด

โดยการประกอบการดังกล่าวนี้ จะจัดสรรบูท ขาย ให้เช่าผ้าบาติก เสื่อ เบาะ หรืออื่นๆ แก่ผู้ประกอบการที่เป็นคนท้องถิ่น และได้ประกอบการอาชีพนี้มายาวนานแล้ว โดยทางจังหวัดจะจัดเสื้อที่เป็นยูนิฟอร์มให้แต่ละกลุ่มอาชีพด้วย และคนที่จะเข้าไปดำเนินการได้นั้นจะต้องได้รับอนุญาตจากท้องถิ่นแบบปีต่อปี ห้ามขายสิทธิกันโดยเด็ดขาด แต่ละโซนจะมีเจ้าหน้าที่เทศกิจไปควบคุมดูแลความเรียบร้อยอีกด้วย

พ.อ.สมชาย กล่าวต่อว่า กรอบการดำเนินการดังกล่าวนั้น เป็นแนวทางชั่วคราวที่จะแก้ปัญหาให้แก่ชาวบ้านเฉพาะหน้าเพื่อให้ได้ประกอบอาชีพกันก่อนในช่วงที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ เพราะการนำร่มไปปักตามชายหาดโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ถือเป็นบริการสาธารณะที่ท้องถิ่นสามารถจัดให้มีได้ ทั้งหมดนี้เป็นแค่ข้อเสนอเท่านั้น การจะดำเนินการหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับทางท้องถิ่นแต่ละพื้นที่

อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมได้แสดงความเป็นห่วงว่า ท้องถิ่นอาจจะไม่กล้าที่จะดำเนินการตามแนวทางที่เสนอ เพราะเกรงว่าจะผิดกฎหมาย และถูกดำเนินคดีเหมือนนายกเทศมนตรีตำบลกะรน ที่ถูกดำเนินคดีมาแล้วก่อนหน้านี้ จึงอยากจะให้ทางจังหวัดภูเก็ต ออกเป็นคำสั่งให้ทางท้องถิ่นดำเนินการตามรูปแบบที่เสนอ และข้อเสนอดังกล่าวทางตัวแทนอัยการเห็นว่า การปักร่มบนชายหาดของท้องถิ่นไม่น่าจะผิดกฎหมายในเรื่องของการครอบครองที่สาธารณะเพราะไม่ได้มีการมีการก่อสร้างที่ถาวรแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ทางผู้ประกอบการชายหาดดังกล่าว จะมีการทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เพื่อเสนอต่อไปยังกระทรวงมหาดไทย และคณะรัฐมนตรีในการขอผ่อนผันการประกอบอาชีพในที่สาธารณะ เหมือนกับมติ ครม.ปี 2541 เรื่องการขอผ่อนผันทำกินในป่าสงวนแห่งชาติ โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการดำเนินการ





 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น