xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตัว “คางคูด” ผู้สังหารหมูในฟาร์มกลางเมืองตรัง หลังโลกโซเชียลสงสัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากอินเตอร์เน็ต
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เปิดหน้าตา “คางคูด” หรือเสือไฟ หลังโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กสงสัย หน้าตาเป็นเช่นไร จากกรณีข่าวปศุสัตว์ตรังชี้ “คางคูด” กินหัวใจ-ตับหมู ยันไม่น่ากลัว แนะติดไฟให้สว่างป้องกันสัตว์เลี้ยง”

จากกรณีที่หมูเพศผู้ อายุประมาณ 1 เดือน น้ำหนัก 30 กิโลกรัม ภายในฟาร์มหมูของ นายสมบูรณ์ คงจันทร์ อายุ 45 ปี ชาวบ้าน ม.5 ต.เขาไพร อำเภอรัษฎา จ.ตรัง ได้ถูกสัตว์ร้ายซึ่งคาดว่า น่าจะเป็นเสือไฟ หรือที่ชาวบ้านเรียกในภาษาถิ่นว่า “คางคูด” กัดกินตายแบบพิสดาร ด้วยการควักเฉพาะส่วนหัวใจ และตับออกไปจากท้อง ส่วนอวัยวะอื่นๆ ยังอยู่ครบ จนทำให้เจ้าของฟาร์มหมูต้องมีการเฝ้าเวรยามตลอด 24 ชม. เกรงสัตว์ร้ายย้อนกลับมากินซากที่เหลือ ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลให้ชาวบ้านในพื้นที่บางคนก็รู้สึกแปลกใจ แต่ในขณะที่บางคนกลับรู้สึกหวาดกลัว จนไม่กล้าออกไปไหนในเวลาค่ำคืนนั้น
คางคูดหรือเสือไฟเข้ามากินหมูภายในฟาร์มในจังหวัดตรัง
 
ทีมงาน “ASTVผู้จัดการภาคใต้” จึงเสาะหาข้อมูล และลักษณะ ของ “คางคูด” ในภาษาใต้ หรือเสือไฟ ว่ามีหน้าตาลักษณะ และอุปนิสัยการดำรงชีวิตเป็นอย่างไร หลังจากชาวโซเชียลเน็ตเวิร์กตั้งข้อสงสัย จากการเข้ามาอ่านข่าว ปศุสัตว์ตรังชี้ “คางคูด” กินหัวใจ-ตับหมู ยันไม่น่ากลัว แนะติดไฟให้สว่างป้องกันสัตว์เลี้ยง

จาการตรวจสอบข้อมูลพบว่า คางคูด หรือเสือไฟ มีสีขนหลากหลาย คือ สีน้ำตาลแดง น้ำตาลอมเทา ตลอดจนสีส้ม สีขนบริเวณใบหน้าจะเข้มกว่าลำตัว มีลักษณะเด่น คือ มีแถบขนสีขาวบนใบหน้า เหนือตาและแก้ม หางยาวปลายหางด้านล่างมีสีขาวตลอด ท้องและใต้หางมีสีขาว มีความยาวลำตัว และหัว 76-105 เซนติเมตร ความยาวหาง 43-60 เซนติเมตร น้ำหนักตั้งแต่ 12-33 กิโลกรัม
ขนของเสือไฟ หรือคางคูด มีตั้งแต่สีแดงถึงน้ำตาลทอง น้ำตาลเข้มถึงสีน้ำตาลเหลือง เทาถึงดำ รูปแบบของขนขึ้นอยู่กับความแตกต่างของสีด้วย อาจเป็นจุดหรือลาย สีเส้นขาวดำที่แก้มและพาดขึ้นไปส่วนบนของหัว หูมีสีดำออกเทาบริเวณตรงกลาง พบเสือไฟลายคล้ายเสือดาวในประเทศจีน ซึ่งเป็นลักษณะด้อยของเสือไฟ และบางตัวอาจพบเป็นสีดำทั้งตัว
ภาพจากอินเตอร์เน็ต
 
เสือไฟ หรือคางคูด สามารถปรับตัวให้อยู่ในป่าได้ทุกสภาพ เช่น ป่าดิบแล้ง, ป่าดิบชื้น, ป่าเบญจพรรณ สามารถปีนต้นไม้ได้อย่างคล่องแคล่ว แต่จะล่าเหยื่อบนพื้นดินมากกว่าล่าบนต้นไม้ และยังพบได้ถึงระดับความสูงกว่า 3,000 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลในเทือกเขาหิมาลัย เมื่อเวลาเดินจะยกหางขึ้นเหมือนแมวบ้าน อาหารของเสือไฟมักเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เช่น หนู,กระต่าย,ลูกเก้ง และนกเล็ก ๆ ที่หากินตามพื้นดิน

ในบางครั้งอาจล่าเหยื่อที่มีขนาดใหญ่กว่าตัวได้ เช่น หมูป่าขนาดเล็ก และลูกกวางป่า รวมถึงล่าสัตว์ที่มนุษย์เลี้ยงได้ด้วย มักอาศัยตามลำพัง ยกเว้นช่วงฤดูผสมพันธุ์ หรือมีลูกอ่อนที่พบเห็นว่าอยู่ด้วยกัน 2-3 ตัว ใช้เวลาตั้งท้องนาน 95 วัน ออกลูกครั้งละ 1-2 ตัว ตามโพรงไม้ที่มีความปลอดภัย ปกติเสือไฟจะล่าเหยื่อเพียงลำพัง แต่ถ้าเหยื่อมีขนาดใหญ่ก็อาจล่าเป็นคู่ได้
ภาพจากอินเตอร์เน็ต
 
มีการกระจายพันธุ์อย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ เอเชียตะวันออก, ภาคเหนือของเอเชียใต้ จนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาคใต้ และภาคตะวันออกของจีน, เนปาล, ภูฏาน, พม่า, ไทย, ลาว, กัมพูชา, เวียดนาม, มาเลเซีย และเกาะสุมาตรา
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น