คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม
สัปดาห์นี้ผมคิดเรื่องที่จะเขียนนานกว่าปกติครับ ไม่ใช่เพราะไม่มีประเด็น หรือเพราะขาดข้อมูล แต่เพราะผมคิดไม่ออกว่าจะผูกเรื่องอย่างไรให้มันน่าสนใจ กระชับเข้าใจง่าย และตรงประเด็นที่สำคัญที่สังคมไทยเราควรจะนำไปขบคิดในวาระที่เรากำลังเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปประเทศ
ก่อนจะตัดสินใจใช้ชื่อบทความนี้ ผมย้อนคิดไปถึงคำพูดของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ว่า “ให้เวลาสังคมไทย 2 เดือนไปพูดคุยกันให้รู้เรื่องว่าจะเอาอย่างไรกับเรื่องสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21” พร้อมกับคำพูดชี้นำต่างๆ นานา
คำถามก็คือ ถ้าจะพูดคุยกันอย่างจริงๆ จังๆ เราต้องใช้หลักการอะไรในการพูดคุย และตัดสินใจ หลักการใดเป็นหลักการสำคัญสูงสุด หลักการใดเป็นหลักการในระดับรองลงมา นี่ยังไม่นับถึงกระบวนการพูดคุย และการใช้สื่อที่ไม่เป็นธรรม
ล่าสุด พิธีกรรายการ “เสียงประชาชนต้องฟังก่อนการปฏิรูป” ของสถานีไทยพีบีเอส ก็ถูกสั่งห้ามจัดรายการ ในขณะที่คนที่สนับสนุนบริษัทพลังงานได้ออกมาพูดได้ทุกช่องในรายงานที่ติดตรา คสช.
เมื่อเป็นดังนี้แล้วประชาชนจะหวังผลอะไรได้จากการยืดเวลาการพูดคุยไปอีก 2 เดือนดังกล่าว
ความจริงแล้วหลักการสำคัญที่เป็นสากล และยอมรับกันในองค์การสหประชาชาติ เมื่อปี 1998 หรือ 16 ปีมาแล้วในนโยบายที่ว่า “การบูรณาการสิทธิมนุษยชนกับการพัฒนามนุษย์ที่ยั่งยืน (Integration Human Rights with Sustainable Human Development)” ซึ่งเป็นการยอมรับกันว่าสิทธิมนุษยชนกับการพัฒนาที่ยั่งยืนมีความเชื่อมโยง และสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน
องค์การสหประชาชาติได้ให้ความสำคัญต่อสิทธิมนุษยชนด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ ประการแรกสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่ทางองค์การฯ ได้ส่งเสริมมาตั้งแต่เริ่มแรกตั้งแต่ปี 1948 แล้ว และประการที่สอง สิทธิมนุษยชนในตัวมันเองก็คือ เครื่องมือที่ทรงพลังเพื่อให้บรรลุถึงการพัฒนามนุษย์ที่ยั่งยืน
นอกจากนี้ ในนโยบายดังกล่าว (1998) ได้กล่าวถึงสิทธิมนุษยชน กับพลังงานและสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะการเข้าถึงพลังงา นและการปกป้องสิ่งแวดล้อมถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน รวมถึงสิทธิที่จะได้รับอาหาร สิทธิในการดูแลสุขภาพและชีวิต นอกจากนี้ ยังมีสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติเพื่อเป้าหมายในการได้มาของแหล่งพลังงานซึ่งต้องคำนึงถึงการปกป้องสิ่งแวดล้อมไปด้วย
แต่ครั้นจะพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนให้ละเอียดมากขึ้น สังคมไทยส่วนหนึ่งก็คิดว่าเป็นของใหม่ที่เข้าใจยาก บางคนก็คิดว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของชาวตะวันตกที่มีความก้าวหน้ากว่าประเทศเราไปหลายสิบปีแล้ว ดังนั้น หากจะมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปบ้างก็น่าจะยอมๆ กันบ้างเพื่อให้เศรษฐกิจมันเติบโต
บางคนเขาคิดกันอย่างนั้นจริงๆ ครับ
แต่อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ (ในการบรรยายให้คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฟังเมื่อ 17 ตุลาคม 2557) ได้กรุณาให้คำอธิบายถึงความหมายของสิทธิมนุษยชนในมุมที่คนไทยเราคุ้นเคยเป็นอย่างดีมายาวนานแล้วว่า
“หลักสิทธิมนุษยชนก็คือ ศีล 5 ที่ชาวพุทธปฏิบัติกันนั่นเอง ซึ่งคำว่าศีลแปลว่า “ปกติ” ผู้มีศีลคือ ผู้ที่มีความเป็นปกติ เป็นมนุษย์ที่มีความปกติ ความปกติเป็นพื้นฐานของความสงบเรียบร้อยของทุกสิ่งทุกอย่าง”
“ดังนั้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงต้องเป็นผู้ที่ต้องปฏิบัติศีล 5 อย่างเคร่งครัดด้วย ไม่อย่างนั้นจะรักษาความสงบเรียบร้อยได้อย่างไร” ประโยคสุดท้ายนี้เป็นคำสรุปของผมเองครับ
ต้องขอบพระคุณท่านอาจารย์สุลักษณ์ เป็นอย่างสูงที่ได้กรุณาชี้ขุมทรัพย์ทางปัญญาที่มีค่ายิ่ง และเพื่อให้ได้รายละเอียดที่มากขึ้น ผมก็ค้นไปพบผลงานของศาสตราจารย์ Lily de Silva แห่ง University of Peradeniya ศรีลังกา (Radical TherapyBuddhist Precepts in the Modern World และ HUMAN RIGHTS AND THE FIVE PRECEPTS)
และเมื่อมาถึงจุดนี้ ผมก็ร้องอ๋อ! ขึ้นมาทันทีทันใด เพราะผมจำคำพูดของท่านพุทธทาสภิกขุได้อย่างแม่นยำว่า “ถ้าศีลธรรมไม่กลับมาโลกาวินาศ”
ส่วนวลีสุดท้ายที่ว่า “มนุษยชาติจะเลวร้ายกว่าเดรัจฉาน” นั้น ผมเพิ่งได้ยินเมื่อตอนที่ค้นอินเทอร์เน็ตนี้เองครับ
เราลองมาดูศีลกัน 2-3 ข้อนะครับ
ศีลข้อที่หนึ่ง ละเว้นการละเมิดต่อชีวิต ทุกชีวิตเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์
นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกเขาสรุปกันนานมาแล้วว่า การเผาพลังงานฟอสซิลเป็นสาเหตุสำคัญของสภาวะโลกร้อนซึ่งนำไปสู่ภัยพิบัติ โรงไฟฟ้าถ่านหินทำให้อายุขัยของคนรอบๆ โรงไฟฟ้าสั้นลงโดยเฉลี่ย 11 ปี (การศึกษาในกลุ่มสหภาพยุโรป โดยมหาวิทยาลัย Stuttgart)
และเพื่อเป็นการยืนยันถึงญาณหยั่งรู้ของท่านพุทธทาสที่ว่า “ถ้าศีลธรรมไม่กลับมาโลกาวินาศ” ผมขอเสนอกราฟข้อมูลจำนวนครั้งที่เกิดภัยพิบัติทั่วโลกในช่วง 30 กว่าปีมานี้ ซึ่งเป็นช่วงที่กระบวนการโลกาภิวัตน์ได้อุบัติขึ้นในโลก กล่าวเฉพาะการเกิดน้ำท่วมได้เพิ่มขึ้นจากไม่ถึง 50 ครั้งต่อปี เป็นกว่า 150 ครั้ง
บริษัทประกันภัยที่ใหญ่ที่สุดของประเทศอังกฤษได้พยากรณ์ว่า ถ้าหากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ อีกไม่กี่ปีรายได้ในแต่ละปีของคนทั้งโลกรวมกันจะน้อยกว่าค่าเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ
ภัยจากสภาวะโลกร้อนซึ่งเกิดจากการเผาพลังงานฟอสซิลไม่ได้มีแค่ที่ได้กล่าวมาแล้วเท่านั้น แต่ยังมีผลให้ประชากรของแมลงหลายชนิดลดลงด้วย เช่น ประชากรของผึ้งซึ่งมีทำหน้าที่ผสมเกสรธัญพืชได้ลดลงอย่างรวดเร็วจนหน่วยงานของสหประชาชาติต้องออกมาเตือนเมื่อเร็วๆ นี้
ผึ้งสำคัญขนาดไหน?
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เคยพูดไว้ว่า “ถ้าสมมติว่าผึ้งได้สูญพันธุ์ไปจากโลกในวันนี้ อีกไม่เกิน 5 ปีมนุษย์จะสูญพันธ์ตาม” เพราะชาวโลกจะไม่มีอาหารกิน
เอากับเขาสิ! ก็บอกแล้วว่าโลกนี้เป็น “โลกที่ซับซ้อน” ดังชื่อคอลัมน์นี้นั่นเอง นี่ยังไม่นับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมซึ่งผมได้แสดงข้อมูลไปบ้างแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ศีลข้อที่สอง เว้นจากการลักทรัพย์ หรือทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้การกีดกันเชิงนโยบายไม่ให้ชาวบ้านใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตไฟฟ้า ก็ถือเป็นการ “ลักพระอาทิตย์” แบบลักกันกลางวันแสกๆ การละเว้นจากการฉ้อราษฎร์บังหลวงก็อยู่ในข้อนี้นะ และเราเจอเกือบทุกหย่อมของหน่วยงานราชการ
ศีลข้อที่สี่ เว้นจากการพูดปด แต่หน่วยงานของรัฐก็โฆษณาอยู่ปาวๆ ว่า “ถ่านหินสะอาด” “ปิโตรเลียมจำเป็นต้องใช้เพื่อผลิตไฟฟ้า กำลังจะหมดต้องรีบให้สัมปทาน” ทั้งๆ ที่บ้านที่ติดแผงโซลาร์เซลล์ขนาด 3 กิโลวัตต์ 1 หลัง ก็ไม่ต้องใช้ก๊าซธรรมชาติถึง 45,000 ลูกบาศก์ฟุตต่อปี
ถ้ารัฐบาลส่งเสริมให้ติดสัก 4 ล้านหลังคาเรือนก็สามารถลดการผลิตก๊าซได้ถึง 18% (หมายเหตุ ในปี 2554 ประเทศไทยผลิตก๊าซธรรมชาติได้ประมาณ 1.0 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต รัฐออสเตรเลียใต้ติดโซลาร์เซลล์ 1.2 ล้านหลัง)
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) กล่าวว่า “ศีล 5 อยู่ที่เจตนาไม่เบียดเบียน แต่เกื้อกูลกัน”
ผมเข้าใจว่า คนที่คิดเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าถ่านหินก็คงไม่ได้มีเจตนาจะเบียดเบียนใครในยุคนั้นแต่เพราะมีขีดจำกัดว่าในขณะนั้นไม่มีเทคโนโลยีอื่น และไม่เคยรู้มาก่อนว่าภัยจากการเผาถ่านหินมันจะทำให้โลกหายนะ หรือวินาศได้ถึงขนาดนี้
มาบัดนี้ เทคโนโลยีด้านพลังงานแสงอาทิตย์ (และพลังงานหมุนเวียนอย่างอื่นด้วย) ได้ก้าวหน้าไปมากแล้ว ต้นทุนก็ถูกมากจนในบางประเทศสามารถแข่งขันได้กับพลังงานชนิดอื่นได้ทุกชนิด
แต่นอกจากนโยบายพลังงานของรัฐบาลไทยได้ละเมิดต่อหลักของศีล 5 หรือหลักสิทธิมนุษยชนดังที่กล่าวแล้ว ยังเป็นนโยบายที่ไม่ “เกื้อกูลกัน” อีกด้วย
ท่าน ป.อ.ปยุตโต สอนว่า การเกื้อกูลกันเป็นศีลด้านบวกที่เรียกว่า “สังคหวัตถุ 4” ซึ่งหมายถึงธรรมเป็นที่ตั้งแห่งการสงเคราะห์กัน ซึ่งได้แก่ เผื่อแผ่ให้กัน พูดด้วยใจรักกัน ทำประโยชน์แก่กัน และสมานตัวเข้าด้วยกัน
แม้ผมจะไม่มีความลึกซึ้งในคำสอนของท่านมากนัก แต่ผมมั่นใจว่าการเปิดโอกาสให้คนได้ใช้ประโยชน์จากดวงอาทิตย์อย่างเต็มศักยภาพ (ภายใต้เทคโนโลยีในปัจจุบัน) เป็นสังคหวัตถุ 4 แน่นอน
และผมก็มั่นใจว่า สันติภาพที่แท้จริง ความสุขที่แท้จริงของประชาชนจะเกิดขึ้นไม่ได้หากคนในประเทศไม่มีศีลธรรม ไม่มีศีล 5 ไม่ยึดหลักสิทธิมนุษยชนเป็นเข็มทิศชี้นำมิเช่นนั้น นอกจากสังคมไทยจะไม่ได้รับความสุขที่แท้จริงแล้ว หายนะ หรือโลกาวินาศจะตามมาอย่างที่ท่านพุทธทาสภิกขุได้สอนเตือนไว้
มาถึงวันนี้สังคมไทยเราจะต้องครุ่นคิด และร่วมกันตัดสินใจแล้วละครับว่าเราจะเอาอย่างไรกันดี ที่ผ่านมา เรามีวงจรอุบาทว์เกิดขึ้นหลายรอบจนมากพอแล้วที่จะสรุปเป็นบทเรียนได้แล้ว
ความจริงแล้ว ผมควรจะจบบทความนี้ไว้เพียงเท่านี้ แต่เพื่อไม่ให้ท่านผู้อ่านคิดว่าเรื่องที่ผมได้กล่าวมาแล้วเป็นเรื่องไกลตัวเกินไป ผมจึงขอนำเสนอข้อมูลเพิ่มเติมอีก 2 ชิ้นครับ สั้นๆ และหักล้างกับเหตุผลในการขอเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ของรัฐบาลนี้
หนึ่ง คนไทยที่ติดตามเรื่องพลังงานบางคนได้ทราบมาแล้วว่า ราคาน้ำมันที่ปั๊มในสหรัฐอเมริกาจะถูกกว่าราคาในประเทศไทยเล็กน้อย ทั้งๆ ที่รายได้เฉลี่ยต่อวันของคนไทยต่ำกว่าของสหรัฐฯ นับสิบเท่า กล่าวคือ ของไทยเท่ากับ 15 ดอลลาร์สหรัฐ แต่รายได้ของคนอเมริกันเท่ากับ 151 ดอลลาร์สหรัฐ
จากบิลค่าไฟฟ้าในบ้านผมเองพบว่า อัตราค่าไฟฟ้าต่อหน่วยในบ้านพักอาศัยในประเทศไทยแพงกว่าเฉลี่ยของค่าไฟฟ้าในประเภทเดียวกันในสหรัฐอเมริกา ผมมีหลักฐานมาแสดงพร้อมกับแหล่งอ้างอิงครับ
ถ้าผมใช้ไฟฟ้า 214 หน่วยต่อเดือน อัตราค่าไฟฟ้าต่อหน่วยจะเท่ากับในสหรัฐอเมริกา แต่ถ้าผมใช้ไฟฟ้า 368 หน่วย ค่าไฟฟ้าต่อหน่วยในประเทศไทยจะแพงกว่าในสหรัฐอเมริกา กล่าวคือของไทยหน่วยละ 4.42 บาท ในขณะที่ในสหรัฐฯ หน่วยละ 4.21 บาท
สิ่งที่ทางโรงเรียนศรีแสงธรรม จังหวัดอุบลราชธานีเรียกร้องต่อทางรัฐบาลก็คือ ขอให้ทางการไฟฟ้าฯ อนุญาตให้เชื่อมต่อไฟฟ้าที่ทางโรงเรียนผลิตจากแสงอาทิตย์ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
สิ่งที่ผมเองเรียกร้องก็คือ ขอให้ทางรัฐบาลรับซื้อไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านในราคาหน่วยละ 5.50 บาท โดยเป็นราคาคงที่ตลอด 25 ปี ในขณะที่ค่าไฟฟ้าในปัจจุบันเพิ่มขึ้นทุกปี หลังปีใหม่ก็จะขึ้นค่าเอฟทีอีกแล้วผมคาดหมายว่าอีกประมาณ 5 ปี ราคาค่าไฟฟ้าก็จะถึง 5.50 บาท หลังจากนั้น ทางการไฟฟ้าฯ จะกำไรยาวกว่า 20 ปี ทำไมไม่เอา?
ถ้าเปิดตรงนี้ก็ไม่ต้องรีบเปิดสัมปทานปิโตรเลียมที่กำลังมีประเด็นถกเถียงกันอยู่ แต่รัฐบาลนี้ก็ทำเฉย ในขณะที่จะเปิดรับซื้อจากบริษัทผลิตโซลาร์เซลล์ขนาดใหญ่ในราคาประมาณ 8 บาทต่อหน่วย
แต่กลับกีดกันจากหลังคาบ้านด้วยวิธีการต่างๆ นานา
สอง ผมเคยเขียนถึงโรงเรียนในประเทศออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ว่าเขามีนโยบายติดโซลาร์เซลล์ให้โรงเรียนมาแล้ว มาวันนี้ผมเอาของประเทศสหรัฐอเมริกามานำเสนอบ้าง
พบว่า โรงเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 3,727 โรง ได้ติดโซลาร์เซลล์ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าได้คิดเป็นมูลค่าปีละ 77.8 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2,500 ล้านบาท โดยที่ประมาณ 3,000 โรงเพิ่งเกิดขึ้นในช่วง 6 ปีหลังสุดนี่เอง นั่นแปลว่าเขาก็เพิ่งตื่นตัว แต่ทางรัฐบาลไทยกลับไม่ตื่น
เงินจำนวนที่ประหยัดได้นี้เพียงพอสำหรับเงินเดือนครูได้ถึง 2,200 คน ในขณะที่เงินเดือนครูในสหรัฐอเมริกานั้นประมาณเดือนละแสนกว่าบาทเชียวนะ
ผมมีแหล่งอ้างอิงข้อมูลเรียบร้อยนะครับ ใครไม่เชื่อก็ลองค้นดูเพื่อตรวจสอบได้
ผมอยากจะสรุปบทความนี้ด้วยการให้กำลังใจภาคประชาชนที่กำลังเรียกร้องให้สิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นหรือคงอยู่ในประเทศไทยต่อไป ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นประเทศทุนนิยมที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นต้นแบบของทุนสามานย์ด้วย แต่จากตัวอย่างในรายงาน “อนาคตที่สดใสกว่า (Brighter Future)” ที่ผมอ้างถึงแล้ว เราจะพบว่าสิ่งดีๆ ที่มีศีลมีธรรม ที่เคารพสิทธิมนุษยชนก็กำลังเกิดขึ้น และขยายตัวเติบใหญ่ในบางซอกมุมความสามานย์ของกลุ่มทุนผูกขาดนั่นเอง
ผมไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรดีเพื่อให้พวกขุนนางพลังงานในประเทศไทยปรับเปลี่ยนนโยบาย นอกจากการใช้ยุทธศาสตร์ให้คนไทยได้ตื่นรู้ โดยใช้ข้อมูลที่ดีงามของชาวโลกมาปิดล้อมความมืดบอดของพวกขุนนางพลังงานไทย เช่นเดียวกันกับฉากสุดท้ายของหนังไทยยุคมิตร ชัยบัญชา ว่า “ทิ้งปืนลง (ทิ้งนโยบายที่ล้าหลังและสามานย์) เราประชาชนได้ล้อมไว้หมดแล้ว”
ผมเชื่อมั่น เรามาช่วยกันสิครับ วันเวลานั้นไม่ช้าเหมือนในอดีตที่โลกยังไม่ทันสมัยเท่าทุกวันนี้หรอกครับ ศีลธรรมจะต้องกลับมาไม่อย่างนั้นก็ต้องวินาศกันทั้งโลกแน่นอน